คู่มือแก้ไข-ฟื้นฟู 'บ้าน'หลังวิกฤตน้ำท่วม
วิธีการ "กอบกู้บ้าน" หลังน้ำลดมีเทคนิค-แนวทางอย่างไร "ข่าวสด หลาก&หลาย" ขอรวบรวมข้อมูลที่สำคัญๆ บางส่วนจาก "ผู้รู้" เอาไว้ดังนี้
ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์
วุฒิสถาปนิกไทย
ผู้เขียนหนังสือ
"บ้านหลังน้ำท่วม"
รั้วคอนกรีต-แข็งแรงแต่อย่าประมาท
น้ำคือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของธรรมชาติ และธรรมชาติเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินกว่ามนุษย์จะไปท้าทายแข็งขืน รั้วคอน กรีตของบ้านเรือนต่างๆ ก็ไม่สามารถฝ่าฝืนกฎนี้ได้
การตรวจสอบและหาแนวทางแก้ไขรั้วที่ได้รับความเสียหาย มีดังนี้
1. ใช้สายตาเล็งดูว่ารั้วยังตั้งฉากดีอยู่หรือไม่ หากเอียงเล็กน้อยให้เอาไม้ค้ำยันด้านที่เอียงออกเอาไว้ก่อน เมื่อพอมีทุนทรัพย์รีบซ่อมทันที
2. หากรั้วเอียงมากจนแนวออก หรือจะออกจากแนวศูนย์ถ่วง ต้องซ่อมแซมทันที (โดยช่าง) หากไม่มีงบต้องใช้ไม้ค้ำยันที่แน่นหนามากๆ
3. หากรั้วมี "คานคอดิน" เมื่อน้ำลดอาจพาดินใต้คานคอดินออกไปด้วย จะเกิดรูโพรงใต้คานรั้วเป็นเหตุให้สัตว์ต่างๆ ใช้เป็นช่องทางเข้ามาในบ้านได้ หรืออาจทำให้ดินไหลออกจากบ้านไปเรื่อยๆ ฉะนั้นต้องอัดดินกลับเข้าไปเช่นเดิม
4. ประตูรั้วเหล็ก หรือไม้ อาจผุกร่อน ทำให้บานประตูปิดไม่ได้เหมือนเดิมหรืออาจหลุดทั้งบาน ให้ผูกรัดให้แข็งแรง เมื่อมีงบอย่าลืมซ่อมแซมทันที
ปลั๊กไฟหลังน้ำลด
1. ลองเปิดคัตเอาต์ให้กระแสไฟฟ้าเข้ามา (อย่าลืมต้องมีฟิวส์ที่คัตเอาต์เสมอ) หากปลั๊กหรือจุดใดจุดหนึ่งยังชื้น หรือเปียกอยู่ คัตเอาต์จะตัดไฟและฟิวส์จะขาด ลองเปลี่ยนฟิวส์แล้วทิ้งไว้สัก 1 วัน แล้วลองทำใหม่ หากคัตเอาต์ยังตัดไฟเหมือนเดิม ให้เรียกช่างไฟฟ้ามาแก้ไข
2. หากผ่านข้อที่ 1 คราวนี้ลองทดสอบเปิดไฟทีละจุด และทดสอบกระแสไฟฟ้าในปลั๊กแต่ละอันว่ามีไฟฟ้ามาปกติหรือไม่ (ซื้ออุปกรณ์ตรวจกระแสไฟจากห้างไฟฟ้าทั่วไป) หากมีปัญหาบางจุดอาจรอให้ความชื้นระเหยไปแล้วทดสอบใหม่ แต่ถ้ามีเงินสมควรเปลี่ยนใหม่
3. ดับไฟทุกจุดในบ้าน ถอดสายเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทั้งหมด แต่ยังเปิดคัตเอาต์ไว้ แล้วไปดูมิเตอร์ไฟหน้าบ้านว่าหมุนหรือไม่ หากไม่แสดงว่าไฟในบ้านไม่น่าจะรั่ว แต่ถ้ามิเตอร์หมุนแสดงว่ายังปิดไฟไม่ครบทุกจุด หรือไฟในบ้านอาจจะรั่ว รีบตามช่างไฟมาดูแล
4. เรื่องไฟฟ้าต้องไม่ประมาท ถ้าไม่แน่ใจให้เรียกช่าง ถ้าพอมีเงินให้ตัดปลั๊กไฟระดับต่ำๆ ในบ้านออกให้หมด หรือเลื่อนตำแหน่ง สูงขึ้นกว่าพื้นห้องสักระดับ 1.10 เมตรขึ้นไป
5. หากมีงบสูงๆ ให้แยกวงจรไฟฟ้าออกจากกัน (ปรึกษาแนวทางจากวิศวกรไฟฟ้า)
สีทาบ้าน
เรื่องการแก้ไขสีทาบ้าน ขอให้เป็นสิ่งสุดท้ายหรือเกือบสุดท้ายที่จะซ่อมแซม เพราะสีทุกชนิดที่ทาบ้านเมื่อถูก "ความชื้น" หนักๆ อย่างน้ำท่วมคราวนี้จะต้องมีอันเป็นไปเกือบทุกที่
ข้อคิดสำคัญเรื่องของสีทาบ้าน คือ ปัญหาสีลอกล่อน เกิดจากความไม่พร้อมของพื้นผิวที่ทาสี หากพื้นผิวเกิดความชื้น หรือมีสิ่งสกปรกติดอยู่ ทาสีทับลงไปอย่างไรก็ลอกล่อนหมด
ขอให้ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งทาสี, ทำความสะอาดหรือลอกสีเดิมออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ลอกเฉพาะตรงที่มีปัญหา ไม่ใช่ลอกทั้งหมดบ้าน) ทิ้งไว้นานๆ อาจจะหลายเดือนจนถึงหน้าแล้งฤดูร้อน ค่อยทาใหม่ก็นับว่าไม่สายเกินไป
ประตูบวม-ขึ้นสนิม
1. ประตูไม้ หรือวัสดุเหมือนกับไม้ที่บวมขึ้นมาหรือผุพัง ก็เหมือนกับประตูห้องน้ำที่หลายๆ บ้านเป็น อันเกิดจากความชื้นในห้องน้ำ แก้ไขโดยการทิ้งไว้ให้แห้ง ซ่อมแซมพื้นผิวเท่าที่ตนเองจะทำได้ หรือหากหมดสภาพจริงๆ และพอมีงบบ้างก็ซื้อเปลี่ยนใหม่
2. ประตูเหล็กที่ขึ้นสนิม จัดการขัดสนิมออก เช็ดให้แห้ง แล้วทาสีใหม่ทับลงไปก็ถือได้ว่าเสร็จพิธี แต่ความน่าสนใจคือขอให้มั่นใจว่าน้ำหรือความชื้นได้ออกไปหมดแล้ว ทั้งในท่อโครงเหล็ก หรือบริเวณรอยต่อต่างๆ
3. กรณีประตูเอียงและวงกบเปื่อยยุ่ย ยึดเกาะได้ไม่เต็มที่ เบื้องต้นพยายามใช้ที่ค้ำยัน หรือลิ่มเล็กๆ สอดรับแรงถ่ายน้ำหนักของบานเอาไว้ก่อน รอจนความชื้นระเหยออก นอตตะปูจะยึดติดดีขึ้น น้ำหนักบานจะน้อยลง อาการจะกลับมาเกือบปกติ
วอลเปเปอร์และผ้าม่านจมน้ำ เป็นคราบน่าเกลียด
เรื่องม่านคงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่จะซ่อมแซมดูแล เหมือนกับเสื้อผ้าทั่วไปที่ถูกน้ำท่วม หากแม้นสามารถถอดออกมาซักทำความสะอาดได้ก็ซักไป แต่หากสกปรกมากและเปื่อยยุ่ยคงต้องซื้อหามาเปลี่ยนตามสมควร
ส่วนวอลเปเปอร์นั้นเหมือนกับเรื่อง "สี" หากมีปัญหาลอก-ล่อน ก็ลอกออกเสีย เพื่อให้ความชื้นในผนังระเหยออกได้ง่าย (โดยเฉพาะวอลเปเปอร์ที่ทำด้วยไวนิล หรือวัสดุประเภทยางน่าจะต้องรีบลอกออกเพราะเป็นตัวกักความชื้นในผนังอย่างดี) เมื่อผนังแห้งหมดแล้ว แห้งดีแล้ว จึงให้ช่างปูวอลเปเปอร์มาลอกออก พร้อมกับปิดทับเข้าไปให้สวยงาม
รศ.ดร.อมร พิมานมาศ
สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ฯ
ความปลอดภัย "โครงสร้างอาคาร" หลังน้ำท่วม
รศ.ดร.อมรอธิบายถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับโอกาสที่ฐานรากของบ้านจะเสียหายเพราะฤทธิ์น้ำท่วมว่ามีขนาดไหนเอาไว้ว่า
'ฐานรากของอาคาร' เป็นส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำโดยตรง จึงมีโอกาสที่จะเสียหายได้มากกว่าโครงสร้างที่อยู่ข้างบน
ในทางวิศวกรรม ฐานรากมีอยู่สองชนิด คือฐานรากที่วางบนดิน และฐานรากที่วางบนเสาเข็ม
หากเป็นฐานรากวางบนดินมีโอกาสที่นํ้าซึ่งไหลผ่านไปจะกัดเซาะดินใต้ฐานราก ดังนั้นภายหลังจากที่นํ้าลดแล้วก็อาจจะเห็นฐานรากซึ่งเคยฝังอยู่ใต้ดินโผล่ขึ้นมา ตรงนี้อาจมีผลต่อโครงสร้างได้ เนื่องจากเมื่อดินถูกชะไปจะทำให้ฐานรากทรุดและอาจทำให้โครงสร้างสูญเสียการทรงตัวจนพังทลายได้
ในกรณีที่เป็นฐานรากบนเสาเข็มสั้นๆ กำลังรับน้ำหนักของเสาเข็มอาจจะลดลงเมื่ออยู่ในดินที่ชุ่มน้ำ ซึ่งอาจทำให้กำลังรับน้ำหนักลดลงได้เช่นกัน อีกจุดหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นห่วงคือฐานรากที่จมอยู่ใต้น้ำ 1-2 เมตรจะเกิดแรงดันน้ำยกบ้านให้ลอยขึ้น โดยเฉพาะหากเป็นบ้านชั้นเดียวที่มีน้ำหนักไม่มากและไม่ได้ใส่เหล็กเดือยยึดเสาเข็มกับฐานรากเข้าไว้ด้วยกัน อาจทำให้ตัวบ้านลอยเคลื่อนออกจากฐานรากซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก
สำหรับบ้านที่ใช้เสาเข็มยาวๆ ที่หยั่งลงไปในชั้นดินแข็งที่ระดับลึกๆ และมีเหล็กเดือยยึดระหว่างเสาเข็มและฐานรากก็จะเป็นโครงสร้างที่มีความปลอดภัยสูงกว่า
ส่วนแนวทางการซ่อมแซมอาคาร บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วม มีดังนี้
การซ่อมแซมโครงสร้างอาคารที่ได้รับความเสียหายขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งพอสรุปเป็นแนวทางประกอบด้วย..
1. คานและเสา หากมีรอยแตกร้าวแต่ยังไม่ถึงขั้นบิดเบี้ยวเสียรูป อาจซ่อมแซมรอยแตกร้าวด้วยการฉีดกาวอีพ็อกซี่เข้าไปในรอยแตกร้าว และหากเหล็กเสริมเป็นสนิมจำเป็นต้องขัดเอาสนิมออกแล้วทาสีกันสนิม เสริมเหล็กเพิ่มเติมแล้วพอกคอนกรีตกลับไปเช่นเดิม
2. หากเสาหักหรือขาด ต้องรีบให้ช่างหาเสาเหล็กหรือเสาไม้มาตู๊โครงสร้างโดยด่วน เนื่องจากเสาที่หักจะรับน้ำหนักไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นโครงสร้างอาจจะถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ จะต้องรีบปรึกษาวิศวกร การแก้ไขต้องทุบเสาทิ้งและหล่อเสาขึ้นใหม่
3. พื้นหรือกำแพงที่ถูกแรงดันน้ำดันจนแอ่นตัวหรือทรุดตัว จะถือว่าพื้นหรือกำแพงนั้นใช้การไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนใหม่ หากเป็นกำแพงให้ก่ออิฐขึ้นใหม่ หากเป็นพื้นต้องทุบทิ้ง จากนั้นผูกเหล็กแล้วเทคอนกรีตใหม่
4. ในกรณีที่ตัวบ้านหลุดหรือเคลื่อนจากฐานราก จะเป็นอันตรายต่อโครงสร้างมากเพราะเท่ากับว่าบ้านไม่ได้รองรับด้วยฐานรากอีกต่อไป จะต้องยกอาคารและทำฐานรากใหม่ ซึ่งทำเองไม่ได้ ต้องปรึกษาวิศวกรที่ชำนาญทางด้านนี้โดยตรง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือบ้านหลังน้ำท่วม โดยยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ วุฒิสถาปนิกไทย / เว็บไซต์วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ
หน้า 21
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น