"ดีแทค"เล็งยื่นอุทธรณ์ ชี้มติบอร์ดกสททำ 3 จีทรูผิดกม. พร้อมฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายต่อ
วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 10:29:03 น.
จอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ซีอีโอดีแทค | ดีแทคเตรียมยื่นอุทธรณ์ ชี้มติบอร์ด กสท ทำสัญญา 3 จี กับทรู ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากคำตัดสินออกมาผิดจริง เดินหน้าฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายต่อ เชื่อ กสท ไม่โยงข้อพิพาทกับการขอเปิดทำ 3 จี ของดีแทค
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค จัดแถลงข่าวด่วน กรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราว คดีพิพาทที่ดีแทค ยื่นฟ้องบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับการทำสัญญาร่วมดำเนินธุรกิจกับกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริการ 3 จี เทคโนโลยีเอชเอสพีเอ
นายอับดุลลาห์กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดคำสั่งศาล เพื่อพิจารณาการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งในการยื่นอุทธรณ์ต่อคำฟ้องมติบอร์ด กสท ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น บริษัทจะชี้แจงให้ศาลเห็นว่ามติบอร์ด กสท นำมาสู่การลงนามในสัญญา เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกัน หากที่สุดศาลมีคำสั่งว่ามติบอร์ด กสท ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะกระทบต่อตัวสัญญาทันที เมื่อถึงเวลานั้นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ขณะที่การยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนั้นจะดำเนินการหลังศาลมีคำสั่งว่ามติบอร์ด กสท ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นายอับดุลลาห์กล่าวว่า ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นถือเป็นคนละส่วนกับที่ กสท จะอนุมัติให้ดีแทคเปิดให้บริการ 3 จี บนคลื่นความถี่เดิม 850 เมกะเฮิร์ตซ์ เชิงพาณิชย์ ที่อยู่ระหว่างรอให้อัยการสูงสุดตีความว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งดีแทคได้เจรจากับ กสท มาโดยตลอด และคาดหวังว่าการดำเนินการเรื่องนี้จะลุล่วง ประสบความสำเร็จด้วยดี เพื่อให้สามารถบริการเทคโนโลยีที่ทันสมัยกับลูกค้าจำนวน 22.3 ล้านราย และสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ถือหุ้น โดยที่ผ่านมา ดีแทคให้ความสำคัญกับการเปิดให้บริการ 3 จี มาโดยตลอด ทั้งที่ลงทุนปรับปรุงโครงข่ายเดิมไปแล้ว 350 ล้านบาท และเตรียมลงทุนอีก 850 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงโครงข่ายเดิมทั้งสิ้น 1,220 สถานีฐาน
นายอับดุลลาห์กล่าวว่า คำตัดสินของศาลไม่ใช่ทางแก้สำหรับปัญหาการหยุดชะงักที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมกำลังประสบอยู่ขณะนี้ โดยแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม คือการเปิดประมูลใบอนุญาต 3 จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการในรูปแบบการออกใบอนุญาต ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายสามารถแข่งขันกันภายใต้กฎเกณฑ์และข้อกำหนดเดียวกัน และจะเป็นทางแก้สำหรับทุกฝ่าย ซึ่งเมื่อ กสทช.จัดตั้งแล้ว ควรดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น