|
กลับมาเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง กับ "ประกาศการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดย คนต่างด้าว พ.ศ. 2554" โดย "กสทช."
บนเวทีเสวนารับฟังความคิดความเห็นสาธารณะปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงยังร้อนแรง
"สุทธิพล ทวีชัยการ" กรรมการ กสทช.กล่าวว่า การจัดเสวนาไม่ได้บอกว่า จะแก้หรือไม่แก้เนื้อหา แต่ต้องการทำความเข้าใจกับเอกชนเกี่ยวกับเนื้อหาของประกาศ และเพื่อให้ได้ข้อมูลในหลายมิติเพื่อนำมาตัดสินใจอีกครั้ง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความมั่นคงและข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อน
"กสทช.จะทำหนังสือสอบถามอย่างเป็นทางการไปยังกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ก.พาณิชย์ ก.กลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาจุดสมดุลให้ได้ทุกมิติ และวันที่ 14 ธ.ค. นี้จะนำผลเสวนาไปหารือในบอร์ด กสทช. อาจตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินการต่อ แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้แก้ไข ประกาศยังใช้ได้ มีผลตาม กม. ผู้ให้บริการต้องปฏิบัติตาม ส่วนจะแก้หรือไม่ กสทช.ยังไม่ได้ตัดสินใจและไม่มีกรอบเวลา เพราะไม่ใช่เรื่อง เร่งด่วน แต่ต้องรอบคอบเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน"
ในวงเสวนามีหลายประเด็นที่เกิด ข้อถกเถียงกัน ไล่มาตั้งแต่ความจำเป็น ที่จะต้องมีประกาศฉบับนี้ ความชอบด้วยกฎหมายในการออกประกาศ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับนักลงทุนและผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้ "กสทช." ใช้ดุลพินิจที่จะยกเว้นการบังคับใช้ ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนกับผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง
"รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม" อดีตรักษาการ กสทช. ซึ่งถือเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดทำประกาศฉบับนี้ระบุว่า หลักสำคัญของกฎหมายนี้คือเพื่อให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลผู้ถือหุ้น และผู้มีอำนาจบริหารที่แท้จริงของบริษัท
"ปัญหาในประเทศไทยตอนนี้คือเราไม่พูดความจริง เรามีนอมินี ซึ่งเป็นตัวแทนต่างชาติเยอะมากจึงต้องทำหลักเกณฑ์กำกับดูแลไม่ให้หลบเลี่ยงกฎหมาย ถ้าเรายอมให้มีการตั้งนอมินีต่อไปเรื่อย ๆ อาจทำให้ในอนาคตธุรกิจโทรคมนาคมเหลือแค่ 1 หรือ 2 บริษัท เราตั้งใจทำให้เป็นมาตรฐานกลางให้ทุกบริษัททำตาม ไม่ใช่เลือกปฏิบัติกับบริษัทใด ที่ผ่านมาสื่อสารไทยผูกขาดโดยรัฐวิสาหกิจ ตอนนี้กลายเป็นว่าผูกขาดด้วยทุนรัฐต่างชาติ"
เข้าอีหรอบนี้ที่โดนเต็ม ๆ คือ "ดีแทค" โดยเจ้าตัวได้ยื่นฟ้องศาลปกครองไปแล้วตั้งแต่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา
"ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์" ผู้บริหาร ดีแทคตั้งคำถามว่า กสทช.ต้องการส่งสัญญาณอะไรให้นักลงทุนต่างชาติผ่านประกาศฉบับนี้ ความน่ากลัว คือ อาจเป็นเครื่องมือสร้างความหวาดระแวงในประเทศ รวมถึงสร้างความลังเลให้นักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทย สวนทางนโยบายเปิดเสรีการลงทุนซึ่งไม่เป็นผลดีกับการพัฒนาเศรษฐกิจ "อยากถามว่า เวลานี้ 50 บริษัท ใน SET50 มีบริษัทใดบ้างไม่มีผู้ถือหุ้นต่างชาติ ประกาศฉบับนี้ต้องการอะไร ขอความกรุณา กสทช.ซึ่งเชื่อว่ามีเจตนาดีและบริสุทธิ์ใจได้พิจารณาเจตนารมณ์ของประกาศฉบับนี้ด้วยว่า เป็นไปด้วยความมั่นคงของรัฐจริงหรือ ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นขอให้ยกเลิกไปดีกว่า ไม่ใช่พยายามทำเรื่องไม่ถูกต้องให้ขี้เหร่น้อยลง" มุมของ "ดีแทค" ประกาศฉบับนี้มีข้อบกพร่องหลายจุด และอาจขัดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น เพราะรายละเอียดลึกกว่า พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวเดิม
จึงต้องยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อรักษาสิทธิ์และสร้างความชัดเจนให้ผู้ถือหุ้น
ฟากเอไอเอส "สุทธิชัย ชื่นชูศิลป์" ผู้บริหารเอไอเอส กล่าวว่า มีข้อสังเกต 3 ข้อ คือ 1.การเปิดเผยข้อมูลการประเมินผลกระทบทางธุรกิจก่อนออกประกาศ ทราบว่า กสทช.เปิดเผยข้อมูลให้ ทราบแค่ 4 หน้า อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ หากมีข้อมูลการประเมินมากกว่านี้อยากให้เปิดเผยออกมา 2.อยากให้ชี้แจงเหตุผลที่ไม่ครอบคลุมกิจการ วิทยุและโทรทัศน์ และ 3.การที่ กสทช.ให้หน่วยงานอื่นพิจารณาว่า กรณีใดเข้าข่ายมีผลต่อความมั่นคงของรัฐ อยากให้แต่ละหน่วยงานกำหนดกรอบความคิดเห็นกลับมาด้วยว่า นิยามผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐครอบคลุมแค่ไหน
ทุนไทยแท้อย่างกลุ่มทรู "ธัช ดุษฎีกานต์" ผู้บริหาร ทรู กล่าวว่า ประกาศนี้ไม่ได้ลิดรอนการลงทุนของต่างชาติ เพียงแต่ต้องการให้มีความโปร่งใสว่า ทำไมบางบริษัทให้ต่างชาติถือหุ้นเกิน 49% ที่สำคัญ หากไม่ออกประกาศนี้อาจถือว่า กสทช.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ด้าน "ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์"ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประกาศชัดว่า ไม่เห็นด้วยกับประกาศฉบับนี้โดยสิ้นเชิง ถือเป็นการบ่อนทำลายศักยภาพการทำธุรกิจในไทย ยิ่งในเวลาที่เศรษฐกิจประเทศต้องการการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่การเน้นเรื่องความมั่นคง เป็นข้ออ้างในการกีดกันการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งไม่ชัดเจนว่า หากเปิดให้ต่างชาติเข้ามาถือครองหุ้นจะส่งผลเสียต่อความมั่นคงอย่างไร
"ที่สำคัญประกาศนี้ให้อำนาจ กสทช. ใช้ดุลพินิจยกเว้นได้ จะกลายเป็นตัวทำลายธุรกิจ เพราะผู้ประกอบการจะมุ่งใช้เวลาและเงินไปวิ่งเต้นเพื่อให้ตนเองเข้าเกณฑ์ยกเว้น"
ตัวแทนภาคประชาชนและนักวิชาการอีกกลุ่มมองต่างมุมว่า ธุรกิจโทรคมนาคมเกี่ยวข้องกับความมั่นคงจึงไม่ควรให้ต่างชาติเข้ามาครอบงำได้ และต้องการให้ปัญหานอมินีหมดไป ทั้งการเปิดเสรีการค้าส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยมากจึงอยากให้ออกประกาศคุ้มครองและประกาศฉบับนี้ทำให้มีการเปิดเผยข้อมูลผู้มีอำนาจแท้จริงในบริษัท
"พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ" กรรมการ กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป ต่อร่างรายงานเสนอแนะแนวทางการดำเนินการตามประกาศ กสทช. โดยจะเปิดให้ส่งความเห็นเป็นเอกสารมายังสำนักงาน กสทช. ได้ถึงวันที่ 16 ธ.ค.2554
ก่อนนำไปปรับปรุงและเปิดเวทีประชาพิจารณ์อีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลาอีก 3 เดือน จึงจะมีแนวทางปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกัน คือ การให้อำนาจ กสทช. "พิจารณายกเว้นเป็นราย ๆ ไป" เป็นการมอบอำนาจในการใช้ดุลพินิจมากเกินไป
ถึงที่สุดจะมีการแก้ไขในประเด็นใดบ้างหรือไม่ต้องรอดูกันต่อ แต่เชื่อว่า จะเป็นประเด็นถกเถียงอีกครั้งอย่างแน่นอน คือ แนวทางปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1323445985&grpid=no&catid=06
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น