สบท.จี้ค่ายมือถือหาเบอร์กลางแก้ปัญหายกเลิกเอสเอ็มเอสง่าย
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สบท.จี้ค่ายมือถือหาเบอร์กลางแก้ปัญหายกเลิกเอสเอ็มเอสง่าย
สบท. จี้ 5 ค่ายมือถือหาเบอร์กลางจำง่าย ใช้ได้ทุกค่าย ให้ผู้บริโภคยกเลิกเอสเอ็มเอส หวังแก้ปัญหาเอสเอ็มเอสสมัครง่าย ยกเลิกยาก
ระบุคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ส.ว. เตรียมเรียกประชุมผู้ให้บริการหาข้อสรุป 20 เม.ย.
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) กล่าวว่า สบท. ได้เชิญผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 5 รายใหญ่ ที่เป็นผู้ให้เช่าช่องทางการส่งเอสเอ็มเอสแก่บริษัทผู้ให้บริการเนื้อหาร่วมหารือความเป็นไปได้ในการกำหนดรหัสกลางสำหรับยกเลิกเอสเอ็มเอสง่าย ขึ้น ซึ่งทุกรายเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่เห็นควรให้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อหารือรายละเอียดด้านเทคนิค ขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ รวมถึงการกำหนดหมายเลขกลางที่เหมาะสมและไม่ซ้ำซ้อนกับหมายเลขโทรคมนาคมที่ อยู่ในกำกับของสำนักงาน กสทช. อยู่แล้ว
สบท. จะนำข้อสรุปที่ได้จากการหารือไปแจ้งต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้ บริโภค ที่เตรียมเรียกผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกรายไปร่วมประชุม และหารือวันที่ 20 เม.ย.นี้
"ชอต โค้ด ไม่ใช่ระบบฐานข้อมูลกลาง เป็นเพียงเบอร์กลางที่ให้ผู้บริโภคจำง่ายๆ ว่า ในประเทศไทย ถ้าจะยกเลิกเอสเอ็มเอสต้องยกเลิกที่เบอร์ไหน แล้วเชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการ ซึ่งแต่ละรายต้องไปจัดการฐานข้อมูลกันเอง"
ทั้งนี้ ปัญหาเอสเอ็มเอสที่ผู้บริโภคยังได้รับความเดือดร้อน คือ เอสเอ็มเอสที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม และเอสเอ็มเอสขยะ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อให้จัดการปัญหาการเชิญชวนดาวน์โหลดภาพโป๊และคลิปลามก และยังมีหน่วยงานวิจัยแห่งหนึ่งกำลังศึกษาเรื่องการพนันผ่านเอสเอ็มเอส ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมต้องเร่งแก้ปัญหาบริการเอสเอ็มเอสที่ผู้บริโภคได้รับทั้งที่ไม่ได้สมัคร และต้องหาเร่งช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถยกเลิกเอสเอ็มเอส ที่ไม่ต้องการได้โดยง่าย เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ผู้ให้บริการก็จะกลายเป็นจำเลยของสังคม
เขา กล่าวด้วยว่า ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ. กสทช.) มาตรา 31 วรรค 2 กำหนดว่า กรณีที่ผู้ให้บริการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยเครือข่าย หรือการโฆษณาในลักษณะค้ากำไรเกินควร หรือทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ กสทช. มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการดำกล่าวได้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาส่วนที่ไปรบกวนผู้บริโภค และยังมีบทกำหนดโทษในมาตรา 77 ว่า ถ้า กสทช. สั่งแล้วตามมาตรา 31 วรรค 2 ไม่ปฏิบัติตาม มีอำนาจปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท หรือวันละไม่เกิน 1 แสนบาท ตลอดเวลาที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ผู้ให้บริการ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น