นักวิชาการทางประวัติศาสตร์
กุหลาบทำอะไรไว้จึงกลายเป็นคนผิด
เมื่อตัดปัจจัยด้านชนชั้นออกไป คดีของนายกุหลาบก็เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวกับการสบประมาท การใส่ร้ายป้ายสีและการให้ข้อมูลเป็นเท็จกับเอกสารของทางการ ที่สำคัญคือการจาบจ้วงเบื้องสูง อีกทั้งลบหลู่สมเด็จพระสังฆราชด้วยวาจาและบทประพันธ์ ละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือของทางราชการ กระทำการโดยพลการโดยขาดการใคร่ครวญไตร่ตรอง ให้เป็นที่เสื่อมเสียต่อบุคคลและสถาบัน ผิดต่อศีลธรรมจรรยา และสามัญสำนึกของปัญญาชนที่น่านับถือในสังคมในฐานะที่เขาเป็นบุคคลสาธารณะคนหนึ่ง
ความเป็นผู้สันทัดกรณีและมีประสบการณ์ในแวดวงวิชาการ ทั้งยังเคยเข้านอกออกในกับราชสำนักฝ่ายหน้าฝ่ายในมานานส่งเสริมให้นายกุหลาบรู้จักมักคุ้นกับปัญญาชนชั้นอำมาตย์เป็นอย่างดี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงยืนยันเรื่องนี้ไว้ว่า
"สมัยนั้น (ดูเหมือนในปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙) เมื่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท กรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นอักษรสารโสภณ ทรงบัญชาการกรมอาลักษณ์ดูแลรักษาหนังสือหอหลวง หาที่เก็บหนังสือหอหลวงไม่ได้จึงให้ขนเอาไปรักษาที่วังของท่าน
พอปี พ.ศ. ๒๔๒๔ มีงานฉลองอายุพระนครครบ ๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ดำรัสชวนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการตลอดจนคหบดีที่มีใจจะช่วย ให้จัดของต่างๆ อันควรอวดควรรู้และความคิดมาตั้งให้คนดู กรมหลวงบดินทร์ฯ ทรงรับอาสาแสดงหนังสือไทยฉบับเขียน เอาสมุดในหอหลวงที่มีมาแต่โบราณมาตั้งอวดห้องหนึ่ง นาย ก.ศ.ร. กุหลาบรับอาสาแสดงหนังสือไทยสมัยเมื่อแรกพิมพ์ห้องหนึ่งอยู่ติดกับห้องกรมหลวงบดินทร์ฯ ฉันเคยไปดูทั้ง ๒ ห้องและเริ่มรู้จักตัวนายกุหลาบเมื่อครั้งนั้น
นายกุหลาบมีโอกาสเข้าไปดูหนังสือหอหลวงมีเรื่องโบราณคดีต่างๆ ที่ตัวไม่เคยรู้อยู่เป็นอันมากก็ติดใจอยากได้สำเนาไปไว้เป็นของตนเอง จึงตั้งหน้าตั้งตาประจบประแจงกรมหลวงบดินทร์ฯ ตั้งแต่ที่ท้องสนามหลวงจนเลิกงานแล้ว ก็ยังตามไปเฝ้าแหนที่วังต่อมา จนกรมหลวงบดินทร์ฯ ทรงพระเมตตา นายกุหลาบทูลขอคัดสำเนาหนังสือหอหลวงบางเรื่อง แต่กรมหลวงบดินทร์ฯ ไม่ประทานอนุญาต ตรัสว่าหนังสือหอหลวงเป็นของต้องห้ามมิให้ใครคัดลอก นายกุหลาบจนใจจึงคิดทำกลอุบายทูลขออนุญาตเพียงขอยืมไปอ่านแต่ครั้งละเล่ม และสัญญาว่าพออ่านแล้วจะรีบส่งคืนในวันรุ่งขึ้น กรมหลวงบดินทร์ฯ ไม่ทรงระแวงก็ประทานอนุญาต นายกุหลาบจึงไปว่าจ้างนายทหารมหาดเล็กที่รู้หนังสือเตรียมไว้สองสามคน สมัยนั้นฉันเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก รู้จักตัวผู้ที่รับจ้างนายกุหลาบคนหนึ่งชื่อนายเมธ
ตามคำพวกทหารมหาดเล็กที่รับจ้างมาเล่าว่าเอาเสื่อผืนยาวปูที่ในพระระเบียง และเอาสมุดคลี่วางบนเสื่อตลอดเล่ม ให้
คนตัดแบ่งกันคัดคนละตอน คัดหน้าต้นแล้วพลิกเอาสมุดหน้าปลายขึ้นคัด พอเวลาบ่ายก็คัดสำเนาให้นายกุหลาบได้หมดทั้งเล่ม แต่พวกมหาดเล็กที่ไปรับจ้างคัดก็ไม่รู้ว่านายกุหลาบได้หนังสือมาจากไหน และจะคัดเอาไปทำไม เห็นแปลกที่ให้รีบคัดให้หมดเล่มภายในวันเดียว ได้ค่าจ้างแล้วก็แล้วกัน แต่ฉันได้ยินเล่าก็ไม่เอาใจใส่ ในสมัยนั้นนายกุหลาบลักคัดสำเนาหนังสือหอหลวงด้วยอุบายอย่างนี้มาช้านานเห็นจะกว่าปี แม้จนพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง ๔ รัชกาล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง นายกุหลาบก็ลักคัดสำเนาเอาไปได้ แต่เมื่อนายกุหลาบได้สำเนาหนังสือหอหลวงไปแล้ว เกิดหวาดหวั่นด้วยรู้ตัวว่าลักคัดสำเนาหนังสือฉบับหลวงที่ต้องห้าม เกรงว่าถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการเห็นเข้าจะเกิดความ จึงคิดอุบายป้องกันภัยด้วยแก้ไขถ้อยคำสำนวน หรือเพิ่มความแทรกลงในสำเนาที่คัดไว้ให้แปลกจากต้นฉบับเดิม เมื่อเกิดความจะได้อ้างว่าเป็นหนังสือฉบับอื่นต่างๆ มิใช่ฉบับหลวง เพราะฉะนั้นหนังสือเรื่องต่างๆ ที่นายกุหลาบคัดไปจากหอหลวงเอาไปทำเป็นฉบับใหม่ขึ้น จึงมีความที่แทรกเข้าใหม่ระคนปนกับความตามต้นฉบับเดิมหมดทุกเรื่อง"(๕)
และนั่นก็คือตัวจุดชนวนให้เรื่องเกิดขึ้น คำบงการของนายกุหลาบบ่งชี้ว่าเป็นการต่อยอดทางธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของตนในภายภาคหน้า
การหลงประเด็น "ประการที่ ๒" เกิดจากการที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพยานปากเอก และคำให้การของพระองค์มีประโยชน์ต่อรูปคดี ชี้หลักฐานที่สามารถมัดตัวนายกุหลาบได้ เพราะ ๑. ทรงรู้จักนายกุหลาบเป็นส่วนตัว และรู้ซึ้งถึงนิสัยใจคอของนายกุหลาบดีกว่าคนทั่วไป ๒. ทรงทราบเบื้องหลังการคัดลอกข้อมูลของนายกุหลาบจากต้นตอคือสมุดหอหลวง และ ๓. ทรงรู้จักกับมหาดเล็กที่ถูกจ้างวานโดยนายกุหลาบ ซึ่งต่อมาให้การซัดทอดจำเลย ความผิดของนายกุหลาบนั้นชัดแจ้งแดงแจ๋อยู่แล้ว จึงพอจะสรุปสำนวนในเบื้องต้นได้ว่าคดีนี้มีมูลความจริง ไม่ใช่เรื่องเดาส่งเดชหรือใส่ร้ายกันแบบโคมลอย(๕)
แต่พยานปากเอกกลับถูกมองว่ายัดเยียดข้อหาให้จำเลยมากเกินไป และพลอยถูกหางเลขไปด้วยว่าตั้งข้อหาให้นายกุหลาบอย่างมีอคติ โดยนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่บางคนปรักปรำว่าข้อมูลของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น และทรงเป็นผู้เดาเอาง่ายๆ แบบเท็จไม่มีมูลทีเดียว(๑)
การสบประสาท "พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย"
ผู้ทรงเป็นครูใหญ่ของวงการประวัติศาสตร์แห่งชาติ และเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เรื่องนายกุหลาบ ย่อมฟังไม่ขึ้นและสวนทางกับสถานะอันน่าเชื่อถือของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งแม้แต่องค์การสหประชาชาติ (คือยูเนสโก) ที่ไม่แยแสต่อคำสบประสาทสมาชิกคนใดก็ยังเชื่อมั่นในพระองค์ขนาดยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจากประเทศไทย และทรงเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติอันสูงส่งนี้ พระจริยวัตรสำคัญอันเป็นหลักในการพิจารณาคัดเลือกสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็คือคุณูปการของพระองค์ต่อประวัติศาสตร์ไทย จากการรวบรวม รักษา อนุรักษ์ และเผยแพร่เอกสารหนังสืออันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบรรพบุรุษไทย โดยการจัดตั้งหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร (ต่อมาคือหอสมุดแห่งชาติ) ย่อมเป็นเครื่องการันตีคุณสมบัติเพียงพออยู่แล้ว หักล้างคำครหาใดๆ ที่ไม่เป็นธรรม
การหลงประเด็น "ประการที่ ๓" เป็นการเข้าใจผิดเพราะความผิดของนายกุหลาบเป็นการเปรียบเทียบคดีความในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีสมัยรัชกาลที่ ๙ ไม่ได้ เนื่องจากกรอบการพิจารณาไม่เหมือนกัน ย่อมเปรียบเทียบกันไม่ได้ในเชิงทฤษฎี
การตั้งข้อสันนิษฐานโดยคนสมัยปัจจุบันว่า นายกุหลาบมีความชอบธรรมที่จะดัดแปลงข้อมูลทางประวัติศาสตร์โดยอ้างว่าเขาวิจารณ์แบบนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่นั้นเป็นการหลงประเด็นอย่างสิ้นเชิง และเป็นการตั้งสมมุติฐานผิดตั้งแต่แรก ดังพอจะสรุปได้อีกครั้ง ดังนี้
ประการที่ ๑ นายกุหลาบไม่ใช่ไพร่ แต่ถูกประเมินว่าเป็นไพร่
ประการที่ ๒ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงทราบมูลความผิดของนายกุหลาบดี ไม่ใช่ทรงกล่าวหาลอยๆ
ประการที่ ๓ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งอำนาจในการตัดสินอยู่ที่พระมหากษัตริย์ และไม่ใช่หน้าที่ของคนสมัยปัจจุบันจะโต้แย้งการตีความของคนในอดีต เพราะต่างกรรมต่างวาระกัน การเปรียบเทียบประวัติศาสตร์แบบไม่คำนึงถึงห้วงเวลานั้นเป็นการหลงยุคโดยปริยาย
นายกุหลาบกับพฤติกรรมลวงแบบซ้ำซ้อน
หนังสือหอหลวงที่นายกุหลาบคัดลอกไปจะกลายเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาอย่างดีให้เขาแก้ไขดัดแปลงแล้วผลิตซ้ำออกสู่สาธารณะด้วยความชะล่าใจ หากนายกุหลาบแอบทำในขอบเขตเล็กๆ ก็น่าจะหลบพ้นสายตาของปัญญาชนทั้งหลายไปได้ แต่เขากลับตีพิมพ์ออกงานใหญ่เป็นจำนวนหลายพันฉบับ ทั้งยังหาญกล้าทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าแผ่นดิน ทำให้ข้อมูลที่แต่งเติมออกไปกระทบกระเทือนต้นฉบับ และเป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทโดยมีคดีปลีกย่อยต่อไปนี้
ครั้งที่ ๑ เกิดในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ นายกุหลาบเอาหนังสือซึ่งคัดลอกจากหอหลวงไปดัดแปลงสำนวนเสร็จเป็นเรื่องแรก ส่งไปให้หมอสมิธที่บางคอแหลมพิมพ์โดยตั้งชื่อหนังสือว่า "คำให้การขุนหลวงหาวัด" อันเป็นคำให้การของพระเจ้าอุทุมพรกับข้าราชการไทยที่พม่ากวาดต้อนไปคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พอหนังสือพิมพ์ออกจำหน่ายใครก็ต้องการอ่าน เพราะฉบับเดิมเก็บซ่อนอยู่ในหอหลวง แต่ไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบเอาข้อมูลมาจากไหน ผู้ชำนาญทางโบราณคดี รวมถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงสังเกตว่ามีสำนวนใหม่ปนอยู่ด้วย จนจับได้ว่ามีคนแต่งเติมขึ้นใหม่
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบริภาษการกระทำของนายกุหลาบว่า "ผู้ซึ่งทำลายของแท้ให้ปนด้วยของไม่แท้เช่นนั้น ก็เหมือนหนึ่งปล้นลักทรัพย์สมบัติของเราทั้งปวงซึ่งควรจะได้รับ แล้วเอาสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ลงเจือปนเสียจนขาดประโยชน์ไป เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก ไม่ควรเลยที่ผู้ใดซึ่งรู้สึกตัวว่าเป็นผู้ลักหนังสือจะประพฤติเช่นนี้" (๕)
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ นายกุหลาบก็จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ต้องห้ามขึ้นชื่อ "สยามประเภท" มีสร้อยว่า "สุนทโรวาทพิเศษ" โดยได้ชี้แจงแนวทางไว้ว่าจะเป็นสรรพตำราความรู้ความฉลาดทางคติธรรมและคติโลก เขียนบทความประเภทชี้แจงภูมิความรู้ ตีความ และตอบข้อข้องใจของผู้อ่าน ออกเป็นฉบับรายเดือน พิมพ์เรื่องที่เป็นโบราณคดีและเกร็ดประวัติศาสตร์ ซึ่งจริงบ้างไม่จริงบ้าง ทั้งยังมีเรื่องเกี่ยวกับการขอดค่อนสังคม และความคิดเห็นตามทัศนะของตนเอง(๗)
ครั้งที่ ๒ ครั้นปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๓ นายกุหลาบได้เขียนเรื่องกระทบกระเทือนข้อมูลภายในราชสำนักว่าด้วยอธิบายแบบแผนงานพระบรมศพครั้งกรุงศรีอยุธยา และงานพระเมรุของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ลงในหนังสือพิมพ์สยามประเภท ว่างานพระเมรุที่ทำในครั้งนั้นยังไม่ถูกต้องตามแบบแผนโบราณราชประเพณี โดยอ้างว่าตัวมีตำราเดิมที่เก่ากว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงกริ้วแล้วมีรับสั่งให้เรียกตัวนายกุหลาบมาสอบถาม เขาก็สารภาพว่าเป็นการแต่งคิดขึ้นมาเองเพื่ออวดภูมิความรู้ และไม่มีตำราอย่างใดตามที่อ้างไว้ ครั้งนี้เป็นแต่คาดโทษนายกุหลาบไว้ และโปรดให้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาประจำปีนั้น แต่หาได้ลงโทษนายกุหลาบอย่างใด(๕)
ครั้งที่ ๓ เกิดในระยะเดียวกัน คือ ปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๓ (ถ้านับตามปฏิทินปัจจุบันจะเป็นต้นปี ๒๔๔๔ เพราะปฏิทินเก่าเดือนสุดท้ายของปีคือมีนาคม - ผู้เขียน)
ครั้งนี้เป็นเรื่องราวใหญ่โต เพราะนายกุหลาบปลอมแปลงพระประวัติของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามรูปแรก ผู้ทรงเป็นพระอาจารย์ใหญ่ของรัชกาลที่ ๕ มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ในพระองค์และเป็นพระอาจารย์ถวายข้อธรรมะให้ทรงศึกษาในระหว่างทรงผนวช เป็นผู้ที่ทรงเคารพนับถือตลอดมา แม้เมื่อทรงลาผนวชแล้ว ก็ยังเสด็จฯ ไปสรงน้ำสงกรานต์และประทับตรัสด้วยคราวละนานๆ
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) นับเป็นพระมหาเถระรูปที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับพระราชทานราชทินนามที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ อันเป็นราชทินนามสำคัญ สำหรับตำแหน่งพระสังฆราชตั้งแต่ขณะที่ยังไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช อันนับได้ว่าเป็นการพระราชทานเกียรติยศอย่างสูงเป็นกรณีพิเศษ
ดังนั้น เมื่อนายกุหลาบแต่งเติมพระประวัติแบบเดาสุ่มด้วยข้อความเป็นเท็จ แถมยังหาญกล้านำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๕ เป็นจำนวนมากถึง ๒,๐๐๐ ฉบับ สำหรับเป็นหนังสือแจกในงานพระเมรุสมเด็จพระสังฆราช โดยโฆษณาว่าตนเองรู้พระประวัติดี จึงโปรดให้มีการไต่สวนและลงโทษผู้กระทำผิดอย่างทันท่วงที อันเป็นการรักษาพระเกียรติยศของพระกรรมวาจาจารย์ผู้ที่ทรงนับถืออย่างสูง มิให้เป็นเยี่ยงอย่าง (๒)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1322546358&grpid=no&catid=&subcatid=
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น