ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"

ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

ตัวอย่างที่ดี(ยัง)มีค่ากว่าคำสอน วัย 60 กว่า ของ ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา

ตัวอย่างที่ดี(ยัง)มีค่ากว่าคำสอน วัย 60 กว่า ของ ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 เมษายน 2554 18:19 น.
       แม้วันนี้ ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา จะกลายเป็นอดีตผู้บริหารหลายหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการไปแล้ว หลังจากที่ขอเกษียณตัวเองก่อนกำหนด ในตำแหน่งสุดท้ายคือ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ภารกิจในการทำงานเพื่อสังคมก็ใช่ว่าจะลดน้อยลงไป
       
       เพราะคุณหญิงยังคงสวมหมวกหลายใบ ทั้งในตำแหน่ง ประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก, รองประธานมูลนิธิคุณพุ่ม, คณะกรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษา, คณะกรรมการกฤษฎีกา, คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และงานการกุศลอีกมากมาย ตลอดจนการเป็น 1 ใน 19 คน ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ที่มีอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ซึ่งในหนึ่งอาทิตย์จะต้องใช้เวลาประชุมอย่างเข้มข้นนับ 10 ชั่วโมง
       
       ดร.คุณหญิงกษมา เป็นบุตรีเพียงคนเดียวของ ศาสตราจารย์นายแพทย์กษาน จาติกวณิช อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชและอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กับ ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวณิช นายกสมาคมติดตามการพัฒนาสตรีไทย เป็นหลานปู่ของ พลโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ
       
       ตลอดช่วงชีวิตของการทำงานรับราชการนั้น ถือได้ว่าคุณหญิงเป็น working woman ที่ทำงานอย่างหนัก ดังนั้น เมื่อชีวิตเดินทางมาถึงวัยเกษียณ จึงกลายเป็นช่วงเวลาที่คุณหญิงบอกว่าผ่อนคลายที่สุด แม้จะยังไม่ทิ้งภาระกิจในการทำงานเพื่อสังคมไปทั้งหมดก็ตาม เพราะได้มีโอกาสใช้เวลาอยู่กับครอบครัว เพื่อนฝูง และทำในสิ่งที่ขาดหายไปในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา
       
       "ได้เดินทางไปเที่ยวกับครอบครัว และเพื่อนๆ ในที่ต่างๆ เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่เคยได้ทำเลย ซึ่งเมื่อก่อนเวลาที่คนอื่นเขาเดินทางไปเที่ยวไหนกัน เราก็ได้แต่ดูรูป"

       แต่ที่เป็นความสุขที่สุด เห็นจะเป็นการได้ทำหน้าที่คุณย่าเลี้ยง น้องโซดา-ด.ญ.นภกร วรวรรณ หลานสาววัย 1 ขวบ 7 เดือน ที่มาทำให้คนวัย 60 กว่าปีเช่นคุณหญิง ลืมคำว่าแก่และสูงวัยไปทันใด
       
       "คนส่วนใหญ่เห็นว่าว่างก็มักจะเชิญให้ไปพูด ไปบรรยาย รับปากไปรับปากมาจนคิวเต็มหมด จนเดี๋ยวนี้ต้องล็อคเวลาเอาไว้ก่อนล่วงหน้า ว่าต้องเลี้ยงหลาน
       
       เพราะหนึ่งอาทิตย์อยากมีเวลาอยู่กับเขาสัก 3 วัน เขาจะได้คุ้นเคยกับเรา เพราะไม่งั้นเวลาที่คุณพ่อคุณแม่เขาไม่ว่าง เอามาฝากไว้กับเรา จะได้ไม่รู้สึกว่าเราเป็นคนแปลกหน้า ตอนนี้ก็สบายแล้ว เพราะเวลาที่มาที่นี่เขาไม่ร้องไห้ ไม่งอแง"
       
       คุณหญิงหมายถึงบ้าน ยุกตะเสวี บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งตกทอดมาจากคุณตา หลวงยุกตะเสวีวิวัฒน์ และคุณหญิงได้ย้ายมาอยู่ชั่วคราวกับคุณแม่ ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช  เพราะบ้านที่ย่านเพลินจิตกำลังรื้อสร้างใหม่ เพื่อทำเป็นอพาร์ตเมนต์

       หลานสาวตัวน้อยไม่เพียงมาเติมเต็มความสุขให้กับชีวิตหลังเกษียณ แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้คุณหญิงเขียนนิทานภาพเรื่อง หิวจัง หิวจัง หนังสือเล่มแรกในวาระ 10 ปีของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ที่ถูกตีพิมพ์ออกมาทันวางจำหน่ายใน งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 39 ที่ผ่านมา และทำให้ความฝันที่อยากมีผลงานเขียนเป็นของตัวเองสักเล่ม ของอดีตนักศึกษา ปริญญาเอก สาขา Educational Planning มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เช่นคุณหญิง เป็นจริงขึ้นมาได้
       
       "ดิฉันได้เติบโตมาในครอบครัวที่คุณแม่ส่งเสริมให้อ่านหนังสือ คุณแม่อ่านหนังสือให้ฟังตั้งแต่เล็ก แล้วก็มีหนังสือให้อ่านเยอะแยะ ตอนที่เข้ามหาวิทยาลัยตั้งใจว่า พอจบแล้วจะเขียนหนังสือเด็ก แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้เขียน
       
       ในช่วงเวลาที่รับราชการก็พยายามจะเขียน เพราะได้พบเด็กเยอะมาก มีความรู้สึกว่าชีวิตของเด็กมันน่าสนใจ น่าตื่นเต้นยิ่งกว่านวนิยายอีก อยากจะเขียนเรื่องราวของชีวิตที่เขาต้องต่อสู้ ทำความดี แต่พอเขียนแล้วมันมีสาระมาก คนที่อ่านเขาบอกว่า เหมือนรายงานของทางราชการ สิ่งที่เคยเขียนไว้ก็เลยยังวางๆ อยู่ ไม่สำเร็จออกมาเป็นรูปเล่ม
       
       จนพอมาเป็นประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก เพื่อนๆ ก็เห็นว่า ประธานคนนี้แหละที่ควรจะทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี เขียนหนังสือเพื่อจำหน่ายหาทุนมาช่วยมูลนิธิ ก็เลยลองเขียนดู แต่เขียนมา 4-5 เล่ม ก็ไม่ผ่านเลยสักเล่ม เพราะยังเป็นภาษาราชการเหมือนอย่างที่ว่า
       
       พอมาเลี้ยงหลาน ตอนนั้นเขาอายุ 4-5 เดือน เลยลองเขียนอีกครั้ง โดยเริ่มจากสิ่งที่เราสังเกตเห็นว่าเด็กเขาสนใจ หรืออยากจะฟังอะไร เวลาที่หลานหิว อุ่นนมให้ไม่ทัน เขาก็มักจะร้องไห้งอแง ดิฉันจึงอุ้มเขาไปเดินอยู่หน้าบ้าน ปลอบเขาว่า ไม่ต้องร้องไห้ แมวก็หิว นกก็หิว ก็เลยเป็นที่มาของชื่อเรื่อง หิวจัง หิวจัง"

       คุณหญิงบอกว่า ใช้เวลาในการเขียนนิทานเรื่องนี้ไม่นาน ซึ่งสิ่งที่เขียนเป็นเรื่องราวของ เด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เลี้ยงสัตว์ต่างๆ ไว้ แล้วลืมให้อาหาร ปล่อยให้หิว
       
       "จริงๆ ไม่ได้คิดจะสอนอะไรเลย เผอิญว่าหลานชอบเลียนเสียงของสัตว์ ก็เลยแอบสอนว่าสัตว์แต่ละตัวมีเสียงอย่างไร และอยากจะปลูกฝังว่าเด็กๆ จะต้องดูแลสัตว์เลี้ยงของตัวเองให้ดี ไม่ใช่ว่าเลี้ยงไว้เล่นเฉยๆ แต่ต้องมีความรับผิดชอบที่จะดูแลให้อาหารมันด้วย"
       
       แน่นอนว่า "หิวจัง หิวจัง" จะไม่ใช่ผลงานเขียนเล่มสุดท้ายของคุณหญิงอย่างแน่นอน เพราะคุณหญิงยังมีเรื่องเกี่ยวการศึกษาอีกหลายเรื่อง ที่อยากจะเขียนด้วย เพราะเห็นว่าสังคมยังมีความเข้าใจผิดกันอยู่เยอะ และอีกไม่นาน ลูกชายและลูกสะใภ้ (ม.ล.วรุตม์-นิศากร วรวรรณ) ก็กำลังจะมีหลานคนใหม่มาให้ช่วยดูแล ซึ่งถึงเวลานั้นคุณหญิงน่าจะได้รับแรงบันดาลใจอื่นๆ อีกมากมาย จากการที่ได้ใกล้ชิดและดูแลหลานๆ มาถ่ายทอดเป็นตัวหนังสืออีก
       
       "ตอนนี้ก็พยายามจะเขียนหนังสือชื่อ ย่า ยาย เลี้ยงหลาน พอดีมีเพื่อนรัก 5 คน ที่มีหลานในวัยเดียวกันหมดเลย ดิฉันอยากจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับหลานของตัวเอง ไปแลกเปลี่ยนกับทุกคน และอยากให้มันเป็นหนังสือที่สะท้อนว่า ย่า ยาย มีมุมมองในการเลี้ยงหลาน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร รวมทั้งจะพยายามสอดแทรกเนื้อหาสาระใส่ไปด้วย"
       
       คุณหญิงเล่าถึงความคืบหน้าของหนังสือเล่มใหม่นี้ว่า ตอนนี้เขียนจบไปแล้วหนึ่งบท ที่มาของแรงบันดาลใจมีอยู่ว่า วันหนึ่งลูกสะใภ้มาเล่าให้ฟังว่า ลูกของเพื่อนๆ ต่างรู้จักสีทุกสีกันหมดแล้ว ด้วยความที่คุณหญิงเป็นกังวลกับน้องโซดา ที่ตอนนั้นยังไม่รู้จักสีครบทุกสี จึงพยายามสรรหาสื่อต่างๆ มากระตุ้นพัฒนาการทุกวิถีทาง ไม่นานน้องโซดาก็ได้เรียนรู้เรื่องสีสมความตั้งใจดีของคุณย่า ทว่า สื่อที่ใช้ได้ผลกลับไม่ใช่สื่อที่ไหนอื่นไกล แต่มีอยู่ที่ตัวของคุณย่า ที่หลานสาวสามารถสังเกตเห็นได้ในระยะประชิด ในยามที่คุณย่าอุ้มน้องโซดาขึ้นกอดและหอมแก้มนั่นเอง
       
       "วันหนึ่งเท้าของเขาดำ เพราะเขาย่ำเล่นอยู่ในบ้าน ด้วยความที่ดิฉันอยากสอนสีดำให้เขา ก็เลยบอกเขาว่าเท้าดำมาก เขาก็เลยเริ่มรู้ว่าสีดำเป็นอย่างไรและพลิกเท้าของตัวเองขึ้นมาดู
       
       ต่อมาเช้าวันหนึ่ง ดิฉันตื่นขึ้นมาแล้วหน้าก็ยังไม่ได้แต่ง มองเห็นว่ามีฝ้าเต็ม พอเขาเห็นก็เอากระดาษมาเช็ด แล้วบอกว่า ดำ ดำ เขาก็เลยรู้จักสีดำเป็นอย่างดี นับตั้งแต่วันนั้น (หัวเราะ) และตอนนี้เขารู้จักสีทุกสีหมดแล้ว เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่สนุก และดิฉันเชื่อว่า ย่า และยายคนอื่นๆ ก็ต้องมีเหมือนๆ กัน"

       

       ผ่านช่วงเวลาที่ต้องดูแลลูกๆ หลานๆ ของคนทั่วประเทศมาแล้วมากมาย ในฐานะนักการศึกษาน้ำดี ที่เคยได้รับการการันตีว่า "เข้มแข็งเกินหญิง แกร่งเกินชาย" คือเมื่อดูภายนอกเป็นหญิงที่สดใส สวยงามเหมือนดอกไม้ แต่ภายในจิตใจแล้วเข้มแข็ง กล้าแกร่งพร้อมที่จะเดินไปหาปัญหาและแก้ไขทุกเรื่อง โดยเฉพาะ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียนและครู ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใด
       
       ครั้นพอเปลี่ยนบทบาทมาเป็นคุณย่าเลี้ยงหลาน ไม่เพียงจะต้องลดวัยลงมาเป็นเพื่อนเล่นกับหลาน และเข้าใจหลานให้มากขึ้น ดังเช่นที่คุณหญิงได้เห็นแบบอย่างจาก ท่านผู้หญิงสุมาลี วัย 79 ปี ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 54
       
       สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่คุณหญิงเห็นว่าผู้ใหญ่ทุกคนในวัยเลี้ยงหลานต้องไม่ละเลยด้วยเช่นกัน คือการเป็นต้นแบบที่ดีให้กับหลานตัวน้อย เพราะทุกสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดและทำนั้น เด็กๆ ย่อมเลียนแบบ
       
       "ดิฉันคิดว่าคุณแม่ ท่านเป็นตัวอย่างของคนที่เล่นกับหลานเหมือนวัยเดียวกันเลย ท่านอายุจะ 80 ปีแล้ว ยังเล่นมุดใต้โต๊ะกับหลานๆ พอเล่นเสร็จแล้วก็เกิดอาการเคล็ดขัดยอก (หัวเราะ) แล้วหลายๆ คนในบ้านก็เล่นกับเขาเหมือนวัยเดียวกันหมดเลย เวลานี้เขาจึงมีเพื่อนเล่น 5 คน ที่ประกอบด้วย คุณทวด คุณปู่ (ม.ร.ว.ชาญวุฒิ วรวรรณ) คุณย่า พ่อและ แม่
       
       สรุปคือ เวลาที่เราอยู่กับเด็กเราต้องลดอายุลงไปให้เท่าเขา แล้วการสอนที่ดี ก็คือการเป็นตัวอย่างให้เห็น อย่างเช่น เวลาที่เราสอนให้เขาไหว้ หรือสอนให้ขอบคุณ เราสอนด้วยการบอกให้เขาพูด เขาก็อาจจจะไม่ฟัง แต่พอเวลาที่เขาเห็นคนเอาของมาให้ดิฉัน แล้วดิฉันกล่าว ขอบคุณค่ะ เขาก็มักจะขอบคุณค่ะ ตามเรา และทำท่าทางเหมือนกับเรา เพราะเขาเห็นเราเป็นตัวอย่างนั่นเอง ฉะนั้น เราซึ่งเป็นผู้ใหญ่จึงต้องใช้ชีวิตให้ระมัดระวัง เดินเหินอะไรก็ต้องเรียบร้อย เพราะเราเป็นต้นแบบของเขา"
       
       นับเป็นอีกบทบาทของ ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ที่ย้ำเตือนให้เราเชื่อว่าทุกภาระกิจที่ทำต้อง "เต็มที่" และ "ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน" 
       
       Text by   ฮักก้า และ นับดาว รัตนสูรย์
       Photo by ไชยวัฒน์  สมพรมทิพย์

http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9540000044151




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น