ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"

ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บิล คลินตัน สร้างโลก-สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน ไม่ใช่ทางเลือกแต่คือสิ่งต้องทำ

วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4263  ประชาชาติธุรกิจ


บิล คลินตัน สร้างโลก-สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน ไม่ใช่ทางเลือกแต่คือสิ่งต้องทำ





ส่วน หนึ่งของงานลดโลกร้อน ถวายพ่อ ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติแห่งการบรมราชาภิเษกปีที่ 60 และการเฉลิมพระชนมพรรษา กระทรวงพลังงาน คือ การปาฐกถาภายใต้หัวข้อ "Embracing Our Common Humanity" โดยวิทยากรพิเศษผู้มีชื่อเสียงระดับโลก "บิล คลินตัน" อดีตประธานาธิบดีสหรัฐที่ปัจจุบันกระโดด เข้ามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเต็มตัว ด้วยการตั้งมูลนิธิ William J. Clinton Foundation ที่มีคณะทำงานทั่วโลกให้ความช่วยเหลือทั้งการระดมทุน ระบบการจัดการและการเผยแพร่ความรู้เพื่อต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา

"คลินตัน" มาเยือนไทยเป็นครั้งที่ 6 เท้าความว่า มาเหยียบ แผ่นดินไทยครั้งแรกเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสครองราชย์ครบ 50 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี 2539 หลังจากนั้นกลับมาอีกหลายครั้งเพื่อร่วมฟื้นฟูสภาพบ้านเมืองและจิตใจของ ประชาชนหลังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิซัดถล่มชายฝั่งอันดามัน และครั้งสุดท้ายคือเมื่อธันวาคม 2549 เพื่อร่วมดูแลรักษาป่าชายเลนที่เสียหายจากคลื่นยักษ์

เขาได้ย้อนถึง ความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างไทย-สหรัฐ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2339 ว่า ไทยนับเป็นมิตรที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยหวังว่าพันธมิตรของ 2 ประเทศจะต่อเนื่องยาวนานต่อไปและขยายขอบเขตจากการค้าการลงทุน การทหาร และการศึกษาไปยังด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย

เปลี่ยนโลกด้วยการเปลี่ยนความคิด

ต่อ คำถามที่หลายฝ่ายซึ่งคัดค้านการแก้ไขปัญหาโลกร้อนหยิบยกขึ้นมาว่า ทำไมจึงต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เหตุใดเรื่องนี้จึงสำคัญยิ่งยวดจนต้องมีตารางการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมและ ดำเนินการอย่างแน่วแน่ เขาให้คำตอบว่า เป็นเพราะวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นเรื่องแท้จริง และสามารถพิสูจน์ได้ แต่หลายองค์กรโดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีผลประโยชน์ก้อนโตยังไม่ยอมรับ เรื่องนี้ ไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนจนนำไปสู่ความล้มเหลวในการประชุมเพื่อแก้ปัญหาโลก ร้อนที่โคเปนเฮเกนเมื่อปีกลาย

ดังนั้นลำดับแรกของการรับมือปัญหาดัง กล่าวคือ การรณรงค์ให้คนทั่วโลกตระหนักถึงความร้ายแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกและมีทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างถูกต้อง ที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าการแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องสำคัญ กลับมองว่าเป็นตัวขัดขวางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวความคิดแบบเก่า โดยทั่วโลกมีผู้คนเพียง 3% เท่านั้นที่ตระหนักถึงปัญหานี้ ขณะที่อีก 97% ไม่ใส่ใจหรือกลัวว่าการแก้ไขปัญหาโลกร้อนจะส่งผลให้ต้องละทิ้งวิถีชีวิตอัน สะดวกสบายเช่นปัจจุบัน จึงเลือกที่จะเพิกเฉย ไม่ยอมรับรู้ว่าปัญหาดังกล่าวมีอยู่จริง



แต่ ข่าวดีคือ ขณะนี้ประชาชนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ เยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีแสงแดดมากนักกลับใช้ประโยชน์จากพลังงานแสง อาทิตย์อย่างกว้างขวาง ด้านจีนก็ทุ่มเทงบประมาณให้กับพลังงานทางเลือกชนิดนี้มากกว่าสหรัฐถึง 2 เท่า ขณะที่อินเดียก็กำลังมุ่งมั่นพัฒนาการใช้พลังงานลม

เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อมโตคู่กันได้

คลิ นตันกล่าวว่า "ผมเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่า โลกของเราสามารถสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนพร้อมกับตอบสนองต่อปัญหา สภาวะภูมิอากาศโลกไปพร้อม ๆ กันได้ เราไม่จำเป็นต้องเสียสละอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งอีกอย่างหนึ่ง ถ้าคุณสามารถพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานที่ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมสำเร็จ ไม่เพียงจะสร้างงานได้มหาศาล เศรษฐกิจโลกก็จะเติบโตแบบก้าวกระโดด อีกทั้งยังนำมาซึ่งความร่วมมือในระดับนานาชาติด้วย"

เกี่ยวกับพิธี สารเกียวโตนั้น คลินตันระบุว่า ในบรรดาหลายสิบประเทศที่มีพันธสัญญาว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นมีเพียง 4 ชาติเท่านั้นที่จะปฏิบัติตามคำมั่นได้สำเร็จเมื่อพิธีสารดังกล่าวสิ้นสุดลง ในปี 2555 ได้แก่ เยอรมนี เดนมาร์ก สวีเดน และสหราชอาณาจักร ซึ่งล้วนประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่าง หนักหน่วงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผจญกับปัญหาการว่างงานและ จีดีพีหดตัว แม้การเมืองการปกครองหรือสภาพสังคมของประเทศเหล่านี้ก็แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ 4 ชาติดังกล่าวมีเหมือนกันคือ มุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงวิธีผลิตและบริโภคพลังงาน โดยเริ่มต้นตั้งแต่หน่วยเล็กของสังคมไปจนถึงระดับเมืองและระดับประเทศในที่ สุด ดังนั้นไม่มีข้ออ้างใดเลยที่สหรัฐหรือชาติอื่นจะยกขึ้นมาเป็น ข้อแก้ตัวว่า เหตุใดจึงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

นอกจาก 4 ประเทศข้างต้นแล้ว ท่านประธานาธิบดีคนที่ 42 ของสหรัฐยังชื่นชมรัฐอาบูดาบีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งให้คำมั่นว่า จะสร้าง carbon neutral city หรือเมืองที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ก่อนหน้านี้ถ้าใครบอกว่า ชาติที่ร่ำรวยด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างยูเออีจะสร้างเมืองที่เป็น carbon neutral ตัวเขาเองคงไม่เชื่อ แต่เพราะเดี๋ยวนี้การตระหนักถึงภาวะโลกร้อนมีมากขึ้น โครงการดังกล่าวจึงถือกำเนิดขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของผู้นำและพลเมือง

เขาได้ ยกตัวอย่างโครงการที่มูลนิธิของเขาดำเนินการเป็นผลสำเร็จในสหรัฐ ซึ่งคือการเปลี่ยนตึกเอมไพร์สเตท หนึ่งในตึกที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของมหานครนิวยอร์ก และครั้งหนึ่งเคยเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในโลก โครงการดังกล่าวเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องใช้ทุนสูงเพราะต้องติดตั้งระบบในตึก ใหม่ทั้งหมด แต่การลงทุนครั้งนั้นก็ถึงจุดคุ้มทุนภายใน 2 ปีครึ่ง จากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ลดลง 38%

Win-Win Projects

อีก หนึ่งโครงการที่คลินตันให้ความสนใจได้แก่ การเปลี่ยนที่ดินไร้ค่าอย่างที่ทิ้งขยะให้เป็นแหล่งทำเงิน โดยอาศัยระบบการรีไซเคิลกับขยะประเภท พลาสติก แก้ว โลหะ กระดาษ และระบบการหมักกับขยะอินทรีย์เพื่อเปลี่ยนก๊าซมีเทนที่อันตรายต่อสภาพภูมิ อากาศยิ่งกว่าก๊าซคาร์บอนให้เป็นแหล่งพลังงาน โครงการลักษณะนี้เป็นแบบได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย (win-win) กล่าวคือ ภาครัฐได้ลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด ภาคประชาชนได้ลดพิษภัยจากของเหลือทิ้งซ้ำยังมีงานมีรายได้จากกการขายขยะหรือ ก๊าซชีวภาพ

นอกจากวิธีการข้างต้น เราสามารถใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่าได้ โดยสร้าง solar park ซึ่งเป็นทั้งสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจและผลิตพลังงานจากแผงโซ ลาร์เซลล์ที่ติดตั้งไว้ในสวนได้ด้วย เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ เพิ่มการจ้างงานตลอดจนแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตามคลินตันออกตัวว่า เขาไม่ได้ต่อต้านการใช้พลังงานจากเซลล์ปรมาณู โดยในรัฐอาร์คันซอสมัยที่เขาเป็นผู้ว่าการรัฐนั้นก็มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่ง และนับตั้งแต่เปิดดำเนินการในปี 2507 เคยเกิดปัญหาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เพียงแต่เห็นว่าขั้นตอนการกำจัดกากนิวเคลียร์ต้องอาศัยความระมัดระวังมากและ มีค่าใช้จ่ายสูง หากนำเงินส่วนดังกล่าวมา สร้างโซลาร์ปาร์กจะสร้างงานได้มากกว่าและมลพิษก็น้อยกว่า

แม้ว่าเขา จะเห็นด้วยกับการใช้ไบโอดีเซล แต่ได้กล่าวเตือนว่า ต้องใช้อย่างสมดุล แบ่งสัดส่วนระหว่างการนำไปเป็นอาหารกับการผลิตพลังงานอย่างพอเหมาะ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการแย่งชิงผลผลิตและทำให้ราคาพืชชนิดนั้น ๆ สูงเกินควร อีกทั้งต้องระวังไม่ให้เกิดการทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยเฉพาะในเอเชียที่ภัยคุกคามนี้เริ่มขยายวงกว้าง มิเช่นนั้นแทนที่ไบโอดีเซลจะช่วยลดปัญหากลับยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้าย ลงอีก

สินเชื่อสีเขียว

มีหลายคนที่ต้องการพัฒนาหรือ สร้างสรรค์แนวทางใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ส่วนใหญ่มักติดขัดปัญหาทางการเงิน เช่นในกรณีของสหรัฐนั้น สถาบันการเงินไม่ค่อยเต็มใจปล่อยกู้ให้บริษัทพลังงานทางเลือกเพราะเห็นว่าใน อนาคตราคาพลังงานที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมจะมีราคาลดลงเรื่อย ๆ จนอาจทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถหาเงินมาชำระคืนได้ รัฐบาลชาติต่าง ๆ จึงต้องสร้างระบบให้ความช่วยเหลือทางการเงินขึ้นมา เพื่อสนับสนุนให้โครงการเหล่านี้ตั้งไข่และก้าวต่อไปได้ ระบบดังกล่าวต้องออกแบบมาอย่างดีและรัดกุมแต่ก็ยืดหยุ่นเพื่อให้เดินหน้า ด้วยตัวเองได้ ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะผันผวนหรือรุ่งโรจน์

เขาระบุด้วย ว่า สหรัฐก็เช่นเดียวกับไทยที่ต้องสิ้นเปลืองเงินจำนวนมหาศาลไปกับการนำเข้า พลังงาน แต่โชคดีที่ทั้ง 2 ประเทศมีระบบสุขภาพที่พึ่งพาได้ ต่างกับเฮติที่ทุ่มเงินเพื่อซื้อพลังงานเป็นจำนวนมากจนไม่เหลือพอมาปรับปรุง ระบบดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตมากมาย เพราะแม้จะรอดจากภัยธรรมชาติแต่หากขาดการดูแลรักษาที่มีคุณภาพก็ต้องสังเวย ชีวิตไปในที่สุด ไม่ใช่เฮติประเทศเดียวที่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูง แทบทุกชาติในแถบทะเลแคริบเบียนก็เป็นเช่นนี้ ทั้งที่ภูมิภาคนั้นสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์และลมซึ่งมีอย่างเหลือเฟือได้

สำหรับ ไทยนั้นเขาแนะนำว่า ควรเร่งลดอุปสรรคทางเทคนิค อาทิ ตั้งสถานีชาร์จไฟสำหรับรถพลังไฟฟ้าเพิ่ม แก้ไขข้อกฎหมายที่ขัดขวางการใช้พลังงานทางเลือก รวมไปถึงออกกฎหมายที่สนับสนุนการประหยัดพลังงาน สร้างแรงจูงใจทั้งด้านภาษีหรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ

สร้างโลกสร้างเศรษฐกิจ

คลิ นตันอ้างรายงานการวิเคราะห์ของธนาคารดอยช์แบงก์ว่า กระบวนการป้องกันแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจะช่วยสร้างงานให้ เยอรมนีได้ถึง 3 แสนอัตรา ซึ่งหากนำมาปรับใช้กับจำนวนประชากรและพื้นที่ของสหรัฐจะสามารถลดการว่างงาน ได้มากถึง 3 ล้านคน แต่ขั้นแรกต้องเชื่อมั่นก่อนว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องจริง เป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่จะสร้างเศรษฐกิจอยู่ดีกินดีให้กับประชาคมโลก แม้ผลกระทบของอุณภูมิโลกที่สูงขึ้นกว่าจะเห็นชัดแจ้งต้องใช้เวลาอีก 40-50 ปี แต่ถ้ารอถึงตอนนั้นทุกอย่างอาจสายเกินแก้ จึงต้องมุ่งมั่นลดการใช้พลังงานตั้งแต่เดี๋ยวนี้ บางอย่างที่ลงมือทำได้ทันทีก็ไม่ควรรั้งรอ บางสิ่งเป็นเรื่องระยะยาวก็ต้องวางแผนงานอย่างรอบคอบ

โลกยุคนี้ เป็นโลกแห่งความสงบและมั่งคั่งเพราะโลกไม่มีพรมแดนอีกต่อไป เด็กสมัยนี้อยากรู้อะไรแค่เพียงเปิดอินเทอร์เน็ตข้อมูลก็จะหลั่งไหลออกมา ขณะที่สมัยก่อนต้องเข้ามหาวิทยาลัยจึงจะทราบ แต่ความมั่นคงของโลกยังคลอนแคลนเพราะมีประชากรอีกหลายล้านที่มีรายได้ต่ำ กว่า 2 ดอลลาร์ต่อวัน การแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นทางออกทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน ต้องแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่าแนวทางนี้เป็นไปได้ เกิดขึ้นได้จริง แล้วจะมีคนเข้ามาให้ความร่วมมือมากขึ้น

เขากล่าวทิ้งท้ายว่า "การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่ใช่เวลาจะมาตั้งคำถามว่า ควรทำหรือไม่ แต่ควรทำอย่างไร"


หน้า 36
 


 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น