อย่าเพิ่งแปลกใจ...หากบนเฟซบุ๊กของเพื่อน ๆ ที่ชอบเล่นเทคโนโลยีจะมีสัญลักษณ์แปลก ๆ ให้คลิกเข้าไปดู นอกจากการอ่านข้อความทั่วไป
อย่างเช่น แอพพลิเคชั่นใหม่ "โพสต์วอยซ์" (Postvoice) ระบบโพสต์ข้อความเสียงอัตโนมัติที่คุณสามารถที่คลิกฟังข้อความเสียงจาก เพื่อน ๆ ได้ทันที
เบื้องหลังบริการนี้ ก็คือ การประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีฝีมือนักวิจัยไทย จากเนคเทค หรือศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เจ้าของระบบเทคโนโลยีสังเคราะห์เสียงพูด ที่มีชื่อเรียกว่า "วาจา"(Vaja)
"ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย" หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยภาษา เนคเทค บอกว่า "โพสต์วอยซ์" (Postvoice) คือบริการล่าสุดของวาจา เวอร์ชั่น 6.0 ที่ให้บริการบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์
เพียงผู้ใช้เข้าไป http://postvoice.vis.in.th เลือกที่โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ พิมพ์ข้อความที่ต้องการสื่อสาร
โพสต์วอยซ์ จะไปแสดงอยู่บนเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ สามารถที่จะกดฟังเป็นการอ่านเป็นข้อความเสียงจากคอมพิวเตอร์ได้ทันที
ดร.ชัย บอกว่า วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกในการอ่าน เช่น กำลังขับรถ แต่หากไม่พอใจเสียงพูดจากคอมพิวเตอร์ บริการนี้ยังพัฒนาเพิ่มเติมให้สามารถอัดเป็นไฟล์เสียงจริงของเจ้าของได้อีก ด้วย โดยให้บริการที่เบอร์คอล เซ็นเตอร์ 0-2524-9222
ช่องทางหลังนี้ไม่เกี่ยวกับ "วาจา" แต่เป็นการส่งไฟล์เสียงทั่วไปเป้าหมายก็เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เกิดภัยพิบัติ กรณีที่การใช้อินเทอร์เน็ตไม่เวิร์ก ก็สามารถที่จะสื่อสารกับเพื่อน ๆผ่านช่องทางนี้ได้เช่นกัน
สำหรับเทคโนโลยีสังเคราะห์เสียงพูด "วาจา" ที่ช่วยแปลงข้อความจากตัวอักษรเป็นเสียงพูดหรือเสียงอ่านได้โดยอัตโนมัติ นั้น ดร.ชัย บอกว่า เนคเทคเริ่มพัฒนาขึ้นมากว่า 14 ปี ปัจจุบันพัฒนามาจนถึงเวอร์ชั่น 6.0 ซึ่งเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ปี 2553 โดยพัฒนาเพิ่มเติมจากวาจา เวอร์ชั่น 5.0
'คิดว่าเวอร์ชั่น 6.0 นี้ เสียงดีพอที่คนจะรับได้ โดยเสียงที่ได้จะราบรื่นไม่มีการสะดุด แต่ละพยางค์มีความยาวเหมาะสมมากขึ้น เว้นวรรคได้ถูกต้องใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้น และแบ่งคำถูกต้องเพิ่มขึ้นจาก 86% เป็น 95%"
"วาจา" เวอร์ชั่นล่าสุดนี้ ถูกนำไปประยุกต์ใช้งานที่หลากหลาย นอกจากบริการโพสต์วอยซ์ บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก แล้วยังถูกนำไปพัฒนาเป็นบริการไอเอเจนต์ ระบบตอบรับอัตโนมัติหรือคอลเซ็นเตอร์ บริการ TVIS ระบบตอบรับโทรศัพท์อัตโนมัติสำหรับการรายงานข้อมูลสภาพจราจรในช่วงเทศกาล ต่าง ๆ บริการ NVIS ระบบอ่านข้อความข่าวสั้นจากแหล่งข่าวต่าง ๆ และบริการ ISAY บริการพื้นฐานสำหรับการแปลงข้อความเป็นเสียงพูดภาษาไทย
นอกจากนี้ยังมีภาครัฐและเอกชนนำเทคโนโลยี "วาจา"ไปให้บริการในองค์กร อาทิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พัฒนาเป็นระบบติดตามดูแลผู้ป่วยเบาหวานผ่านโทรศัพท์มือถือ โรงพยาบาลเทศบาลเชียงใหม่ นำไปประกอบใช้ในระบบเรียกคิวผู้ป่วยในโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยรามคำแหง นำไปใช้ในการสร้างหนังสือเสียงสำหรับเนื้อหาอีเลิร์นนิ่ง
โรงพยาบาลศิริราช นำไปใช้ในการช่วยให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการออกเสียง เรียกว่าไอซียู ทอล์ก สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ใช้เป็นซอฟต์แวร์ที่ทำงานบนเครื่องโทรศัพท์มือถือแบบวินโดวส์ โมบาย เพื่อใช้สร้างเสียงสังเคราะห์จากข้อความต่าง ๆ เรียกว่า พีทอล์ก ปัจจุบันถูกบรรจุอยู่ในเครื่องโทรศัพท์มือถือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อจัดสรรไว้สำหรับอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของนักศึกษาที่บกพร่องทาง สายตา
ส่วน เนคเทค นำมาใช้ในระบบตอบรับโทรศัพท์อัตโนมัติ ที่หมายเลข 0-2524-9200เพื่อให้ข้อมูลงานวิจัยและพัฒนา ตลอดจนข้อมูลองค์กร นอกจากนี้กรมสรรพากรได้ประยุกต์ใช้ในลักษณะเดียวกัน คือ นอกจากให้ข้อมูลข่าวต่าง ๆของกรมด้วยข้อความแล้ว ยังมีคลิปเสียงให้ผู้ใช้สามารถกดเพื่อฟังแทนการอ่านได้
สำหรับเวอร์ชั่นต่อไปหรือวาจา 7.0 ดร.ชัย บอกว่า ตั้งเป้าการอ่าน 2 ภาษา ทั้งไทยและอังกฤษที่ใกล้เคียงเสียงมนุษย์มากที่สุด คาดว่าจะสามารถเห็นได้ภายในปี 2555
ส่วนการพัฒนา "เสียงที่มีอารมณ์" ดร.ชัย บอกว่า เป็นงานวิจัยระยะยาวไม่ต่ำกว่า 5 ปี โดยงานวิจัยดังกล่าวจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าประโยคไหน ควรพูดเสียงอย่างไร
ปัจจุบันวาจาเวอร์ชั่น 6.0 เปิดให้บริการใน 2 รูปแบบ คือ แบบอิสระ ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดไปใช้งานในเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเองได้ที่ http://vaja.nectec.or.th/ และแบบให้บริการผ่านเว็บหรือที่เรียกว่าเว็บ เซอร์วิส ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสามารถเรียกใช้บริการผ่านเว็บได้โดยไม่ต้องติด ตั้งซอฟต์แวร์บนเครื่อง ซึ่งเนคเทคได้ร่วมมือกับ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลบริการ ในการนำไปต่อยอดทางธุรกิจ
สนใจ...อยากให้คอมพิวเตอร์พูดแทนคุณ ต้องลองเข้าไปใช้ดู!!!
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=478&contentID=132460
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น