ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"

ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2554

ดร.นันทวัฒน์ ชำแหละ"คมดาบใหม่"ป.ป.ช. สิ่งที่น่ากลัวคือ การใช้อำนาจ !!!

ดร.นันทวัฒน์ ชำแหละ"คมดาบใหม่"ป.ป.ช. สิ่งที่น่ากลัวคือ การใช้อำนาจ !!!

วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 15:40:18 น.

Share




เมื่อไม่นานมานี้   "มติชนออนไลน์" ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ของ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ   เรื่อง มาตรการที่น่าสนใจในกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่" ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง    และคาดว่า อีกไม่นาน ร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับแก้ไขใหม่ ที่กล่าวกันว่า เป็นการติดดาบ ให้กับเสือกระดาษ ครั้งสำคัญ จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

 

 ประเด็นที่สำคัญคือคนทั่วไป แทบไม่รู้สาระสำคัญของ คมดาบใหม่  ขณะที่ ป.ป.ช. เองก็แทบไม่ได้ ขยายความให้คนได้รับรู้อำนาจใหม่ของป.ป.ช.

  

 

ล่าสุด ดร.นันทวัฒน์   วิเคราะห์กฎหมายป.ป.ช. ฉบับใหม่ ตอน 2   ผ่านบทบรรณาธิการเว็ปไซต์กฎหมายมหาชน www.pub-law.net   "มติชนออนไลน์" นำเนื้อหา มานำเสนอดังนี้ 
  
  เพิ่มอำนาจให้กับ ป.ป.ช. มากเกินไปหรือไม่


 "  ผมเห็นว่า เนื้อหาสาระบางส่วนของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาและศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วมานำเสนอ ปรากฏว่าได้รับความสนใจและมีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากเพราะกฎหมาย ป.ป.ช. นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกับนักการเมืองแต่เพียงอย่างเดียวแต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของประชาชนที่จะนำมาใช้ในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมืองและนอกจากนี้แล้ว สิ่งใหม่ ๆ ที่อยู่ในร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ที่ได้นำเสนอไปก็เป็นสิ่งที่ “น่ากลัว” ที่หลาย ๆ ฝ่ายต่างวิตกว่าจะเป็นดาบสองคมที่ไม่ใช่เฉพาะการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันแต่เพียงอย่างเดียวแต่เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับ ป.ป.ช. มากเกินไปหรือไม่ด้วยครับ !!!"


3 เรื่องใหญ่ที่ใส่เข้ามาในกฎหมายป.ป.ช.

            

 

ครั้งนี้ ผมจะขอนำเอาสาระสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่มานำเสนอ โดยผมจะขอกล่าวถึงหมวด 9/1 การส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตซึ่งประกอบด้วยบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นมาใหม่รวม 8 มาตราด้วยกัน บทบัญญัติทั้ง 8 มาตรานี้นอกเหนือไปจากการ “เพิ่มอำนาจ” ให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. อย่างมากในหลาย ๆ กรณีแล้วยังเป็นบทบัญญัติที่ผมมองว่า น่าจะเป็นอีกความพยายามหนึ่งที่จะแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยที่แก้กันไม่รู้กี่ปีแล้วก็ไม่หมดสิ้นไปเสียทีแถมดู ๆ แล้วน่าจะมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไปครับ  บทบัญญัติในหมวด 9/1 สามารถแบ่งได้เป็น 3 เรื่องใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ การคุ้มครองผู้ร่วมมือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. และการตอบแทน  ความพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจัดซื้อจัดจ้างและความโปร่งใสในการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
                   
การคุ้มครองผู้ร่วมมือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. และการตอบแทน

 

 

ในเรื่องแรกคือเรื่อง การคุ้มครองผู้ร่วมมือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. และการตอบแทนนั้น สามารถแยกออกได้เป็น 2 เรื่องคือ เรื่องการคุ้มครองกับเรื่องการตอบแทน ผมขอเริ่มที่เรื่องของการคุ้มครองก่อนโดยในร่างมาตรา 103/2 ที่เป็นมาตราแรกของหมวดที่ 9/1 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองผู้ร่วมมือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยได้ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไว้ในวรรคแรกที่จะต้องแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีมาตรการในการคุ้มครองความช่วยเหลือแก่ผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำหรือผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ การร่ำรวยผิดปกติหรือข้อมูลอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. โดยให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นพยานที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญา


โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถเสนอความเห็นประกอบไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวได้ด้วยว่า สมควรใช้มาตรการทั่วไปหรือมาตรการพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญา ส่วนในวรรคสองของร่างมาตรานี้ก็เป็นบทบัญญัติที่มีขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้ที่ได้รับความเสียหายอันเกิดจากการดำเนินการหรือการให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่ามีสิทธิยื่นคำร้องต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อขอรับค่าตอบแทนเท่าที่จำเป็นและสมควรตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญา

 

 

บทบัญญัติในร่างมาตรา 103/2 วรรคสองนี้เองจึงเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องและมีลักษณะคล้ายกับการคุ้มครองพยานในคดีอาญาแต่ขยายความให้กว้างออกไปอีกโดยให้ครอบคลุมถึงผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำหรือผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลของการทุจริตต่อหน้าที่ การร่ำรวยผิดปกติหรือข้อมูลอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
  

เปิดโอกาสให้ผู้ที่ “กลับตัวกลับใจ”  “รอด” คุก             

 

 

 ร่างมาตรา 103/6 ก็เป็นอีกร่างมาตราหนึ่งที่เกี่ยวกับการคุ้มครอง โดยบัญญัติไว้ว่า บุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหา หากได้ให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญในการที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยชี้มูลการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐและคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรกันผู้นั้นไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดีก็สามารถทำได้


บทบัญญัติในร่างมาตรานี้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ “กลับตัวกลับใจ” ในภายหลังมีโอกาส “รอด” จากการติดคุก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นบทบัญญัติมุ่งมั่นที่จะ “เอาผิด” กับเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเต็มที่  ส่วนมาตราสุดท้ายที่กล่าวถึงการคุ้มครองก็คือ ร่างมาตรา 103/5 ซึ่งเป็นมาตราเสริมอีกประการหนึ่งที่จะให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะเข้ามามีส่วนช่วยในการปราบปรามการทุจริตก็คือ หากบุคคลผู้ร่วมมือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามร่างมาตรา 103/2 วรรคแรกที่ผมได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลนั้นร้องขอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าถ้ายังทำงานอยู่ที่เดิมอาจถูกกลั่นแกล้งหรือได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะมีเหตุดังกล่าวจริงก็สามารถเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้ได้รับความคุ้มครองหรือจัดให้มีมาตรการอื่นที่สมควรต่อไป
                  

ในส่วนที่เกี่ยวกับการตอบแทนนั้นมีอยู่สองมาตราที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าว มาตราแรกคือร่างมาตรา 103/3 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะจัดให้มีเงินสินบนแก่ผู้ชี้ช่อง ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกตรวจสอบ รวมทั้งตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งจัดให้มีรางวัลตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลตามร่างมาตรา 103/2 วรรคแรกที่กล่าวไปแล้วข้างต้น


ส่วนอีกมาตราหนึ่งคือร่างมาตรา 103/4 ก็ได้ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือระดับตำแหน่งให้แก่บุคคลที่ดำเนินการตามร่างมาตรา 103/2 วรรคแรกที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าการดำเนินการหรือการให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลของบุคคลผู้นั้นเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นอย่างยิ่งและสมควรได้รับยกย่องให้เป็นแบบอย่างแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนทั่วไป
                  
ป้องกันทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง  ต้องเปิดให้ประชาชนตรวจสอบได้

 

 

ในเรื่องที่สองคือเรื่องของความพยายามที่จะแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐนั้น เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นในวงราชการที่เป็นที่ทราบกันดีแต่ก็ไม่เคยแก้ปัญหาได้แม้ว่าจะมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหานี้กันมาโดยตลอดเพราะหากแก้ปัญหานี้ได้ เราจะมีเงินเหลือพัฒนาประเทศอีกมากเพราะการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้นดำเนินการอยู่ทุกวันทั่วประเทศวันหนึ่งไม่รู้กี่ราย หากการจัดซื้อจัดจ้างทุกรายการเป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องและตรวจสอบได้ ไม่มีการสมยอมกัน ราชการก็จะได้ของดีที่สุดและราคาถูกที่สุดสมดังเจตนารมณ์ของการมีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ


ด้วยเหตุนี้เองที่ร่างมาตรา 103/7 วรรคแรกได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจดูได้


ด้วยวิธีการนี้เองที่หากมีผู้ใดเข้าไปตรวจดูแล้วพบว่า ราคาวัสดุอุปกรณ์และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างมีลักษณะ “ผิดปกติ” หรือไม่เท่ากันในหลาย ๆ ที่ผู้นั้นก็สามารถดำเนินการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้คิดคำนวณหรือผู้ให้ความเห็นชอบตามรายชื่อที่ปรากฏอยู่ในข้อมูลดังกล่าวต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ โดยในเรื่องดังกล่าวได้มีการกำหนดกรอบไว้ในร่างมาตรา 103/8 ว่าให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างให้เสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการโดยหากหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตาม ให้ถือว่าผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องมีความผิดทางวินัยและเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งหรือต้องพ้นจากตำแหน่งแล้วแต่กรณี 


ส่วนในวรรคสองของร่างมาตราดังกล่าวก็ได้กำหนดให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐต้องแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐต่อกรมสรรพากรนอกเหนือไปจากบัญชีงบดุลปกติที่ยื่นประจำปี โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายเงินและแสดงการคำนวณภาษีเงินได้ในโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ
                 


 มากไปกว่านั้น ในวรรคสามของร่างมาตรา 103/7 ยังได้ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะประสานงานและสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินหรือการชำระภาษีเงินได้ของบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ  ส่วนในวรรคท้ายของร่างมาตรา 103/7 ก็เป็นบทบัญญัติกว้าง ๆ ที่ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในส่วนของการดำเนินการเพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่จะกำหนดมาตรการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐรับไปปฏิบัติได้ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการแล้วรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ
                 

 เรื่องสุดท้ายที่จะขอนำมาเล่าให้ฟังก็คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสในการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่บัญญัติไว้ในมาตราสุดท้ายของหมวด 9/1 คือ ร่างมาตรา 103/9 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปิดเผยกระบวนการและขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้โดยจะต้องจัดให้มีข้อมูลเหล่านั้นไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน ป.ป.ช.
                

  มาตรการใหม่ ๆ ทั้งหมดที่อยู่ในหมวด 9/1 นี้สามารถแยกออกได้เป็นสามเรื่องสำคัญ ๆ ด้วยกัน  เรื่องแรกเป็นเรื่องการคุ้มครองผู้ที่เข้ามาหา ป.ป.ช.  รวมไปถึงการตอบแทนผู้ที่เข้ามาหา ป.ป.ช. ด้วย  เรื่องต่อมาเป็นเรื่องการกันผู้ที่ให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช. ไว้เป็นพยาน  และเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องความพยายามอีกครั้งหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
                 

ผู้เกี่ยวข้อง ปั่นป่วน  ไม่มากก็น้อย !!!


 ทั้ง 3 เรื่องนี้คงสร้างความ “ปั่นป่วน” ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในร่างมาตรา 103/7 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างที่หน่วยงานของรัฐทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการจ้างก่อสร้าง การจัดจ้างที่ปรึกษา การจัดจ้างทำงานวิจัย การจ้างควบคุมงาน การจ้างออกแบบ การจ้างที่ปรึกษาพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์และการจัดซื้อจัดจ้างอื่น ๆ ที่มิใช่งานก่อสร้าง โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องทำการเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง


 เช่น วงเงินงบประมาณที่จะจ้าง ค่าตอบแทนบุคลากร ค่าวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งรายชื่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการกำหนดราคาต่าง ๆ ทั้งหมดให้ประชาชนตรวจสอบ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะทำให้หน่วยงานของรัฐต้องให้ความระมัดระวังกับการจัดทำข้อมูลพื้นฐานเหล่านั้นเป็นอย่างมากเพราะหาก “ราคากลาง” มีความแตกต่างไปจาก “ราคาจริง” มากเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ในหลาย ๆ โครงการ


 นั่นก็หมายความว่า เกิดความไม่โปร่งใสขึ้นในการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว และคนที่จะไปตรวจสอบรายละเอียดดังกล่าวกลุ่มแรกก็คือผู้ที่ “แพ้ประมูล” นั่นเองครับ งานนี้ต้องเตรียมตัวเตรียมใจกันไว้ให้ดีเพราะคงมีการกล่าวหาตามมามากมายในแทบจะทุกโครงการก็ว่าได้ครับ
                

  แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวคงไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น การที่ร่างกฎหมายให้อำนาจกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อบังคับใช้มาตรการเหล่านั้น รวมไปถึงการให้อำนาจกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. อย่างมากในหลาย ๆ กรณี ก็เป็นสิ่งทีผู้ใช้อำนาจต้องให้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากด้วยเช่นกันเพราะหากการใช้อำนาจเหล่านั้นไม่ชัดเจน สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะต้องได้รับผลกระทบอย่างมากด้วยเช่นกัน
          

                              http://matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1302759812&grpid=01&catid=00

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น