ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"

ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ด่วน ! พ.ร.ฎ. จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ประกาศใช้แล้ว จุดประกาย แสงสว่างที่ปลายถ้ำ

ด่วน ! พ.ร.ฎ. จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ประกาศใช้แล้ว จุดประกาย แสงสว่างที่ปลายถ้ำ

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 13:23:37 น.

Share

 ผู้สื่อข่าว มติชนออนไลน์ รายงานว่า วันที่ 10   พฤษภาคม  2554   ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)พ.ศ.  2554    ทั้งนี้  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป( 8 มิถุนายน 2554 ) 
   
   ทั้งนี้   เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินและ การไม่สามารถเข้าถึงที่ดินของเกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจนเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่มีมานาน ส่วนหนึ่ง เกิดจากปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินรวมทั้งปัญหาการเก็งกำไรในที่ดิน เป็นเหตุให้ที่ดินถูกทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ และสูญเสียพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำเกษตรกรรม ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

   

 

 

ประกอบกับรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้รัฐต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและดำเนินการให้เกษตรกร มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึง แต่โดยที่ในปัจจุบันยังไม่มีองค์กรหรือสถาบัน การเงินใดรับผิดชอบให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสมและสนับสนุนทางการเงินแก่การปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม สมควรจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินในรูปแบบขององค์การมหาชน เพื่อแก้ไขปัญหา และดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้อย่างอิสระ คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตรา พระราชกฤษฎีกานี้

 

 

สำหรับ "สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)" เรียกโดยย่อว่า "บจธ." และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "The Land Bank Administration Institute (Public Organization)" เรียกโดยย่อว่า "LABAI"  มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

 

 

(1) ให้สินเชื่อเพื่อการจัดหาและพัฒนาที่ดินแก่เกษตรกร ผู้ยากจน ผู้ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดิน องค์กรชุมชน หรือเครือข่ายองค์กรชุมชน ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

 

(2) ส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนในการบริหารจัดการที่ดิน

 

 

(3) ก่อตั้งสิทธิ หรือทำนิติกรรมทุกประเภทกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน


(4) โอนหรือรับโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิต่าง ๆ

 

 

(5) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ

 

 

(6 ) ซื้อ จัดหา จำหน่าย ยืม ให้ยืม เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ แลกเปลี่ยนหรือดำเนินงานเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิต่าง ๆ

 

 

(7) เข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสถาบัน

 

 

(8) กู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน

 

 

(9) ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งใน ประเทศและต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน

 

 

(10) ประสานงาน ให้คำปรึกษาและคำแนะนำการวางแผนพัฒนาและการใช้ประโยชน์ในที่ดินแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งธนาคารที่ดิน

 

 

(11) รวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารที่ดิน รวมทั้งเสนอแนะปัญหา อุปสรรค และข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน ตลอดจนแนวทางการแก้ไขต่อคณะกรรมการ

 

( 12 ) เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินกิจการต่าง ๆตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการกำหนด


(13 ) เป็นตัวแทนหรือนายหน้า หรือมอบหมาย หรือว่าจ้างให้บุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ประกอบ กิจการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน

 

(14) เผยแพร่และประชาสัมพันธ์การดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดตั้งธนาคารที่ดิน     เป็นต้น


สำหรับ "คณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการ ธนาคารที่ดิน" 10 คน  ประกอบด้วย

(1) ประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงทางด้านการจัดการที่ดิน ด้านการบริหาร ด้านการวางผังเมือง หรือวิทยาการอื่นที่ เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสถาบัน

(2 ) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 5   คน ได้แก่ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปลัด กระทรวงมหาดไทย

(3 ) กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน จำนวนสองคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลที่ได้รับการสรรหาจากตัวแทนขององค์กรชุมชน

(4 ) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนสองคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการจัดการที่ดิน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการพัฒนาสังคม หรือวิทยาการอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสถาบัน โดยในจำนวนนี้ ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ร่วมอยู่ด้วย


แหล่งข่าว เปิดเผยว่า   พ.ร.ฎ. จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน  ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินและ การไม่สามารถเข้าถึงที่ดินของเกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจน  แต่ทั้งนี้ ถ้าจะให้ธนาคารที่ดิน แก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง  รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณให้จำนวนมากพอ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ธนาคารที่ดินจะแก้ปัญหาได้น้อยมาก    และประเด็นสำคัญจะต้องเร่งผลักดันพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ เพื่อเป็นแหล่งเงินให้กับธนาคารที่ดิน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น