ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"

ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทุกขลาภ 5 ปี สร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ธุรกิจ-ร้านค้าย่าน ′เยาวราช-ท่าพระ-จรัญฯ′ อ่วม !!

 

ทุกขลาภ 5 ปี สร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ธุรกิจ-ร้านค้าย่าน ′เยาวราช-ท่าพระ-จรัญฯ′ อ่วม !!

Share63







ภายในเดือนกรกฎาคมนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เริ่มให้ผู้รับเหมาเข้าไซต์ก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) ระยะทาง 27 กิโลเมตร ใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 5 ปีเต็ม มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2559 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้มาของรถไฟฟ้าสายนี้กลายเป็น "ทุกขลาภ" ของคนมีที่อยู่อาศัยและทำธุรกิจค้าขายสองฝั่งถนนตลอดแนวเส้นทาง ในแง่หนึ่งเป็นการดี ได้โครงข่ายใหม่เพิ่มในการเดินทางเชื่อมโยงสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาคือฝั่งพระนครและฝั่งธนฯ ทำให้การจราจรเดินทางไปมาหาสู่กันได้คล่องตัวขึ้น 

ขณะที่ในอีกมุมหนึ่งย่อมกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนทำมาหากินบนริมถนนทั้งสองฝั่ง เนื่องจากจะต้องเผชิญกับปัญหาการจราจรที่จะติดขัดเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกเท่าทวีคูณจากการปิดการจราจร เพื่อใช้พื้นที่เกาะกลางถนนสำหรับสร้างตอม่อรถไฟฟ้า 

ออกกฎห้ามจอด 24 ชั่วโมง

ข้อมูลจาก "พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล" รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดูแลงานด้านจราจรบอกว่า ตามที่หารือกับ รฟม. และผู้รับเหมาก่อสร้าง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้จะเริ่ม ปิดการจราจรถนนเส้นที่มีการสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 

"ถนนพระรามที่ 4" จะปิดการจราจรบริเวณแยกหัวลำโพงฝั่งละ 1 ช่องจราจร จากเดิม 8 ช่องจราจร เหลือ 6 ช่องจราจร ซึ่งจะเป็นจุดที่วิกฤตหนักเพราะเป็นศูนย์รวมการจราจร ขณะที่ "ถนนเจริญกรุง" ผู้รับเหมาจะเริ่มเปิดหน้าดินบริเวณจุดขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้า เช่น หน้าวัดมังกรกมลาวาส เป็นต้น 

ส่วน "ถนนจรัญสนิทวงศ์" ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ตรงมาถึงแยกท่าพระ และ "ถนนเพชรเกษม" จากแยกท่าพระถึงบางแค ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ จะปิดการจราจรบริเวณเกาะกลาง 2 ช่องจราจร มีผลให้เหลือฝั่งละ 2 ช่องจราจร 

นอกจากนี้ จะออกประกาศห้ามจอดรถยนต์ตลอด 24 ชั่วโมงตลอดสองฝั่ง จากเดิมที่ให้จอดได้เป็นช่วงเวลา จนกว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าจะแล้วเสร็จ 

"ในช่วงก่อสร้างปัญหารถติดมีแน่นอน อยากให้ผู้ใช้ทางหลีกเลี่ยงใช้เส้นทางอื่นแทน "รอง ผบช.น.กล่าว 

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" จัดทีมภาคสนามสำรวจธุรกิจตลอดแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บนถนนเจริญกรุง เพชรเกษม จรัญสนิทวงศ์ ซึ่งทุกคนมีเสียงสะท้อนไปในทิศทางเดียวกัน คือ เมื่อไรที่เริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าซึ่งใช้เวลานาน 4-5 ปีแบบนี้ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้าขายอย่างแน่นอน 

ห้างทองย่าน "เยาวราช" อ่วม 

โดยเริ่มจาก "ถนนเจริญกรุง" ซึ่งเป็นแนวรถไฟฟ้าพาดผ่าน แม้ว่าปัจจุบันถนนเส้นนี้จะมีสภาพติดขัดตลอดทั้งวัน ด้วยขนาดถนนที่คับแคบแค่ 4 ช่องจราจร แต่ยิ่งสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มเข้าไปอีกทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้น 

"จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี" เจ้าของห้างขายทองจินฮั้วเฮง และนายกสมาคมผู้ค้าทองคำบอกว่า ตอนนี้ยังไม่ได้เตรียมตัวรับมือ เพราะยังไม่ทราบข่าวจะก่อสร้างเมื่อไร แต่ถ้าเริ่มลงมือก่อสร้างจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในย่านเยาวราชแน่นอน เนื่องจากรถจะติดมากขึ้นกว่าเดิม จากเดิมที่ติดแหง็กตลอดทั้งวันอยู่แล้ว 

แนวโน้มการค้าขายที่นี่จะซบเซาลงเพราะคงไม่มีใครอยากเข้ามา หากรถติดมาก ๆ อยากให้ตำรวจจัดการจราจรให้ดี ๆ ผมเองกำลังดูทำเลอื่นที่จะเปิดสาขาใหม่มาทดแทนสาขาเจริญกรุงที่ถูกเวนคืนไป 

ปัจจุบันแบรนด์ "จินฮั้วเฮง" มี 3 สาขาในย่านนี้ ทำรายได้ปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท อยู่บนถนนเยาวราช 2 สาขา คือ สาขาที่ 1 และ 3 ส่วนสาขาริมถนนเจริญกรุงเป็นสาขาที่ 2 อาคารสูง 6 ชั้น 

หัวอกผู้ค้าทองอีกราย "สุวรรณี องค์ศรีตระกูล" เจ้าของร้านทองเอ็งเซ่งเฮง เพิ่งย้ายร้านจากบางลำพูมาไม่ถึง 2 ปี บอกว่า เห็นด้วยที่จะสร้างรถไฟฟ้า แต่ช่วงก่อสร้างที่นาน 5 ปีกระทบต่อธุรกิจแน่นอน เพราะลูกค้าจะหายไป แต่ยังไม่รู้ว่าจะมากแค่ไหน ต้องยอมรับสภาพเพื่อจะได้มีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นให้กับประเทศ แต่อยากให้รัฐบาลสร้างเสร็จเร็ว ๆ จะได้ ไม่ต้องทนกับฝุ่นละอองมากมายในช่วงก่อสร้าง

เช่นเดียวกับ "แสงชัย กองทรัพย์" หัวหน้าร้านโฟโต้-เมคเคอร์ที่บอกว่า ได้รับผลกระทบเพราะรถจะติดมากขึ้น ลูกค้าจะหายไปอย่างน้อย 30% แต่ต้องปล่อยไปตามสภาพเพื่อรักษาลูกค้าไว้อาจจะมีการจัดโปรโมชั่นมีของแถมให้ 

"สมบูรณ์ แซ่ลี้" เจ้าของร้านขายธูปเทียนกล่าวว่า ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี ขายของไม่ได้อยู่แล้ว ยิ่งมีการก่อสร้างอีกก็ยิ่งทำให้การค้าขายแย่ลงไปอีก 

ขณะที่เจ้าของร้านขายยาจีนรายหนึ่งบอกว่า จะฟ้องเรียกค่าเสียโอกาสที่ทำให้ค้าขายไม่ได้ รถก็ติด แถมยังเกิดมลพิษ อีกทั้งไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าว่าจะมีการก่อสร้างเพื่อให้ ผู้อยู่อาศัยในย่านนี้ได้มีเวลาเตรียมตัว หาลู่ทางรับมือบ้าง 

ด้านแม่ค้าในตรอกอิสรานุภาพบอกว่า ไม่รู้จะทำยังไงต้องทนรับกับสภาพนี้ต่อไป 4 ปี มีการก่อสร้างรถก็ติดแบบนี้ คนหันไปซื้อข้างนอกแทนแน่นอน คงไม่มีใครอยากจะฝ่าการจราจรที่ติดหนักเพื่อมาซื้อของในตลาด 

จรัญฯเจอศึกหนัก "2 อุโมงค์ 1 รถไฟฟ้า"

เมื่อข้ามไปต่อฝั่งธนฯ สำรวจธุรกิจการค้าย่านถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งต่อไปถนนเส้นนี้จะวิกฤตหนักมากยิ่งขึ้นอีกหลายเท่า จากเดิมที่มีการก่อสร้างบนถนนเส้นนี้อยู่แล้ว 2 ไซต์งาน คือ อุโมงค์สามแยกไฟฉาย และอุโมงค์แยกบรมราชชนนี ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีงานก่อสร้างรถไฟฟ้าเติมเข้ามาอีก 

ปัจจุบันทาง รฟม.เริ่มนำป้ายประชาสัมพันธ์มาติดประกาศบนสะพานลอย กระจายไปตามจุดต่าง ๆ ให้ผู้สัญจรไปมาได้รับทราบเป็นการล่วงหน้าว่าจะมีการก่อสร้างบนถนนเส้นนี้บ้างแล้ว 

"พัชรี เกษมพรกุล" เจ้าของร้านอาหารวัชระโภชนาที่เลื่องชื่อในพื้นที่บอกว่า ทุกวันนี้คนย่านนี้เจอกับปัญหารถติดมากอยู่แล้ว จากงานก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด 2 แห่ง ต่อไปมีรถไฟฟ้ายิ่งหนักข้อขึ้นไปอีก มีผลกระทบต่อธุรกิจอย่างแน่นอน ตอนนี้เริ่มเห็นตัวอย่างตรงแยกท่าพระที่มีธุรกิจร้านค้าหลายแห่งขายกิจการไป หลังจากที่มีการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดตรงทางแยก

"ตอนนี้เริ่มรู้สึกว่าลูกค้าเราหายไปนับจากที่ กทม.เริ่มรื้อย้ายสายไฟจะสร้างอุโมงค์ตรงทางแยก เพราะลูกค้าจอดรถไม่ได้และมองไม่เห็นหน้าร้าน จะเรียกลูกค้าเก่าไม่ได้ ลูกค้าเก่าก็ไม่มา หากมีการสร้างรถไฟฟ้าและห้ามจอดรถตลอดด้วย ธุรกิจเจ๊งแน่ ๆ เพราะเดิมหลัง 2 ทุ่มไปแล้วจะจอดหน้าร้านได้ ตอนนี้กำลังคิดว่าอาจจะย้ายร้านไปที่อื่น หรือหากไม่ย้ายก็คงต้องปรับปรุงร้านใหม่ให้ป้องกันฝุ่นละอองช่วงก่อสร้าง"

ปั๊มน้ำมัน "ท่าพระ" ปิดกิจการหนีรถติด

จุดสำรวจสุดท้ายที่เจ้าของธุรกิจปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ "ยงเกียรติ เสาวภาพโสภา" บอกว่าได้รับผลกระทบเต็ม ๆ เพราะถนนหายไป 2 เลน จะทำให้รถติดมากขึ้น จากที่ทุกวันนี้ถนนเส้นนี้รถติดอยู่แล้ว ต่อไปคนจะไม่เดินทางเข้ามาอย่างแน่นอน คงหันไปใช้เส้นทางอื่นแทน คาดว่าลูกค้าจะหายไปในแต่ละวันประมาณ 70-80% เหลือเฉพาะคนที่อยู่ในละแวกนี้เท่านั้นที่เข้ามาเติมน้ำมัน ซึ่งธุรกิจอยู่ไม่ได้หรอกหากลูกค้าน้อยลง 

"กว่ารถไฟฟ้าจะสร้างเสร็จใช้เวลาตั้ง 4-5 ปี ผมรอไม่ได้หรอกเพราะแต่ละวันผมมีค่าใช้จ่ายสูง ผมคิดว่าจะหยุดกิจการไปเลยดีกว่าและหาอาชีพอื่นทำแทน"

นี่เป็นแค่เสียงบางส่วนสะท้อนภาพปัญหาที่จะได้รับผลกระทบหลังจากมีการก่อสร้าง "รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน" และคาดว่าจะเริ่มดังขึ้นอีกเรื่อย ๆ นับจากนี้ไป


http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1305356690&grpid=no&catid=04&subcatid=


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น