มาตรา 112 อะไรคือความพอเหมาะพอดี ..
ทุกวันนี้คนทั่วไปอาจสับสน หลังมีผู้พยายามแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ขณะเดียวกันกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากจากหลายฝ่าย ด้วยด้านหนึ่งก็มีความรู้สึกว่า มีการใช้กฎหมายหมิ่นฯ นี้ไปในทางการเมือง
ฉะนั้น ควรจะมีการทบทวนการใช้กฎหมายนี้ หรือควรมีกฎหมายนี้หรือไม่
คนอีกกลุ่มหนึ่งก็บอกว่า กฎหมายนี้ยังต้อง มี แต่ว่า ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง
คนกลุ่มสุดท้าย บอกว่า กฎหมายนี้ต้องมีเด็ดขาด และต้องใช้อย่างเฉียบขาด !!
คำถาม แล้วอะไรคือความพอเหมาะพอดี ....ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย รวบรวมความเห็นจากนักกฎหมายชั้นแนวหน้าของเมืองไทย มาให้อ่านประกอบ เพื่อความเข้าใจ...
ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
ปลัดกระทรวงยุติธรรม
"ตัวกฎหมายไม่ได้มีปัญหา ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้เกิดขึ้นจากสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่านเลย"
"กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 กฎหมายลักษณะแบบนี้ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย ประเทศที่มีระบบพระมหากษัตริย์ ในยุโรปและเนเธอร์แลนด์ สเปนก็จะมีกฎหมายลักษณะแบบนี้อยู่ โดยหลักกฎหมายหมิ่นประมาท เอาข้อความที่ไม่จริงมาใส่ เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลให้พ้นกับเรื่องแบบนั้น
แต่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ของเราก็อยู่เหนือความขัดแย้งแบบนั้น พระองค์ท่านโดยกฎหมาย โดยระบบไม่สามารถที่จะไปทำอะไรได้ และก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะทำเช่นนั้น ตรงนี้ก็จะมีคนที่จะมาทำแทน คือ กระบวรการยุติธรรมที่จะมาทำหน้าที่นี้แทน โดยเปิดกว้างให้ผู้ใดที่คิดว่า มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 สามารถไปร้องทุกข์ได้ ทางที่รับเรื่องร้องทุกข์ก็ดำเนินการไปตามชั้นตำรวจ อัยการ ศาลได้
สิ่งที่ผมได้เข้าไปมีส่วน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน แต่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเมื่อได้เข้าไปสัมผัสกับเรื่องเหล่านี้ ความขัดแย้งต่างๆ คิดว่าคนไทย 99% หรือมากกว่านั้น ต้องการการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คนที่ต้องการจะล่วงละเมิดจริงๆ มีอยู่ไม่มากนัก น้อยยิ่งกว่าน้อย คดีพวกนี้มีน้อยมากในอดีต แต่ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งส่งผลที่ทำให้เกิดกระแสความเข้าใจที่เหมือนกับว่า มีความเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้น ทั้งในแง่ที่ส่งเสริมให้เกิดการกล่าววิจารณ์มากขึ้น แล้วก็ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า มีฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์จากกระบวนการตรงนี้
"ผมคิดว่าในความเป็นจริง เรื่องนี้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง และประเด็นหลักจริงๆ ของกฎหมาย ผมคิดว่า ตัวกฎหมายไม่ได้มีปัญหานัก ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้าเราไม่เอาความขัดแย้งทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง และก็เทิดทูนพระองค์ท่านไว้อยู่เหนือกฎหมาย ก็จะคลี่คลายลงไปได้ และก็จะน้อยยิ่งกว่าน้อยที่จะเกิดเหตุวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น"
ปัญหาขณะนี้คือ เมื่อมีการจาบจ้วง หรือพูดไม่เหมาะสมกระทบมากขึ้น คนที่จงรักภักดีแน่นอนย่อมไม่สามารถอยู่เฉยๆ ได้ และก็นำไปสู่การที่คนก็ไปแจ้งความ ไปร้องทุกข์มากขึ้น เมื่อไปร้องทุกข์มากขึ้น ปัญหาคือคนที่ไปรับเรื่องก็มีความรู้สึกคล้ายกัน ก็ต้องดำเนินการ และการดำเนินการในช่วงกระแสแบบนี้ก็เป็นไปได้ที่จะทำให้คนที่เกี่ยวข้องทำอะไรในลักษณะที่ต้องการเข้ามาช่วยปกป้องรักษามากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนยิ่งวนเวียนมากขึ้นเรื่อยๆ
ฝ่ายที่รู้สึกน้อยใจ รู้สึกเข้าใจผิด รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เกิดความรู้สึกมากมาย ข้อนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองเราในเวลานี้
ส่วนเรื่องตัวกฎหมาย ความพยายามของคณะกรรมการชุดผม พยายามที่จะเทียบกับต่างประเทศคือใช้ระบบที่ไม่ให้ประชาชนเข้าไปฟ้องคดีเองได้ ก็จะมีการกลั่นกรอง สิ่งที่เราพยายามจะทำคือจัดระบบกฎหมายให้ตำรวจ อัยการสามารถรวบรวมคำร้องทุกข์ต่างๆ เข้ามาอยู่ในจุดๆ เดียว แล้วก็ให้สิทธิเสรีภาพกับผู้ที่ถูกกล่าวหาเต็มที่ รวมทั้งพยายามแยกแยะว่าอะไรที่เป็นเรื่องที่มีเจตนาจะดูหมิ่นล้มล้างสถาบัน และอะไรที่เป็นเรื่องที่ทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็น่าจะเป็นเรื่องอีกแบบหนึ่ง อะไรที่เป็นการทำโดยวิชาการก็เป็นอีกแบบหนึ่ง หรืออะไรที่ทำโดยคนต่างชาติซึ่งอาจจะไม่รู้ก็ต้องเป็นเรื่องอีกแบบหนึ่ง ขณะนี้ความพยายามก็เกิดขึ้นในการจัดระบบแบบนี้
"ผมก็เชื่อว่าโดยสรุป ตัวกฎหมายไม่ได้มีปัญหา เป็นเรื่องที่มีทั่วไป ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ ปัญหาจากการบังคับใช้เกิดขึ้นจากสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่านเลย ก็คือเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองและก็นำมาสู่สิ่งที่เราก็พยายามจัดระบบในส่วนนี้"
เคยมีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานเมื่อ วันที่ 4 ธันวาคม 2548 พระองค์ท่านมีรับสั่งบทหนึ่งว่า "คราวนี้นักกฎหมายก็ชอบให้ฟ้อง ให้จับเข้าคุก นักกฎหมายก็สอนนายกฯ ว่าต้องฟ้อง ต้องลงโทษ นี่ขอสอนนายกฯ นะว่าใครบอกว่าให้ลงโทษ อย่าลงโทษเขา เป็นสิ่งไม่ดี สุดท้ายไม่ใช่นายกฯ เดือดร้อน พระมหากษัตริย์จะเดือดร้อน หรืออยากให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อน ไม่รู้นะ"
ท่านรับสั่งโดยสรุปว่า พระองค์ท่านไม่ได้อยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ แล้วก็มองว่าการที่ไปใช้กฎหมายนี้อย่างรุนแรง ก็ทำให้มีสิ่งย้อนกลับมาที่พระองค์ท่าน อย่างที่รับสั่งโดยตรงออกมา คณะกรรมการชุดผมก็พยายามเอาพระราชดำรัสนี้มาจัดระบบให้เหมาะสม เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักถึงเรื่องนี้แล้วก็พยายามที่จะไม่ให้มีอะไรมาระคายเคืองพระองค์
ศ.(พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ
เลขาธิการสภาการศึกษา
"การกล่าวหา ใครทำความผิด ตามม.112 กระบวนการปัจจุบันไม่มีการกรอง
ใครก็ร้องทุกข์กล่าวโทษได้ สุดท้ายส่งผลให้มีมิติทางการเมืองเกิดขึ้น"
"ตัวบทกฎหมาย การมีบทบัญญัติมาตรานี้ไม่ใช่เรื่องที่ น่ากังวล สงสัย หรือ เป็นเรื่องที่ผิดแปลกอะไร บุคคลธรรมดาก็ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายดูหมิ่น หมิ่นประมาท บุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่พิเศษต่างๆ เช่น เจ้าพนักงาน ระวางโทษก็ต้องเข้ม กว่า ราชทูต ผู้แทนต่างประเทศ การไปด่าไปทอโทษก็ต้องแพงกว่าการไปเก็บกรณีดูหมิ่นประมาททั่วๆไป
เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชทายาท ก็อยู่ในตรรกะที่ได้รับการคุ้มครองไม่แตกต่างกับพระมหากษัตริย์ในหลายๆ ประเทศได้รับการคุ้มครองดูแลอยู่ แต่สิ่งที่น่าจะดูด้วยความรอบรอบยิ่งในเวลานี้ ก็คือ กระบวนการใช้กฎหมาย
1.บางทีมีการใช้คำที่ไม่ปรากฏในตัวบทกฎหมาย หากไปเปิดในตัวบทกฎหมายจะไม่มีคำว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลย มาตรา 112 ไม่มี แต่เป็นความรู้สึกเป็นความเข้าใจของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน และตีความกว้างกว่า สิ่งที่อยู่ในมาตรา 112 จึงมีความรู้สึกกระทำความผิด "ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" อยู่เสมอ หรืออยู่เนืองๆ และไกลเกินบทบัญญัติโดยแท้ในประมวลอาญาของเรา
2.กระบวนการการดำเนินคดี พบว่า การกล่าวหาว่าใครทำความผิด ตามมาตรา 112 กระบวนการปัจจุบันไม่มีการกรอง ใครก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษในส่วนนั้นได้ สุดท้ายก็ส่งผลให้มีมิติทางการเมืองเกิดขึ้น ยิ่งในยุคสมัยที่เรามีความแตกต่าง และมีความเห็นที่ไม่ลงรอยทางการเมือง สุดท้ายการกล่าวหากันว่าเป็นการทำผิดตามมาตรา 112 จริง เท็จ ผิด ถูก เบื้องปลายไม่รู้ เพียงแค่การกล่าวหากันก็กินแดน กินเนื้อไปตั้งเยอะแล้วในส่วนนี้
กระบวนการร้องทุกข์กล่าวโทษ น่าจะมีการคุยกันว่าจะทำอย่างไร
พอมาถึงการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน โดยปกติจะมีการกรอง ผ่านพนักงานสอบสวน ไปที่พนักงานอัยการ ในที่สุดขึ้นสู่ศาล บางทีอาจเกิดความรู้สึกนี้ในสังคมไทยหรือไม่ คือทุกคนเล่นบทปลอดภัยของตัวเอง ยังไงส่งไปท่อนต่อไปก่อนแล้วกัน ตำรวจทำสำนวนดุลยพินิจไม่จำเป็นต้องไปรอบคอบอะไรมากนัก ส่งไปให้อัยการใช้ พอถึงอัยการก็บอกฟ้องซะก่อน ปลอดภัยดี พอถึงศาลก็ลงโทษไว้ก่อนปลอดภัยดี แต่จะไม่ปลอดภัยสำหรับประชาชนทั่วๆไป แต่ทั้งหมดตอนจบของเรื่องอย่าลืมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านบอกว่า คดีประเภทเหล่านี้ โดยพระราชดำรัส ปี 2548 ว่า สุดท้ายแล้วลงโทษไป เบื้องปลายแล้วพระราชภาระก็หนี้ไม่พ้นที่ทรงต้องถูกวิจารณ์เพิ่มมากขึ้น
นี่เป็นปรากฏการณ์การใช้กฎหมายในบ้านเรา"
ประทีป เฉลิมภัทรกุล
ประธานแผนกสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา
"การใช้กฎหมาย ส่วนหนึ่งมีการระแวงกัน ระแวงตั้งแต่การสั่ง
หากไม่จับกุมก็ระแวงแล้วว่า มีอะไรหรือเปล่า เป็นประโยคที่ทำลายคุณธรรมมาก"
"การใช้กฎหมาย ส่วนหนึ่งมีการระแวงกัน ระแวงตั้งแต่การสั่ง หากไม่จับกุมก็ระแวงแล้วว่า มีอะไรหรือเปล่า ประโยคนี้เป็นประโยคที่ทำลายคุณธรรมมากเลย พอมาถึงอัยการ ถ้าไม่ฟ้อง ก็แสดงว่ามีอะไรหรือเปล่า นัยเดียวกันเมื่อมาถึงศาลในฐานะผู้ใช้กฎหมาย ขนาดมีองค์คณะ องค์คณะยังมองด้วยความระแวง คนหนึ่งจะยกคนหนึ่งจะลง ซึ่งจริงๆกฎหมายเขียนไว้ในวิธีพิจารณา ที่ให้คนที่เห็นเป็นผลร้ายน้อยกว่ายอม มันต้องยอม ต้องยกถ้าสงสัย แต่ก็มีคำถามว่า มีอะไรหรือเปล่า
การลงโทษเป็นการแสดงความสุจริต สิ่งเหล่านี้แพร่ขยายไปทุกหย่อมหญ้า เดี๋ยวนี้ทุกคนอยู่ด้วยความหวาดระแวง
กฎหมายหลายฉบับที่ออกมา ไม่ได้มีการสนับสนุนคนดี ออกมาเพราะระแวงท่านว่าจะเป็นคนไม่ดี กฎหมายที่เขียนทุกวันนี้ หลายฉบับเขียนออกมาเพราะว่า ระแวงว่าท่านจะขี้โกง ระแวงว่าท่านจะทุจริต ประมวลกฎหมาย ป.ป.ช.ไม่มีมาตราไหนที่ ส่งเสริมเลย จะถอดถอนหรือเข้าคุกตลอดเวลา
กฎหมายกับผู้ใช้กฎหมาย ถามว่าใครสำคัญกว่า จริงๆ กฎหมายไม่ใช่คน กฎหมายสำคัญ แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือการบังคับใช้กฎหมาย ฉะนั้นมาตรา 112 ผมไม่บอกว่า ดี ชั่วอย่างไร แต่เมื่อมีการฟ้องร้องกันมา มีการกลั่นกรอง เราก็ดู พิจารณามาตรานี้ด้วยความระมัดระวัง แต่น้อยคดีที่คดีพวกนี้จะขึ้นมาสู่ศาล นอกจากเราเห็นว่า ชัดเจนถึงจะพิจารณา
คดีที่ขึ้นมาสู่ศาลสูงในแนว 112 มีไม่มาก ส่วนใหญ่ใช้กันเรื่องหมิ่นประมาทธรรมดา ซึ่งแน่นอนที่สุดในระยะนี้ จะมีการเลือกตั้งมีการแข่งขัน มาตรานี้ก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือ"
http://www.youtube.com/watch?v=O9miDf9yHUQ&feature=player_embedded
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น