ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"

ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554

อวสาน MVNO 3G TOT !?!

อวสาน MVNO 3G TOT !?! (Cyber Weekend)
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 19 มีนาคม 2554 14:29 น.

       เพียงปีเศษๆ เส้นทาง 3G ของ ทีโอที ที่นำรูปแบบการให้บริการ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) หรือการประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทขายส่งบริการและขายต่อบริการ ตามคำนิยามของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใกล้ ถึงจุดโคม่าเข้าไปทุกที ทั้งๆ ที่เคยเป็นหมัดเด็ดที่จะผลักดันให้ทีโอที กลายเป็นผู้เล่นหลักของบริการโทรศัพท์มือถือ 3G ในประเทศไทย
       
       อะไรที่ทำให้สถานการณ์ของ 3G TOT พลิกโฉมหน้าไปเช่นนั้น ทั้งๆ ที่บริษัท กสท โทรคมนาคม คู่ปรับตลอดกาล กลับมีสถานการณ์ที่กระเตื้องขึ้นมากหลังจากที่กลุ่มทรูได้ถอดรหัสฮัทช์ให้กับกสท จนกลายเป็นทางสว่างให้กับรัฐวิสาหกิจอย่างกสทที่ดูเสียเปรียบทีโอทีมาโดยตลอด โดยเฉพาะบนบริการ 3G เริ่มได้เปรียบมากขึ้น
       
       หากวิเคราะห์แบบฟันธง ความไม่ชัดเจนของบิสซิเนสโมเดล MVNO ของทีโอที เป็นบ่วงแรกที่รัดคอทำให้ทีโอทีไปไม่รอดในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ 3G
       
       'ทีโอที มองบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมธุรกิจ MVNO ไม่แตกต่างจากโมเดลสัมปทาน ไม่ได้มองว่าเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ' ทอม เครือโสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทูนทอล์ก ไทยแลนด์ หนึ่งในเอกชนที่ร่วมแจมโมเดล MVNO กับทีโอที ที่ดึงกลุ่มทุนอย่าง 'แอร์เอเชีย' ของโทนี่ เฟอร์นันเดส เข้ามาร่วมทุน วิเคราะห์ปัญหาของ MVNO ของ 3G TOT ในวันนี้
       
       จากความคิดดังกล่าวของทีโอที ทำให้ MVNO 3 รายจากทั้งหมด 5 ราย ต่างชะลอกิจกรรมการตลาดลงไปจนแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีกิจกรรมการตลาดอะไรแรงๆ มากระตุ้นตลาดเลยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่กระแสการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือกลายเป็นไลฟ์สไตล์หรือชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว ซึ่ง MVNO ต้องแบกภาระจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อซื้อแอร์ไทม์แบบขายขาดแกมบังคับจากทีโอทีมาจำหน่าย
       
       โดยทีโอทีมีให้เลือกเป็นแบบแพกเกจ คือ แพกเกจ 6 ล้านบาท กับแพกเกจ 12 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินประกันต่างๆ อีกจำนวนมาก ทำให้ MVNO ที่สายป่านสั้น เริ่มสั่นคลอนและไปไม่รอด ขณะที่ทีโอทีกลับปล่อยให้ MVNO ทำตลาดกันไปตามยถากรรม ไม่มีการสนับสนุนกิจกรรมใดๆ จากทีโอทีทั้งสิ้น
       
       เรื่องนี้ ไม่ได้เป็นปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น ความไม่ชัดเจนของ MVNO ของทีโอทีนั้น มีมาตั้งแต่เกิด ตั้งแต่ 'ทีโอที 3G เฟสแรก' ประมาณปลายปี 2552 แล้ว ที่ไม่มีความชัดเจนในการแบ่งฐานผู้ใช้บริการว่า MVNO แต่ละรายจะลงเล่นในตลาดกลุ่มไหน แต่กลายเป็นการมุ่งที่จะต่อสู้กันเอง
       
       ถึงแม้จะเห็นความพยายามกระตุ้นการทำตลาดอยู่พักใหญ่ในปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่บังเกิดผลใดๆ ในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นผลมาจากการวางกลยุทธ์ในการสร้าง MVNO ของทีโอที ที่ผิดธรรมชาติของโมเดล MVNO ตรงที่ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ทีโอทีกับ MVNO ทั้งหมด จะต้องเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน แบ่งพื้นที่การสร้างตลาดรวมไปถึงทิศทางการทำตลาดร่วมกัน ไม่ใช่แบบที่ทีโอทีทำอยู่ ด้วยการกำหนดเงื่อนไขโดยไม่มองถึงความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคาขาย 'ซิมการ์ด' ที่สูงโดยไม่ได้อิงสภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่เกิดขึ้น การกำหนดอัตราค่าบริการทางด้านเสียงที่ไม่เอื้อต่อการทำตลาด จึงจะเห็นได้จากการที่ MVNO ต่างๆ ไม่ได้เน้นงานขายเรื่อง 'เสียง' เลย โดยหันมาใช้โมเดลเรื่อง 'ดาต้า' เป็นจุดขาย
       
       'ทอม' ให้ความเห็นน่าฟังว่าทางออกของทีโอทีในโมเดล MVNO ก็คือ จะต้องมองให้ออกว่า จะต้องทิ้งรายได้ทางด้านเสียงไป หันมาเน้นจุดแข็งทางด้าน 'ดาต้า' แทน ซึ่งจุดแข็งของ 3G อยู่ที่ตรงนี้
       
       ที่สำคัญทีโอทีจะต้องชัดเจนในมาสเตอร์แพลนของทีโอทีว่าจะเอาอย่างไร เพราะที่ผ่านมา ทีโอทีไม่มีเรื่องนี้เลย ไม่มีความชัดเจนว่า MVNO จะเป็นอย่างไร ไม่มีการตัดสินใจที่ชัดเจน ต่างจากกสท ที่ผู้บริหารมีความชัดเจนในเรื่องของการกล้าตัดสินใจที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า โดยให้กลุ่มทรู เข้ามาซื้อกิจการฮัทช์ แล้วสวมสิทธิ์ในลักษณะ MVNO เหมือนกับทีโอที
       
       'โมเดลเหมือนกันทุกประการ แต่การตัดสินใจของผู้บริหารแตกต่างกัน การตัดสินใจของผู้บริหารกสททำให้พนักงานมองเห็นอนาคตที่ชัดเจนว่าจะเดินไปทางไหน ขณะที่ประชาชนได้ประโยชน์ตรงที่จะมี 3G ใช้ ถึงแม้จะไม่ชัดเจนถึงขั้นตอนก็ตาม ขณะที่ทีโอทีกลับไม่มีอะไรที่ชัดเจนออกมาเลย ทั้งๆ ที่ทีโอทีมีความได้เปรียบในทุกๆด้าน'
       
       ความไม่ชัดเจนของเครือข่าย 3G เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทีโอทีเดินไปไม่ถึงไหน ทั้งๆ ที่เริ่มก่อนใครเพื่อน
       
       ถึงแม้ทีโอทีจะสร้างชื่อจากการเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ3G ในเชิงพาณิชย์เป็นรายแรกของประเทศ ที่เปิดตัวเครือข่าย 3G ครั้งแรก 600 สถานีฐานทั่วกรุงเทพฯ แต่หลังจากนั้น 1 ปีกว่าๆ เครือข่าย 3G ยังคงมีเท่าเดิม โดยมีเลขหมายที่ให้บริการได้เพียง 500,000 เลขหมาย เมื่อเทียบกับ 20% ที่เหลือในโมเดล MVNO ของ กสท ที่บอกว่า มีเบอร์ให้ใช้งานถึง 5 ล้านเลขหมาย จะเห็นได้ชัดเจนว่า กสทเปิดทางสว่างให้กับ MVNO ของค่ายทีโอทีที่อาจหันไปซบอกกสทได้ไม่ยากนัก หากทีโอทีไม่ดำเนินการอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรมต่อจากนี้
       
       ทั้งๆ ที่ทีโอทีก็ให้ความหวังกับ MVNO ว่า จะขยายเครือข่าย 3G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศในเร็ววัน แต่แล้วด้วยความล่าช้าในการขยายเครือข่าย 3G ที่ถึงแม้จะมีผู้ชนะการประมูลด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออคชัน) ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการร่วมค้า เอสแอล คอนซอร์เตียม ที่ประกอบไปด้วย บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น บริษัท ล็อกซเล่ย์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) และบริษัท โนเกีย ซีเมนส์ เน็ตเวิร์ก ด้วยตัวเลขต่ำสุด 16,290 ล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เมื่อบอร์ดทีโอทีทยอยลาออกจากตำแหน่งถึง 6 คน ทำให้ทีโอทีมีกรรมการไม่ถึงกึ่งหนึ่งทำให้ไม่สามารถประชุมเพื่ออนุมัติให้ลงนามได้ ส่งผลให้แผนขยายเครือข่าย 3G ของทีโอทีจะต้อง 'รอ' ต่อไป ล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้ว่าประมาณเดือนเมษายนที่จะถึงนี้จะเปิดให้บริการในเฟสแรก
       
       แต่ถึงแม้จะได้มีการลงนามสัญญาขยายเครือข่าย 3G เป็นไปตามแผน 'ทอม' ได้จุดประเด็นถึงความไม่ชัดเจนของแหล่งที่มาของเม็ดเงินที่จะใช้ในการลงทุนครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นจำนวนมหาศาลว่า จะเอามาจากไหน แตกต่างจากกรณีการขยายเครือข่าย CDMAของกสทเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วที่ลงไป 7-8 พันล้านบาท ส่งผลให้กสทตกอยู่ในสภาพย่ำแย่จนต้องยอมกลืนเลือดเพื่อให้องค์กรอยู่รอดด้วยการตัดแทงเป็นหนี้สูญไป แล้วมาเริ่มต้นใหม่กับทรูแทน
       
       'แหล่งเงินที่ทีโอทีมองเพียงแต่ว่า นำรายได้จาก MVNO มาจ่าย ในขณะที่ทีโอทีไม่เคยคุยกับMVNO เลยว่า จะทำอย่างไร ขาดมุมมองทางการตลาดที่จะดึงเม็ดเงินเข้ามา คิดแต่ว่าจะประมูลท่าเดียว แต่ไม่ได้คิดถึงวิธีหาเงินมาจ่าย'
       
       สิ่งเดียวที่ 'ทอม' เห็นว่า รัฐบาลเดินมาถูกทางก็คือ การที่ กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้โมเดลทีโอทีว่าจะต้องทำตัวเป็น 'เน็ตเวิร์กโพรวายเดอร์' หรือผู้ให้บริการโครงข่าย โดยอาศัยศักยภาพทางด้านเครือข่ายโทรคมนาคมของทีโอที แต่ถึงแม้ว่าเดินมาถูกทางแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ 'ทีโอทีกำลังอยู่ในไอซียู' เนื่องจากยังติดวังวนในกรอบความคิดแบบเดิมๆ
       
       ส่วนกรณีที่ทีโอทีเตรียมแผนสำรองระหว่างที่การเซ็นสัญญายังยืดเยื้อออกไป โดยคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาในต่างประเทศมาให้คำแนะนำและวางแผนทางการทำตลาด 3G ในโมเดลMVNO นั้น 'ทอม' กล่าวอย่างหนักแน่นว่า พร้อมให้คำแนะนำฟรีๆ ไม่ต้องเสียเงิน 20 ล้านไปจ้างบริษัทต่างประเทศมาให้คำแนะนำ เพราะต่างประเทศไม่มีวิธีขายซิมการ์ดเหมือนในไทย
       
       ขอเพียงแต่เรียก MVNO เข้าไปพูดคุย ขอให้มีทีโอทีมีแผนแม่บทที่ชัดเจน และขอให้ทีโอทีมอง MVNO เป็นพันธมิตรไม่ใช่บริษัทภายใต้สัมปทาน ในลักษณะเดียวกับที่กสทมองกลุ่มทรูในขณะนี้เท่านั้น 3G TOT ก็มีโอกาสรอด
       
       แต่วิบากกรรมก็ยังไม่หมด เพราะสุดท้าย ยังมีประเด็นทางด้านกฎหมาย ที่ค้ำคออยู่
       
       ตามมาตรา 46 ของพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ที่ระบุว่า ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับอนุญาตจะโอนแก่กันมิได้ โดยต้องประกอบกิจการด้วยตนเองจะมอบการบริหารจัดการทั้งหมดหรือบางส่วนหรือยินยอมให้บุคคลอื่นมีอำนาจประกอบกิจการแทนมิได้ นับเป็นปมสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) รักษาการคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) บางคนท้วงติงถึงการอนุมัติแบบแจ้งความประสงค์ประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทบริการขายส่งบริการและขายต่อบริการ 16 รายว่า เข้าข่ายผลตามมาตรา 46 ทำให้กทช.ตัดสินใจพับเก็บแบบแจ้งความประสงค์ดังกล่าวไว้ในลิ้นชักชนิดไม่ลังเล ทั้งๆ ที่กทช.ลงมติเรียบร้อยแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับ MVNO ทุกรายที่มีอยู่ในประเทศไทย
       
       ทอม ระบุว่า MVNO ทั้ง 5 ราย (สามารถ ล็อกซเล่ย์ ไออีซี เอ็มคอนซัลต์ และ 365) เป็นแค่การเซ็นเอ็มโอยูเท่านั้นไม่ได้เป็นสัญญาแต่ประการใด ซึ่งต้องมีการต่ออายุ MVNO เป็นระยะๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าในอนาคต แต่ละรายจะได้สัญญา MVNO ระยะยาว ในแง่การลงทุนแล้วถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก เพราะไม่มีหลักประกันใดๆทั้งสิ้นสำหรับอนาคต MVNO
       
       หากมองให้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องข้อกฏหมายที่ไม่ชัดเจนในการทำธุรกิจของ MVNO ความไม่ชัดเจนของทีโอทีในรูปแบบการทำธุรกิจร่วมกับ MVNO ความเสี่ยงด้านโครงข่าย 3G TOT ถึงแม้จะประมูลจนให้ผู้ชนะแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ เพราะองค์ประชุมบอร์ดไม่ครบ การแต่งตั้งกรรมการบอร์ดใหม่ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าโครงการจะไม่ถูกรื้อหรือทบทวนใหม่
       
       ทั้งหมดเป็นปัญหาที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเบือนหน้าหนี และท้ายสุด หากทุกปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ววัน คงใกล้ถึงวันอวสาน MVNO 3G TOT ก็เป็นได้
       
       Company Relate Link :
       TOT G


http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9540000035300

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น