ยึดมหา'ลัยดังขายวุฒิปลอม
วันเสาร์ ที่ 16 เมษายน 2554 เวลา 0:34 น
"ไชยยศ" สั่งตั้งทีมเข้าบริหารม.ขายวุฒิปลอม เตรียมส่งข้อมูลอีกชุดให้ดีเอสไอฟัน เผยนักการเมือง"ป"นั่งเป็นนายกสภา
ความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการซื้อขายใบประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิตวิชาชีพครู) ของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เมื่อวันที่ 15 เม.ย. นายไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ ตนได้สั่งการให้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. ทำการประชุมตั้งคณะกรรมการควบคุมขึ้น เพื่อทำหน้าที่แทนกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยจะมีสิทธิทุกประการในการทำหน้าที่บริหารจัดการมหาวิทยาลัย คล้ายการเข้าไปเทกโอเวอร์ แต่จะยังไม่มีการควบคุมในส่วนการเงินของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ในกรณีที่มีการเบิกจ่ายก็จะต้องแจ้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวที่กำลังจะตั้งขึ้นด้วย ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบกรณีขายใบวุฒิปลอมที่เกิดขึ้น ตลอดจนเพื่อให้คณะกรรมการได้จัดระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยเพื่อเยียวยานักศึกษาที่ได้รับผลกระทบทั้ง 1,345 คน และเพื่อปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยให้มีมาตรฐานมากขึ้นด้วย
"การแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ชุดนี้ จะคล้ายกับการเข้าไปถอดถอนสภามหาวิทยาลัย เพราะสามารถใช้อำนาจหน้าที่ด้านการบริหารจัดการทั้งหมดให้อยู่ภายใต้คณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งเข้า เว้นแต่จะไม่เข้าควบคุมเรื่องการเงิน ซึ่งที่ผ่านมาการตั้งกรรมการควบคุม เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนเมื่อพบเหตุผิดปกติ และดำเนินการมาแล้วในหลายมหาวิทยาลัย โดยผลของการตั้งกรรมการควบคุม แบ่งเป็น 2 ทาง คือ ถ้าเห็นว่าบริหารได้ก็จะคืนอำนาจดังกล่าวให้กับมหาวิทยาลัย ที่ผ่านมาได้แก่ ม.เวสเทิร์น และ ม.สยาม และแนวทางที่สองหากเห็นว่าเกินเยียวยา ก็จะเพิกถอนใบอนุญาตมหาวิทยาลัยนั้น ตัวอย่างเช่น ม.สกลนคร ถูกเข้าควบคุมเนื่องจากกรณีการขายใบปริญญาปลอม ซึ่งมีนักการเมืองเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน" รมช.ศธ. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้มีนักการเมืองรายใดที่มีส่วนเกี่ยวข้อง นายไชยยศ กล่าวว่า ตามที่ปรากฎรายชื่อคืออดีตรัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวง อักษรย่อ ป. ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย ส่วนอธิการบดีคนปัจจุบัน มีนามสกุลตรงกับนักการเมืองผู้ใหญ่บางคน ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไร ทั้งนี้ยืนยันว่าการที่ปรากฎชื่อนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้ส่งผลต่อการติดตามคดีแต่อย่างไร ซึ่งตนได้กำชับ สกอ.แล้วว่ากรณีนี้ต้องทำเป็นคดีตัวอย่าง คือให้ดำเนินการไปจนถึงที่สุด
เมื่อถามว่าจะสามารถเอาผิดกับนักการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้หรือไม่ นายไชยยศ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าผลการตรวจสอบที่ออกมา ทางมหาวิทยาลัยจะมีการตัดตอนความผิดถึงระดับไหน แต่เบื้องต้นผู้ทำหน้าที่กรรมการมหาวิทยาลัยจะต้องมีความผิดมาตรา 157ตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามความคืบหน้าต่อกรณีดังกล่าวนี้ยังไม่ได้รับการแจ้งข้อมูลเพิ่มเติม แต่มีนักศึกษา 1 รายที่เข้าให้ข้อมูลว่าได้มีการซื้อปริญญาจากมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในเขตปริมณฑล ขณะนี้จึงสั่งให้มีการตรวจสอบแล้ว
ด้าน นายองค์กร อมรสิรินันท์ เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า ตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตนเองและคณะทำงาน ได้ลงตรวจสอบในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย ทั้งอาจารย์สอนหลักสูตร ป.บัณฑิตวิชาชีพครู และครูที่สารภาพว่าซื้อวุฒิ ป.บัณฑิตวิชาชีพครู เพื่อรวบรวมข้อมูล เพิ่มเติมส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการในวันที่ 18-19 เม.ย.นี้ รวมถึงจะต้องตรวจสอบ มหาวิทยาลัยอื่นที่อยู่ในข่ายต้องสงสัย เนื่องจากจำนวนการผลิตบัณฑิตหลักสูตรดังกล่าวมีมากเกินความเป็นจริง
"การที่คุรุสภาต้องตรวจสอบ เป็นเพราะคุรุสภามีหน้าที่ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และควบคุมมาตรฐานวิชาชีพครู ไม่ใช่ปล่อยให้ใครก็ได้ที่อยากเป็นครูไปซื้อวุฒิการศึกษา 50,000 บาท แล้วมายื่นขอกับคุรุสภา ที่เสียค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตฯ เพียง500บาท ก็ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแล้ว" เลขาธิการคุรุสภา กล่าวและว่า ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมบอร์ดคุรุสภา เพื่อหารือถึงขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ว่าในอนาคตจะต้องมีการสอบวัดมาตรฐาน เพื่อตัดปัญหาการซื้อวุฒิการศึกษา เพราะขณะนี้ คุรุสภาได้บทเรียนราคาแพง และในฐานะสภาวิชาชีพ หากไม่ลงมือแก้ไขสังคมจะไปพึ่งใครได้ แต่อย่างไรก็ตาม สกอ.ซึ่งมีหน้าที่ดูแลมหาวิทยาลัยก็ต้องไปตรวจสอบแบบคู่ขนานด้วย ทั้งนี้ สำหรับหลักสูตรครู 5 ปี คุรุสภา คงต้องหารือกับมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา และคาดว่าคงไม่เป็นปัญหาเพราะเป็นการยกระดับวิชาชีพครู ให้มีความมั่นใจว่าได้ครูที่มีคุณภาพจริงๆ
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=561&contentID=133033
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น