ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"

ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ปัญหาเรตติ้งรายการโทรทัศน์

ปัญหาเรตติ้งรายการโทรทัศน์

วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 14:39:41 น.










ธาม เชื้อสถาปนศิริ ,มีเดียมอนิเตอร์

ละครเรื่องดอกส้มสีทอง สะท้อนปัญหาเรื่องสื่อในบ้านเราหลายอย่าง หนึ่งในเรื่องที่สำคัญ คือระบบเรตติ้ง มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ตั้งแต่กระทรวงวัฒนธรรมและรัฐมนตรีสองท่าน ตลอดจนนักแสดง ผู้จัดละคร เรื่อยจนพ่อแม่ผู้ปกครอง และนักสังคม นักสิทธิสตรี และนักวิชาการมหาวิทยาลัย


หลายฝ่ายพูดว่าเรตติ้งมีปัญหา ใช้ไม่ได้จริง และอาจค่อนไปทางล้มเหลวด้วยซ้ำไป


โดยเจตนาบริสุทธิ์ บทความนี้ตั้งใจเรียบเรียงและวิเคราะห์ว่า ปัญหาที่แท้จริงของระบบเรตติ้งรายการโทรทัศน์อยู่ที่ไหนกัน และทางออกควรเป็นเช่นไร

 

 

(0) ชื่อเรียก จริงๆ แล้วที่เราพูดถึงเรตติ้ง กันทั่วเมืองนั้น คำที่ถูกต้องคือ เรต ส่วนเรตติ้งคือ สัดส่วนความนิยมเชิงปริมาณที่มีต่อรายการโทรทัศน์ เพราะฉะนั้น ระบบสัญลักษณ์ที่เราใช้ "ด", "ป", "ท", "น13", "น18", "ฉ" นั้น ที่ถูกต้อง ต้องเรียก "เรต/rate" ไม่ใช่เรตติ้ง ที่แปลว่าความนิยมในรายการ (popular or quantity)

 

และที่มีความพยายามทำเรตติ้งเชิงคุณภาพ (quality rating) จริงๆ แล้ว ก็คือระบบการประเมินคุณภาพเนื้อหารายการ ซึ่งไม่ใช่ระบบเรต แต่เป็นเหมือนผลเฉลี่ยของคะแนนความดี-เด่น-ด้อย ในเชิงคุณค่า (value) ของรายการ ซึ่งจะถูกวัดด้วยเครื่องมือประเมินคุณภาพอีกแบบหนึ่งต่างหาก


ปัญหาที่เราพูดถึง จึงคือระบบเรตของรายการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นระบบการจำแนกระดับเนื้อหารายการโทรทัศน์ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละช่วงวัย

 

(1) เป้าหมายของระบบเรต เรตถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็น "ฉลากกำกับ" สำหรับผู้ใช้ คล้ายๆ กับฉลากยาที่แปะป้ายขวดยาต่างๆ เปรียบเนื้อหารายการโทรทัศน์ด้านในคือเนื้อยา ย่อมมีคุณสมบัติ หรือสรรพคุณรักษาและทำร้ายร่างกายได้พอๆ กันถ้าใช้ไม่ถูกต้อง
หากกินไม่ถูกต้อง ไม่ถูกเวลา ไม่ถูกปริมาณ ก็กลายเป็นยาพิษ


ฉะนั้น "เรตรายการโทรทัศน์" จึงทำหน้าที่แต่เพียงบอกผู้ใช้ว่าเนื้อหาข้างใน(เนื้อหารายการ) มีอะไร หรือผู้ชมวัยไหนควรรับชม ซึ่งผู้ชมรายการหรืออาจะเป็นพ่อแม้ผู้ปกครองให้ใช้ได้ถูกต้องกับช่วงวัยอายุ


เช่นนี้แล้วจะเห็นว่า (1.1) เรต ไม่ใช่เครื่องมือในการเซ็นเซอร์ (censored) หรือเครื่องมือในการ "ตัด หั่น เบลอ ห้ามฉาย" เช่นอำนาจของรัฐอย่างหน่วยงาน "กบว." (คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535)


ระบบสื่อในหลายๆ ประเทศ ไม่ใช้ระบบกบว. (หรือระบบเซ็นเซอร์) ก็เพราะเรา (ตัวสื่อ) ต้องการสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ต้องการให้รัฐมามีอำนาจเหนือสื่อ


และ (1.2) ระบบเรต ก็มิใช่ระบบการันตีคุณภาพสื่อ เช่น มีความเข้าใจว่า รายการที่มีเรต ท – ทั่วไป ย่อมมีเนื้อหาที่ดีมีคุณภาพกว่ารายการที่ได้เรต น13 หรือ น18 หรือ เรต ฉ (เฉพาะผู้ใหญ่)

 

เช่นกัน ที่ รายการที่มีเรตเมือนกัน เช่น เรต ท เหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าจะมีคุณภาพดีเด่นเท่ากันและก็มิได้หมายความว่า รายการที่เป็นเรต "ท-ทั่วไป" ผู้ปกครองจะสามารถปล่อยให้ลูกๆ ดูได้โดยไม่ต้องแนะนำหรือนั่งดูกับลูก เพราะในความเป็นจริงแล้ว รายการโทรทัศน์บ้านเรา (เฉพาะประเทศไทย) เรต ท  ก็ยังมีประเด็นเรื่องความรุนแรงอยู่เช่นกัน

 

เพราะฉะนั้นผู้ผลิตบางราย หรือแม้แต่เอเจนซี่โฆษณา หรือเจ้าของโฆษณาที่จะมาลงรายการ ก็ไม่ควรเข้าใจผิดว่า การลงโฆษณาในรายการโทรทัศน์ที่มีเรต น18 หรือ ฉ จะทำให้ภาพลักษณ์โฆษณาสินค้าดูแย่ในสายตาผู้ชมผู้บริโภค เพราะไม่เกี่ยวข้องกัน

 

 

 


(2) หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลเรต ในประเทศไทย ต้นความคิดเรื่องเรตนั้น เริ่มต้นมาจากคณะนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่ทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงวัฒนธรรม จากจุดเริ่มต้นและการผลักดันให้สื่อนำเอาระบบนี้ไปใช้ (ช่วงความพยายามของกระทรวงวัฒนธรรม ราวปี 2548-2551) ภายใต้การกำกับดูแลหรือผลักดันของรัฐมนตรี หรือข้าราชการประจำกระทรวง


แม้ตัวกฎหมายพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 จะอยู่ภายใต้อำนาจการกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากระทรวงวัฒนธรรมจะมีอำนาจเข้ามากำกับดูแลรายการโทรทัศน์ได้ ปัญหาคือความเข้าใจผิดของสังคมจึงเป็น เจ้าของความคิดระบบเรตคือกระทรวงวัฒนธรรม ดังนั้นหากประชาชนจะร้องเรียนก็ไปร้องเรียนที่กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งจะโทษคนที่ไปร้องเรียนก็ไม่ได้ เพราะอาจไม่รู้ว่า ความจริงแล้ว หน่วยงานที่จะกำกับดูแลเรื่องเรตรายการนี้ ควรเป็นหน้าที่ของ "กสทช." (คณะกรรมการกำกับกิจการวิทยุ กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น "ผู้กำกับดูแล" (regulator) โดยตรง และมีอำนาจกฎหมายดูแลโดยใช้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ หนึ่ง - พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และ สอง - พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553


ดังนั้นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในภายหลังของกระทรวงวัฒนธรรม หรือแม้แต่รัฐมนตรี ที่เรียกผู้จัดละครเข้าไปคุย หรือกดดันต่อการต่อสัญญาสัมปทานโทรทัศน์ของผู้ถือใบอนุญาต ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน จึงอาจเข้าข่ายการ "ใช้อำนาจรัฐ(ด้วยความหวังดี)เข้าไปแทรกแซงสื่อ" โดยไม่รู้ตัว


เหตุการณ์นี้ยังแสดงให้เห็นว่า เรา(บางคน หรือสังคมบางส่วน)ยังเสพติดการใช้รัฐ(ในความหมายคือรัฐบาล)ให้เข้ามาแก้ไขปัญหาสื่อ โดยการใช้นักการเมือง ข้าราชการ มากำกับดูแลสื่อ ทั้งที่ปัจจุบัน บทเรียนจากการปฏิรูปสื่อที่สำคัญตั้งแต่ปี 2540 นั้นคือการกำหนดให้มี "องค์กรอิสระตามกฎหมายพระราชบัญญัติ" (ซึ่งก็คือกสทช.) เข้ามากำกับดูแลสื่อโดยตรง


การแก้ปัญหาของท่านรัฐมนตรี จึงอาจเป็นการเข้าไปทำเกินหน้าที่ แต่อาจมองด้วยเจตนาดีต่อสังคมที่พยายามจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า


(3) การใช้ระบบเรต ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ประเด็นนี้มีความชัดเจนใน 3 ลักษณะคือ

 

 

(3.1) ระบบเรตที่ใช้ ถือเป็นความสมัครใจที่จะทำหรือไม่ก็ได้ เพราะไม่มีกสทช. เข้ามากำกับดูแล กระทรวงวัฒนธรรมเพียงขอความร่วมมือ ซึ่งก็มีสื่อ 5 ช่องเท่านั้นที่ยอมรับนำมาใช้ (คือฟรีทีวี ช่อง 3,5,7,9,11) ยกเว้นช่องทีวีไทย ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือ "มีระบบควบคุมจรรยาบรรณ จริยธรรม วิชาชีพในการผลิตรายการโทรทัศน์" เป็นตัวกำหนดอยู่แล้วเป็นของตนเอง หรือพูดง่ายๆ คือ มั่นใจว่า รายการที่ผลิตออกไป สาธารณะทุกคน ทุกวัย รับชมได้ไม่มี "พิษภัย"


ยังมิต้องนับว่ารายการโทรทัศน์ในช่องเคเบิ้ลทีวี หรือทีวีดาวเทียม ที่มีเป็นร้อยช่องในปัจจุบัน ซึ่งมีเนื้อหาล่อแหลมมากกว่านี้ และยังมีเรื่องการขายของ โฆษณาชวนเชื่อ และเนื้อหาจากต่างประเทศที่ไร้พรมแดนมาฉายวนเวียนตลอด 24 ชั่วโมงอีกที่ระบบเรตยังไม่ได้เข้าไปควบคุมดูแล


(3.2) ระบบเรตที่ใช้ในปัจจุบัน ยังไม่ได้ใช้เรื่องการกำหนดช่วงเวลาการออกอากาศ หรือพูดง่ายๆ คือ ไม่ได้ทำโซนนิ่งเวลา (อังกฤษเรียกว่าระบบ "watershed" อเมริกาเรียกว่าระบบ "safe harbor" ซึ่งหมายถึงว่า รายการที่มีเนื้อหาเฉพาะผู้ใหญ่ (ที่มักมีองค์ประกอบ เรื่องความรุนแรง เพศ และภาษา) สามารถไปออกอากาศได้หลังเวลา 22.00 น. จนอาจถึงเวลา 6.00 น. ในเช้าวันถัดไป


หรืออย่างประเทศออสเตรเลีย รายการเรต MA15+ จะไม่อนุญาตให้ออกอากาศก่อนเวลาสามทุ่มได้เลย หรือประเทศแคนาดา เนื้อหาผู้ใหญ่ (ที่มีเรื่องเพศชัดเจน ฉากความรุนแรง และบทพูดภาษาที่ลามก ทะลึ่ง หรือก้าวร้าว ด่าทอ) ก็จะกำหนดให้ฮอกอากาศเฉพาะในเวลา 3 ทุ่มถึงรุ่งเช้าเท่านั้น


ข้อเท็จจริงสำหรับประเทศไทยที่เราเห็นกันก็คือ รายการละครโทรทัศน์ (ซึ่งกว่า 80%) มีฉากความรุนแรงที่อยู่ในระดับเรต น13 หรือ น 18 กลับออกอากาศได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นจะไม่แปลกอะไรหากเราลองเปิดโทรทัศน์ช่วงกลางวัน-สาย (ราว 10 โมง) จะมีละครรีรันของช่อง 5 (เช่นเรื่องชิงชัง ที่มีเรื่องเสน่ห์คุณไสย ชิงรักหักสวาท เรื่องผิดลูกผิดเมียผู้อื่น และการใช้ฉากความรุนแรง และเพศ ออกฉายได้ทั่วไป) หรือละครรีรันที่เคยมีปัญหาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเรื่องเมียหลวง (ช่อง 7) ที่ฉายระห่างเวลาบ่ายโมงจนบ่ายสาม ในช่วงเวลาปิดเทอม


ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องการโซนนิ่งเวลารายการ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครออกมาพูดถึงเลย


ปัญหานี้ควรได้รับการแก้ไขทันทีโดยอำนาจของกสทช. เพราะในมาตรา 34 (2) ของพรบ.การประกอบกิจการวิทยุ-โทรทัศน์ปี 2551 กำหนดว่า "ในกรณีจำเป็นเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน คณะกรรมการอาจประกาศกำหนดช่วงเวลาของการออกอากาศรายการบางประเภทได้"

 


อันนี้ก็ต้องกสทช. เพียงอย่างเดียวในการใช้อำนาจกฎหมายที่มี แต่กสทช. ก็ต้องหันมาคิดว่า ต้องรื้อระบบเรตที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยหรือไม่

 

 

(3.3) การระบุเรตรายการที่ไม่ตรงกับเนื้อหา ข้อนี้เกิดมากในช่วงแรกของการใช้เรต เพราะผู้ผลิตรายการไม่อยากให้เรตรายการของตนออกมาดูไม่ดี เช่นเรต น13, น18 หรือ ฉ หรือแม้แต่การใช้เรตที่ไม่ต่อเนื่องในตลาดระยะเวลาการฉาย เช่นบางตอนให้เรต ท แต่บางตอนให้เรต น13 เฉพาะบางฉากที่คิดว่ารุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด โดยเฉพาะกับรายการละคร (หรือรายการวาไรตี้ ทอล์คโชว์บางรายการอย่างตีสิบ)

 


การระบุเรตที่ถูกต้องคือการให้ที่ระดับความรุนแรงของเนื้อหาสูงสุดของรายการ เช่นถ้าละครมี 15 ตอน ตอนจบมีฉากรุนแรงมากที่สุด (ฉากยิง ฉากฆ่ากัน ซึ่งหากรุนแรงเป็นเรต 18) แต่อีก 14 ตอนที่เหลือในช่วงแรกไม่มีฉากนี้ (มีแค่ฉากพูดจาเชือดเฉือน ด่าทอ หรือเลิฟซีน ซึ่งอาจเล็กน้อยมากจนพิจารณาได้ว่าเป้นเรต น13) แต่ข้อเท็จจริงคือ ละครเรื่องนี้ต้องได้เรต น18 เพราะพิจารณาที่ระดับความรุนแรงสูงสุดที่จะพบได้ในเรื่อง

 

 

(4) ความซับซ้อนตัวระบบเรตที่เราเลือกใช้ แม้ระบบเรตรายการโทรทัศน์ที่เราใช้กันจะมีสัญลักษณ์เพียงแค่ 6 ตัว (คือ ด ป ท น13 น18 ฉ) ซึ่งแบ่งตาม "ช่วงวัยของผู้ชม" (aged classification) แต่กว่าจะได้สัญลักษณ์นี้ขึ้นมาในตอนท้าย ก็นับว่ายากทีเดียว เพราะมีความสลับซับซ้อนในการออกแบบระบบเพื่อความเข้าใจ และแน่ว่าเมื่อ "ใช้ยาก หรือ ยากที่จะใช้อย่างเข้าใจ" ก็เลยทำให้ใช้อย่างผิด ไม่ตรงกับเนื้อหารายการจริงๆ

 


ผู้อ่านที่ไม่ทราบถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องเรตรายการ อาจมีความมึนงงพอสมควรหากไปอ่านตัวคู่มือระบบเรตรายการโทรทัศน์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะระบบเรตที่เราใช้อยู่นี้ ได้เอา 2 ระบบเนื้อหามาใช้ออกแบบร่วมกัน คือ (+6) เนื้อหาที่ควรส่งเสริม (เชิงบวก 6 ประเด็น เช่น วิชาการ ศีลธรรม ทักษะ ความรักความเข้าใจ ทัศนคติการใช้ชีวิต ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ) และ (-3) หรือเนื้อหาที่ควรจำกัด (เชิงลบ เช่นพฤติกรรมและความรุนแรง เรื่องเพศ และเรื่องภาษา) ซึ่งเป็นความตั้งใจดีในการออกแบบ แต่ข้อเท็จจริงของระบบเรตคือ การออกแบบระดับขั้นช่วงวัยอายุของผู้ชมโดยมองเนื้อหาด้านลบมากกว่า (-3 เรื่อง ความรุนแรง เพศ และภาษา)
ระบบเรตที่เราใช้ ยังกำหนดตัวแปรพิจารณาเนื้อหา ด้านที่ควรจำกัด แบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ 1) เรื่องพฤติกรรมและความรุนแรง ซึ่งมีอีก 13 ตัวแปรย่อย 2) เรื่องเพศ มีอีก 3 ตัวแปรย่อย และ 3) เรื่องภาษา ซึ่งมีอีก 3 ตัวแปรย่อย รวมทั้งสิ้น 19 ตัวแปร ซึ่งถือว่ามากกว่าระบบเรตของต่างประเทศกว่าครึ่ง (อย่างของอังกฤษ มีเพียง 7-8 ตัวแปรเท่านั้น หรือมากสุดอาจมีเพียง 9 ตัวแปรเท่านั้น)


สาเหตุที่เราพิจารณาตัวแปรมากเช่นนี้ ก็อาจเพราะเรา (กระทรวงวัฒนธรรม) กังวลทุกเรื่อง แม้กระทั่งภาษาแสลง เรายังถือเอาเป็นตัวแปรในการระบุเรตเลย

 


นอกจากนี้ในระบบเรตที่เราใช้อยู่ การแบ่งระดับความแตกต่างช่วงวัย ยังอาศัยกฎเกณฑ์เรื่อง ระดับความเข้มข้น ชัดเจนของเนื้อหา และระดับความถี่การปรากฏบ่อย/ไม่บ่อย มาเป็นตัวกำหนดเรตด้วย ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้งานจริงงุนงงพอสมควร เช่น การตีความเรื่องฉาก "การแสดงออกถึงสัมพันธภาพทางเพศที่ส่งผลให้เกิดความรู้สึกทางเพศ" และ "กิริยาท่าทางที่สื่อความหมายทางเพศที่ไม่เหมาะสม" หรือพูดง่ายๆ ฉากเลิฟซีน (ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 19 ตัวแปรทั้งหมดที่ต้องพิจารณา) ที่กำหนดว่า


ระดับ 0 เรต ป ไม่มี

 


ระดับ 1 เรต ด, ท - ไม่มี เว้นแต่เป็นไปตามบริบทของเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดย

 


1) ไม่เป็นองค์ประกอบที่พบบ่อยในการนำเสนอ
2) ไม่นำเสนอในลักษณะชี้นำ ชักจูง
3) เป็นการแสดงความรักที่เหมาะสมตามประเพณี
4) ไม่แสดงถึงขั้นตอนการกระทำ หรือการใช้กำลังที่ชัดเจน
ระดับ 2 เรต น13, น18 - มีได้บ้าง ตามบริบทของเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ระดับ 3 เรต ฉ - มีได้  โดยหากเป็นการแสดงสัมพันธภาพทางเพศในลักษณะ ผิดประเพณี ผิดกฎหมาย หรือผิดธรรมชาติ ต้องไม่เน้นขั้นตอนการกระทำอย่างชัดเจน  และต้องไม่ขัดต่อ กฎ ระเบียบ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

 

จะเห็นว่า ในการใช้งานจริง เพื่อที่ผู้ผลิตรายการจะใช้ได้อย่างถูกต้องจริงๆ นั้น เป็นเรื่องที่ยากมากในทางปฏิบัติ เพราะการตีความว่า มีได้ตามบริบทของเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็เท่ากับว่ามีได้ตามความจำเป็นของตัวเนื้อหารายการนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่า รายละเอียดของการระบุเรตที่ละเอียดยิบมากเกินไปนี้ จะสร้างความยุ่งยากในการระบุเรตมากเกินไป และทำให้ระบบเรตถูกใช้ไปอย่างขาดความเข้าใจและทำให้ท้ายสุดระบบเรตใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ

 

 

ตัวอย่าง ตารางแสดงขั้นตอน "กว่าจะระบุเรตรายการ" ได้ นับว่ายากเอาการเลยทีเดียว หากมีการแก้ไขปัญหาเรื่องเรตรายการครั้งหน้า ก็ควรพิจารณาเรื่องระบบรายการที่ใช้อยู่นี้ด้วยว่าจะออกแบบใหม่ให้ใช้งานง่าย และใช้ได้จริงอย่างไร หรืออาจช่วยให้กบว.ของช่องทำงานได้ง่ายมากขึ้นในการพิจารณาเรตรายการ

 

 

 

(ท่านผู้อ่านที่อยากเข้าใจเรื่องระบบเรต สามารถหาอ่านรายงานเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ ww.mediamonitor.in.th)

 

(5) ปัญหาเรื่องความรู้ความเข้าใจเรต งานสำรวจความรู้ความเข้าใจของพ่อแม่ผู้ปกครองต่อระบบเรตรายการสะท้อนข้อเท็จจริงสำคัญว่า พ่อแม่ไม่เข้าใจความหมายของระบบสัญลักษณ์ต่างๆ ที่แสดงออกมา และไม่รู้ว่าจะสื่อสาร แนะนำ อธิบายกับลูกๆ อย่างไรเพื่อสร้างความเข้าใจต่อเด็กๆ ในเนื้อหาเหล่านั้น


เรื่องนี้อาจแก้โดย 2 ทางคือหนึ่ง หน่วยงานรับผิดชอบ (ซึ่งควรเป็นกสทช.) ในอนาคต และทางสอง คือ การให้ความรู้ความเข้าใจ และคู่มือการแนะนำการรับชมรายการโทรทัศน์ต่อเด็กๆ ซึ่งตอนนี้ก็มีเครือข่ายพ่อแม่/ครอบครัว ทำงานรณรงค์ด้านนี้อยู่ แต่ยังได้รับการสนับสนุนที่น้อยอยู่มาก

 

ข้อนี้ดูจะสำคัญมากกว่าข้ออื่นๆ เพราะหากทำได้ยังเท่ากับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันด้านสื่อให้เด็กๆ (หรือตัวพ่อแม่เอง) ด้วย เพราะยังมีรายการโทรทัศน์อีกมากมาย ทั้งในเคเบิ้ลทีวี หรือแม้แต่อินเตอร์เน็ตที่สามารถดูได้ตลอดเวลา หากมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) แล้ว ไม่ว่าสื่อแบบไหน ก็น่าจะรับมือได้

 

ที่สุดแล้ว เรตรายการโทรทัศน์ มิได้ถูกนำเอามาแก้ไขปัญหาสื่อดี หรือสื่อไม่ดี แต่เป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยปกป้อง คุ้มครองผู้ชมผู้รับสื่อต่างหาก การแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพรายการโทรทัศน์บ้านเรา เรื่องภาพความรุนแรง พฤติกรรมแบบอย่างที่ดีไม่ดี เรื่องเพศ เรื่องภาษาลามกหยาบคาย หรือสิ่งอื่นๆใดที่ไม่เหมาะสม ล้วนขึ้นอยู่กับความคิดสำนึกรับผิดชอบของผู้ผลิตสื่อเอง ที่จะนำเสนอเนื้อหาด้านบวกหรือลบอย่างไรที่สังคมส่วนรวมจะได้ประโยชน์


สังคมไม่อาจดีได้ถ้าเรามีแต่รายการเรต "ท" ทั่วไป เต็มผังรายการ และก็ไม่ได้หมายความว่าช่องที่มีแต่เรต ฉ เฉพาะผู้ใหญ่ จะเป็นช่องที่ไม่ดี แต่น่าจะขึ้นอยู่กับฝีมือ ทักษะ ความสามารถของสื่อมากกว่า ที่จะมีมากน้อยเพียงใด


เรต เป็นเพียงสลากกำกับคู่มือการใช้ ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง ยารักษาก็อาจกลายเป็นยาพิษได้

 

ก็เท่านั้นเอง


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1305271677&grpid=01&catid=&subcatid=




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น