ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"

ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สำนักงานศาลยุติธรรมเอาแน่ ทุบทิ้งสร้างใหม่ศาลฎีกาบนที่ดินเดิม ย่านท้องสนามหลวง มูลค่า 3,000 ล้านบาท


อสังหา Real Estate อสังหาฯ Real Estate
โดย กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ   
วันอังคารที่ 03 พฤษภาคม 2011 เวลา 16:54 น.

altสำนักงานศาลยุติธรรมเอาแน่ ทุบทิ้งสร้างใหม่ศาลฎีกาบนที่ดินเดิม ย่านท้องสนามหลวง  มูลค่า 3,000 ล้านบาท เผยรออีไอเออนุมัติ   ด้าน นักวิชาการ-  กรมศิลปากร-สมาคมสถาปนิก  ค้านต้องการให้เป็นมรดกทางโบราณสถานควรอนุรักษ์ไว้ ให้เด็กและประชาชนทั่วไปศึกษา   
  จากกรณีที่ นักอนุรักษ์ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างคัดค้านการทุบทิ้ง เพื่อก่อสร้างอาคารศาลฎีกาใหม่ บริเวณถนนราชดำเนิน และตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร(กทม.) มานานหลายสิบปี   เนื่องจากต่างมองว่าเป็นอาคารเก่าแก่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์    ขณะที่ สำนักงานศาลยุติธรรม ยืนกรานว่าจะเดินหน้าก่อสร้างใหม่นั้น
แหล่งข่าวจากสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงความคืบหน้าโครงการ รื้อทิ้งและก่อสร้างอาคารศาลฎีกาหลังใหม่บนที่ดินเดิมบริเวณท้องสนามหลวง ถนนราชดำเนินว่า   ศาลยังคงวางแผนดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง เพราะมีความจำเป็นต้องก่อสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ ให้มีความทันสมัยและให้มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับปริมาณงานและประชาชนที่เข้ามาติดต่อ เนื่องจากอาคารปัจจุบันเล็กคับแคบมีสภาพทรุดโทรมเก่าแก่เพราะถูกใช้งานมานาน  
   "ที่ผ่านมา ได้มีการออกแบบแล้วเสร็จโดยเน้นสถาปัตยกรรมแบบไทยร่วมสมัย และไม่ใช่อาคารทรงสูง เพื่อไม่ให้บดบังพระบรมมหาราชวังตลอดจนวัดวาอาราม   แต่ที่ตลอดระยะเวลา 1-2 ปี ที่ผ่านมา มีปัญหาเกิดการต่อต้านจากกลุ่มนักอนุรักษ์ และกรมศิลปากรที่ส่งหนังสือ โต้ตอบกันไปมา โดยเฉพาะกรมศิลปากรที่อ้างว่า  อาคารดังกล่าวถือเป็นโบราณสถานอันทรงคุณค่า เพราะมีอายุกว่า 70 ปี ซึ่งเป็นการมองคนละมุมกัน" 
 แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปีที่ผ่านมา(2553) ศาลได้ยื่น รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ โครงการก่อสร้างอาคารศาลฎีกาหลังใหม่บนที่ดินเดิม มูลค่า 2,000- 3,000 ล้านบาท ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา  หาก อีไอเอผ่านความเห็นชอบก็สามารถดำเนินการต่อไปได้     
    ขณะที่แหล่งข่าวจากมหาวิทยาลัยศิลปากรหนึ่งในกลุ่มอนุรักษ์ต่อต้านการรื้ออาคารศาลฎีกา  กล่าวว่า  ขณะนี้ทราบว่า  การทุบศาลฎีกา และสร้างใหม่ ยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมา ศาลได้ยื่นขออนุมัติอีไอเอ หากผ่านก็สามารถดำเนินโครงการต่อได้ทันที ขณะเดียวกัน แม้ศาลฎีกาจะอยู่ในรัศมีเกาะรัตนโกสินทร์ มีข้อบัญญัติห้ามก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยเฉพาะอาคารเก่า ของกรุงเทพมหานคร(กทม.)  แต่เนื่องจาก ศาลฎีกาเป็นของหน่วยงานราชการ  สามารถดำเนินการได้  โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าว เพราะที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ทุบและก่อสร้างอาคารหลังใหม่บนที่ดินเดิมได้ กว่า 10 ปีก่อน  ซึ่งมติครม.  ถือว่าใหญ่กว่าข้อบังคับเกาะรัตนโกสินทร์  จึงสามารถดำเนินการได้ 
  "แต่ที่นักอนุรักษ์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัย ตลอดจนประชาชนทั่วไป  ออกมาต่อต้านเพราะเสียดายอาคารเก่าแก่ ที่น่าจะเก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและควรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน  หากต้องการสร้างอาคารหลังใหม่ ควรจะหาที่ดินใหม่ย่านชานเมือง หรือ ไปอยู่ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะน่าจะเหมาะสมกว่า ขณะเดียวกันเกรงว่าการทุบทิ้ง ที่ต้องทุบทั้งอาคาร จะกระทบต่ออาคารโดยรอบโดยเฉพาะฐานรากของพระบรมมหาราชวัง และวัดดังหลายแห่ง"      
 นายทวีจิต จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์  กล่าวว่า ขั้นตอนการยื่นขออีไอเอ เพื่อก่อสร้างอาคารดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ที่ต้องทำตามขั้นตอน แต่มองว่า ไม่สามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ เพราะต้องฟังเสียงสังคมรอบข้างด้วยว่า เห็นด้วยหรือไม่ ส่วนแบบก่อสร้าง จะเป็นรูปทรงไทยสูง 5 ชั้น  ซึ่งถือว่าสูงกว่าพระบรมมหาราชวัง ขณะเดียวกัน ได้มีการคัดเลือกผู้รับเหมานานแล้ว แต่ไม่สามารถเซ็นสัญญาได้เพราะกระแสต่อต้าน   และสมาคมก็ต่อต้านเรื่องนี้มาโดยตลอด
  ด้านแหล่งข่าวจากกรมศิลปากร กล่าวว่า  ที่ผ่านมา กรมได้ทำหนังสือถึงศาลฎีกาเพื่อขอให้ระงับการรื้อทิ้งเพื่อก่อสร้างอาคารใหม่บริเวณถนนราชดำเนินหรือบริเวณท้องสนามหลวง อย่างต่อเนื่องหลายฉบับ แต่ก็ไม่มีหนังสือตอบรับกลับมา 
 สาเหตุที่ต้องท้วงติงไป เนื่องจากอาคารดังกล่าว เป็นอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ควรที่จะอนุรักษ์ไว้เป็นโบราณสถาน   ขณะเดียวกัน กรมต้องการขอพิจารณาแบบรายละเอียดอาคาร ซึ่งที่ผ่านมา ศาลฎีกายังไม่ส่งให้แต่อย่างใด
  อย่างไรก็ดี  หากต้องการก่อสร้างศาลควรเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าเห็นด้วยหรือไม่   เพราะนอกจากจะกระทบทางจิตใจแล้ว  การก่อสร้างดังกล่าว ยังมีผลต่อสิ่งแวดล้อมข้างเคียง   เนื่องจาก เป็นอาคารขนาดใหญ่  และสูง ไม่ต่ำกว่า 4-5 ชั้น อีกทั้งยังตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์  ซึ่งใกล้เขตพระบรมมหาราชวัง และ โบราณสถานอื่นๆ 
แหล่งข่าว กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาปัจจุบันอาคารศาลฎีกายังไม่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) โบราณสถานพ.ศ. 2535 ส่งผลให้ กรมไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ ขณะเดียวกันกรมยึดหลักปฏิบัติ ว่าอาคารที่เก่าแก่ และ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่น่าเก็บไว้ให้ประชาชนตลอดจนชนรุ่นหลังได้ศึกษาน่าจะอยู่ในข่ายโบราณสถาน  ซึ่งได้มอบให้เจ้าหน้าที่ประเมินคุณค่าของอาคารดังกล่าวแล้ว
 ขณะเดียวกัน กรมได้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. โบราณสถาน พ.ศ. 2535  โดยกำหนดคำนิยาม และ สาระสำคัญของกฎหมายใหม่ ให้คุ้มครองอาคารที่ทรงคุณค่าสำคัญๆ  โดยห้ามไม่ให้ถูกทำลายหรือ รื้อถอน เพื่อก่อสร้างใหม่ตามอัตโนมัติ   โดยเกณฑ์การพิจารณา จะไม่จำเป็นต้องเป็นอาคารที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถานกับกรมศิลปากร แต่หากอาคารดังกล่าว ประเมินแล้วมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์  และเป็นสถานที่ให้ความรู้  แม้จะมีอายุการใช้สอยอาคารไม่กี่ปี ก็อยู่ในข่ายเป็นอาคาร ที่เป็น"มรดกแห่งความทรงจำ" ซึ่งหากอาคารเหล่านี้ประเมินคุณค่าออกมา ต่อไปจะไม่สามารถทุบหรือทำลายได้ ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่ในชั้นกฤษฎีกา  ซึ่งคาดว่าจะเร่งผลักดันออกมาบังคับใช้โดยเร็วเพื่อคุ้มครองอีกหลายอาคารที่ทรงคุณค่าและกำลังจะถูกทำลาย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,632   5-7  พฤษภาคม พ.ศ. 2554


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น