ลำดวล เลานา - [ 31 ต.ค. 48, 12:05 น. ]
ความหมายของผู้มีส่วนได้เสีย
บริษัท เอเชีย แปซิฟิคโปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ยื่นขอสัมปทานทำเหมืองใต้ดินในจังหวัดอุดรธานี 2 แปลงคือแหล่งอุดรใต้มีพื้นที่ทำเหมือง 22,437 ไร่ใน 4 ตำบล คือ ต.ห้วยสามพาด และต.นาม่วง ในเขตกิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ ใน อ.เมือง และแหล่งอุดรเหนือพื้นที่กว่า 52,000 ไร่ ในเขต อ.เมือง อ.หนองหาน และกิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคมรวมพื้นที่ทำเหมืองใต้ดินประมาณ 74,437 ไร่
ทั้งนี้ อ.เมือง เป็นอำเภอที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดใน จ.อุดรธานี คือ มีประชากรหนาแน่นเฉลี่ย 356 คนต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร และ กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม เป็นอำเภอที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับที่ 3 คือ 170 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ดังนั้น จึงถือได้ว่าพื้นที่ทำเหมืองใต้ดินของโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีทั้งแหล่งอุดรเหนือ และแหล่งอุดรใต้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นสูงที่สุดของจังหวัด
ปัจจุบันคนอุดรธานี และคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยเข้าใจเพียงว่าเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี คือการขุดทำเหมืองใต้ดินในพื้นที่ซึ่งบริษัทเร่งรัดและประชาสัมพันธ์ว่าจะขุดทำเหมือง 22,437 ไร่ (แหล่งอุดรใต้) และยิ่งจำกัดไปอีกเมื่อระบุถึงพื้นที่ทำเหมืองบนผิวดินหรือที่ตั้งโรงงานในพื้นที่ ประมาณ 1,200 ไร่ ที่ซึ่งบริษัทอ้างว่าเป็นที่ดินในกรรมสิทธิ์ของบริษัทที่ซื้อจากราษฎรโดยถูกต้องตามกฎหมาย และอ้างถึงการควบคุมและจำกัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเรื่องน้ำเค็ม ดินเค็ม ฝุ่นเกลือ ดินทรุด ให้น้อยที่สุดจนไม่เป็นนัยสำคัญ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ถึงการสร้างผลกระทบที่ดีคือพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่น มีปุ๋ยเคมีราคาถูกใช้ในประเทศ และดีจนคนไทยสมควรที่จะยอมรับโครงการนี้อย่างเร็วที่สุด โดยบริษัทได้แถลงอย่างเชื่อมั่นว่าจะได้ประทานบัตรภายในปี 2548 นี้
สัญญาที่ทำขึ้นระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและบริษัทเอพีพีซี เมื่อปี 2527 ระบุว่าบริษัทจะได้รับสิทธิผูกขาดในการขอประทานบัตร มีสิทธิขยายเขตเหมืองแร่ออกไป เพื่อรวมเอาเขตแหล่งแร่ต่อเนื่องซึ่งอยู่นอก "เขตเหมืองแร่" โดยได้สิทธิผูกขาด คือ รัฐบาลต้องพยายามอย่างที่สุดที่จะไม่เปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนสัญญาโดยรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐ สิทธิผูกขาดเพียงผู้เดียวในการสำรวจ ประเมินค่า พัฒนา ก่อสร้างและดำเนินกิจการเกี่ยวกับโปแตช การคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ทั้งปวงที่บริษัท และผู้ถือหุ้นของบริษัทได้รับจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ( BOI ) และการได้รับยกเว้นอากรขาเข้าร้อยละ 75 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ 8 ปี ยกเว้นภาษีการค้าและค่าธรรมเนียมบางชนิด (บัตรส่งเสริม คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เลขที่ 1727/2543 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2543.) ทั้งนี้รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของบริษัท การติดต่อหน่วยงานของรัฐ หากบริษัทร้องขอเพื่อให้งานดำเนินไปอย่างรวดเร็วภายในขอบเขตของกฎหมาย ในกรณีที่บริษัทต้องการ ใบอนุญาตยินยอม การจดทะเบียน การอนุมัติ การยกเว้น หรือคำรับรองใด ๆ จากหน่วยงานของรัฐ รัฐจะพยายามอย่างที่สุดในการให้ความช่วยเหลือแก่บริษัท และต้องพยายามให้ความช่วยเหลือตามสมควรเพื่อให้มีการตกลงกับบุคคลเจ้าของที่ดินที่จะขออนุญาตเช่า หรือซื้อที่ดิน หากบริษัททำไม่ได้
จากสิทธิอันมากมายที่บริษัทได้รับจากสัญญา ความมุ่งหมายที่จะขุดเหมือง ในพื้นที่อันกว้างใหญ่เกือบแสนไร่ใต้ดินอุดรธานี แล้วใครคือผู้มีส่วนได้เสียที่แท้จริงในโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ขณะที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และฝ่ายบริษัทเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อจะทำการปักหมุดขึ้นรูปแสดงขอบเขตเหมืองแร่ ซึ่งเป็นขั้นตอนตามกฎหมายแร่ เพื่อให้ทราบพื้นที่ที่แน่นอนว่าเหมืองใต้ดินมีขนาดเท่าใด และให้ทราบว่าใครอยู่ในเขตพื้นที่การทำเหมืองบ้างโดยเรียกบุคคลเหล่านั้นว่า "ผู้มีส่วนได้เสีย" ซึ่งจะมีส่วนร่วมในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งกรรมการตรวจสอบการทำเหมือง การทำประชาพิจารณ์ การศึกษาวิจัยกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย รวมไปถึงการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สิน หรือการบริหารกองทุนชดเชยเมื่อมีเหมืองแล้ว
ภายใต้พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2548 ที่มีการอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ใต้ดินได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ภายหลังจากการทำสัญญากับบริษัททำให้ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้สามารถทำเหมืองใต้ดินได้ ในเงื่อนไขที่รัฐบาลไทยจะต้องให้ความช่วยเหลือเพื่ออำนวยความสะดวกแก่บริษัทตามสัญญา ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ตามมาตรา 88/10 ตาม พรบ.แร่ใหม่ในข้อที่ 1 ระบุว่า "ผู้มีส่วนได้เสีย" หมายความว่า ผู้มีสิทธิในที่ดินหรืออยู่อาศัยในเขตที่ประสงค์จะทำเหมืองใต้ดิน ทั้งนี้ไม่ว่าจะได้รวมตัวกันเป็นกลุ่ม องค์กรของผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ก็ตาม ซึ่งจะเป็นผู้มีสิทธิได้รับการคุ้มครองสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 88/12 ที่ระบุว่าการทำเหมืองใต้ดินบริเวณใดในเขตเหมืองแร่ใต้ดินที่ทำให้เกิดการเสียหายแก่สิทธิในอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่นั้นผู้เสียหายย่อมเรียกให้ผู้ถือประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินระงับการกระทำและจัดการแก้ไขตามที่จำเป็นเพื่อป้องปัดภยันตรายอันอาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้รวมทั้งมีสิทธิใน กองทุน หมายความว่า มีส่วนในกองทุนสนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในโครงการทำเหมืองใต้ดิน
หากนับตามความหมายของผู้มีส่วนได้เสียตามที่กฎหมายแร่กำหนดไว้นี้ผู้มีสิทธิเกี่ยวข้องกับโครงการเหมืองแร่นี้จำแนกได้ คือ ในพื้นที่แหล่งอุดรใต้ จากแบบไต่สวนพื้นที่ทำเหมืองประกอบคำขอประทานบัตรแหล่งอุดรใต้ของบริษัทเอพีพีซี ระบุชุมชนที่มีส่วนได้เสียไว้ 14 หมู่บ้าน รวมประชากรประมาณ 6,200 หลังคาเรือน คือเฉพาะชุมชนที่อยู่ในเขตทำเหมืองเท่านั้น แต่ปัจจุบันในพื้นที่ 4 ตำบลที่เหมืองแร่ตั้งอยู่ คือ ต.ห้วยสามพาด ต.นาม่วง กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม ต. หนองไผ่ และต.โนนสูง อ.เมือง มี 51 หมู่บ้านซึ่งมีประชากรทั้งสิ้น 26,533 คน(www.thaitombon.com : 10 ตุลาคม 2548) และในความเป็นจริงชุมชนที่อยู่รอบ ๆ เหมืองมีมากกว่า 40 หมู่บ้านหรือมากกว่าจำนวนผู้มีส่วนได้เสียที่บริษัทกำหนดกว่า 3 เท่า และหากพิจารณาตามระบบนิเวศซึ่งต้องนับตามสายห้วยที่ไหลเชื่อมโยงจากที่ตั้งโครงการจะคลอบคลุมพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 70 หมู่บ้าน ซึ่งหมายถึงจำนวนผู้มีส่วนได้เสียตามพื้นที่นิเวศจะมีจำนวนมากกว่าที่บริษัทกำหนด 5 เท่า เป็นอย่างต่ำ แต่การขีดเส้นจำกัดผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการให้แคบเข้าเพียงขอบเขตเหมืองเท่านั้นได้แสดงถึงความพยายามจำกัดความรับผิดชอบต่อประชาชนให้น้อยลง
และหากพิจารณาพื้นที่ขอประทานบัตรแหล่งอุดรเหนืออีก 52,000 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ทำเหมืองมากกว่าแหล่งอุดรใต้กว่า 2 เท่า ดังนั้น อีกทั้งจำนวนประชากรในพื้นที่โครงการส่วนใหญ่ของแหล่งอุดรเหนือครอบคลุมพื้นที่ซึ่งมีจำนวนประชากรหนาแน่นที่สุดในจังหวัดอุดรธานี คือในเขต อ.เมืองอุดรธานี
จากรายงานของที่ทำการปกครองจังหวัดอุดรธานี ล่าสุดเมื่อปี 2543 ในเขตอำเภอเมืองอุดรธานีมีความหนาแน่นของประชากรที่สุดในจังหวัดคือมีพื้นที่ 1,094.684 ตารางกิโลเมตร(ประมาณ 684,178 ไร่) มีประชากร389,516 คน มีความหนาแน่น 356 คนต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร และเขตกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคมซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับที่ 3 ของจังหวัดอุดรธานีคือมีพื้นที่ 145.093 ตารางกิโลเมตร(ประมาณ 90,683 ไร่) มีประชากร 24,649 คนมีความหนาแน่นเฉลี่ย 170 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ดังนั้นพื้นที่ทำเหมืองใต้ดินของโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีทั้งแหล่งอุดรเหนือ และแหล่งอุดรใต้จึงตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นสูงในจังหวัดอุดรธานี
ความรับผิดชอบของบริษัทต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ในกฎหมายแร่ มาตรา 88/13 ระบุว่า ในกรณีที่พื้นดินบริเวณใดในเขตเหมืองแร่ประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินทรุดตัวลงจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม
- ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าการทรุดตัวของพื้นดินนั้นเกิดขึ้นจากการทำเหมืองใต้ดิน
- หากเป็นที่ยุติว่าการทำเหมืองใต้ดินเป็นต้นเหตุแห่งการทรุดตัวของพื้นที่ดินนั้นให้ผู้ถือประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน และหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ตรวจสอบการทำเหมืองร่วมกันรับผิดชอบต่อผู้เสียหายในทุกกรณี และหากหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายแล้วให้ใช้สิทธิไล่เบี้ยต่อผู้ถือประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินได้
มาตรา 131/3 ระบุเรื่องความรับผิดชอบ ต่อความเสียหาย หรือความเดือดร้อนรำคราญใดอันเกิดแก่บุคคล ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ต้องอยู่ในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้นในเขตที่ได้รับอนุญาต ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำของผู้ถืออาชญาบัตร หรือใบอนุญาตนั้น
ในอดีตพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีเคยได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวของดินเนื่องจากน้ำใต้ดินได้ละลายชั้นหินเกลือออกมาทำให้ชั้นหินที่อยู่เหนือชั้นหินเกลือเกิดการทรุดตัว ในพื้นที่หลายแหล่งพบว่าชั้นผิวดินมีการทรุดตัวลงไปหลายเมตรเนื่องจากปรากฎการณ์ดังกล่าว สำหรับการทำเหมืองแร่ของโครงการจะก่อให้เกิดการทรุดตัวของผิวดินในอนาคต เนื่องจากแร่โปแตชถูกขุดออกมาจากชั้นดินลึก ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และทรุดตัวเกือบจะเท่ากันเป็นบริเวณกว้าง โดยการทรุดตัวของดินจากการทำเหมืองคาดการณ์ว่าจะทรุดไม่เกิน 70 เซนติเมตร (บริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด. โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี "รายงานทางเทคนิคการทรุดตัวของดิน" : หน้า 4 -1, 2547 )
จากรายงานการทรุดตัวของดินระบุว่า ในระยะ 5 ปีแรกจะเกิดการทรุดตัวตามแนวห้วยหิน และจะเกิดการทรุดตัวตามแนวห้วยน้ำเค็ม ห้วยวังแสงในระยะหลัง นอกจากนี้การทรุดตัวของผิวดินจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำใต้ดินไปจากเดิม เพราะชั้นหินอุ้มน้ำ(aquifer) บริเวณเหมืองแร่อยู่ในระดับตื้น และยังระบุว่า การขุดอุโมงค์ทำเหมืองใต้ดินผ่านชั้นน้ำบาดาลอาจทำให้สูญเสียน้ำใต้ดิน ตลอดจนการรั่วซึมของของเสีย สารเคมี น้ำมัน หรือการรั่วซึมจากโปแตช และเกลือกล่าวคือ การรั่วซึมของน้ำภายในพื้นที่โรงงานลงสู่ดิน น้ำจากกองเกลือหางแร่ และบ่อเก็บน้ำต่าง ๆ อาจรั่วซึมลงดิน คาดว่าน้ำใต้ดินระดับตื้น (shallow groundwater) มีทิศทางการไหลในแนวตะวันตกเฉียงเหนือสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้จากพื้นที่โครงการไปสู่พื้นที่ใกล้เคียงที่มีลักษณะภูมิประเทศต่ำกว่า อาจส่งผลกระทบต่อชั้นหินอุ้มน้ำ (aquifer)ในท้องถิ่นที่ประชาชนใช้ดื่ม และอุปโภคในครัวเรือน ทั้งนี้ ชั้นน้ำใต้ดินระดับตื้นนี้เชื่อมต่อกับระบบการไหลของน้ำบนผิวดิน ขณะที่แหล่งน้ำอุปโภคบริโภคในบ้านเรือนได้จากชั้นน้ำใต้ดินที่อยู่ลึกลงไป คือชั้นหินอุ้มน้ำชั้นล่าง (lower aquifer) เนื่องจากโรงงานตั้งอยู่บนที่สูง ซึ่งการปนเปื้อนของน้ำใต้ดินอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใต้ดินที่อยู่นอกพื้นที่โครงการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง (บริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด. โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี "รายงานทางเทคนิคน้ำใต้ดิน" : หน้า 4 –4, 2547 )
ดังนี้ตามกฎหมายซึ่งระบุความรับผิดชอบของบริษัท และกระทรวงอุตสาหกรรมไว้เพียงต่อความเสียหายเรื่องแผ่นดินทรุด แต่ไม่ได้ระบุถึงความรับผิดชอบหากเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอื่น เช่น การปนเปื้อนเสียหายของระบบน้ำใต้ดิน หรือการปนเปื้อนของฝุ่นเกลือ ในอากาศ แหล่งน้ำ หรือความเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาแหล่งน้ำซึ่งอาจเกิดขึ้นได้โดยอ้อมดังที่รายงานของบริษัทได้กล่าวถึงแต่กฎหมายไม่ได้ระบุถึงความรับผิดชอบของบริษัทไว้แต่อย่างใด
นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรราชภัฎอุดรธานี กล่าวว่า การกำหนดผู้มีส่วนได้เสียในโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ตามกฎหมายแร่ มาตรา 88/10 หมายถึงผู้มีที่ดินหรืออยู่อาศัยในเขตพื้นที่เหมืองเท่านั้น เป็นการกำหนดความรับผิดชอบของบริษัทไว้เพียงเรื่องการเกิดแผ่นดินทรุดเท่านั้น ทั้งนี้ในมาตรา 88/11 ระบุว่า เรื่องผู้มีสิทธิตรวจสอบการทำเหมือง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะเป็นผู้แต่งตั้งผู้ตรวจสอบ
นับเป็นการแยกความรับผิดชอบระหว่างเรื่องเทคนิคการทำเหมือง คือ หากเกิดแผ่นดินทรุด กพร. และบริษัทจะรับผิดชอบ แต่นอกนั้นหากเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านอื่นก็โยนความรับผิดชอบให้กฎหมายอื่น เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม จะเป็นผู้ดูแลหากเกิดผลกระทบเรื่องการปนเปื้อนหรือเสียหายต่อน้ำใต้ดิน แหล่งน้ำผิวดิน การกระจายของฝุ่นเกลือ ฯลฯ ซึ่งอาจจะกระจายออกไปนอกเหนือจากเขตพื้นทำเหมือง หรือหากเกิดแผ่นดินทรุดนอกเขตแม้จะอยู่ใกล้หรือติดกับเขตทำเหมืองก็ตาม จะอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของบริษัทตามกฎหมายแร่ เจ้าของที่ดินต้องหาทางพิสูจน์ด้วยตนเองว่าผลกระทบเหล่านั้นเกิดจากการทำเหมือง เพราะกฎหมายมิได้คุ้มครองผู้ที่อยู่ใกล้เขตทำเหมือง คุ้มครองเฉพาะในเขตเหมืองเท่านั้น และกลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่มีสิทธิให้คำปรึกษาเบื้องต้นในการทำเหมือง ไม่มีสิทธิในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ ไม่เป็นผู้มีสิทธิตรวจสอบการทำเหมือง ไม่มีสิทธิในกองทุนชดเชยใด ๆ
กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัด เช่น เมื่อปี 2535 มีโรงงานเยื่อกระดาษแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำพองเป็นเหตุให้น้ำเน่าเสีย ปลาตายลอยเป็นแพตั้งแต่จังหวัดขอนแก่นไปตลอดสายน้ำถึงจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำทั้งสาย สุขภาพของผู้ใช้น้ำในแม่น้ำ ความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านตลอดลำน้ำ มิได้จำกัดอยู่แต่ในเขตทำโรงงานเท่านั้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องทางนิเวศวิทยา หรือผู้ที่อยู่รอบเหมืองจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยอ้อมซึ่งจะละทิ้งหรือกันออกจากคำจำกัดความ "ผู้มีส่วนได้เสีย" มิได้
การจำกัดพื้นที่ผู้มีส่วนได้เสียเพียงในเขตเหมืองจึงเป็นเพียงแนวทางจำกัดความรับผิดชอบของบริษัทให้แคบที่สุดเท่านั้นเอง ตามประกาศกระทรวงซึ่งดูเหมือนจะพยายามให้ประชาชนมีสิทธิ ด้วยเหตุว่าทุกคนจะนับเป็นผู้มีส่วนได้เสียก็ไม่ได้เพราะมันกว้างเกินไป แต่ใน ขบวนการตัดสินใจก่อนจะมีการทำเหมืองจะต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียโดยอ้อมเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ในการรับรู้ข้อมูล การตัดสินใจ การแสดงความคิดเห็น และการเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยอ้อม อาจจะมีตัวแทนของกลุ่มคนเหล่านี้เข้ามามีส่วนในขบวนการตรวจสอบ ข้อเสนอเรื่องผู้มีส่วนได้เสียโดยอ้อมนี้มีการผลักดันเสนอก่อนจะมีการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้รับการพิจารณาเรื่องนี้ ประกาศกระทรวงที่ประกาศใช้อยู่นี้จึงไม่ได้รับรองสิทธิของคน แต่เป็นการประกาศรับรองสิทธิของเทคนิคทางวิศวกรรม และจำกัดขอบเขตความรับผิดชอบของบริษัทที่จะทำเหมืองเท่านั้น
คำตอบต่อคำถามที่ว่าทำไมจึงมีการคัดค้านการปักหมุดเพื่อแสดงขอบเขตเหมืองแร่ หากมองให้ลึกซึ้งย่อมชี้ให้เห็นว่าการจำกัดขอบเขตของผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมาย หรือประกาศกระทรวงนั้นไม่คลอบคลุมความหมายของผู้มีส่วนได้เสียที่แท้จริง นี่ต่างหากที่เป็นสาระสำคัญที่ไม่อาจยอมรับได้ของผู้ซึ่งถูกกันออกจากกระบวนการมีส่วนร่วมก่อนเกิดเหมือง หรือการรับประกันสิทธิหากได้รับผลกระทบภายหลังเหมืองแล้ว ต้นเหตุของความขัดแย้งจึงอยู่ที่ว่ากฎหมายตราขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมต่อฝ่ายทุนไม่ใช่ประชาชน และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ประกาศใช้นี้ก็ได้ละเลยสาระสำคัญเรื่องความหมายที่แท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียไปนั่นเอง
http://www.thaingo.org/cgi-bin/content/content1/show.pl?0283
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น