ถอดโถอดโมเดลสึนามิถึงวิกฤตน้ำท่วม'54 จากจิตอาสาสู่เครือข่ายถาวร – จากการ "ให้" เป็น "พัฒนา"มเดลสึนามิถึงวิกฤตน้ำท่วม'54 จากจิตอาสาสู่เครือข่ายถาวร – จากการ "ให้" เป็น "พัฒนา"
24 พฤศจิกายน 2011
วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงเกินกว่าใครหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะรับมือได้ กลุ่มพลังสังคมที่รวมตัวขึ้นในหลากหลายรูปแบบทั้งภาคเอกชน ภาคชุมชนและกลุ่มจิตอาสา กลายมาเป็นกลุ่มพลังหลัก ในการให้ความช่วยเหลือ สร้างเครือข่ายและลุกขึ้นมาดูแลชุมชนของตนเอง
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม จัดสัมมนาในหัวข้อ "ภัยพิบัติน้ำท่วมกับมิติใหม่ของสังคม" โดยเชิญกลุ่มพลังทางสังคมรูปแบบใหม่ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้เพื่อถอดเป็นบทเรียนเตรียมรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งการฟื้นฟูเยียวยาภายหลังภัยพิบัติ นายชัยยุทธ สุขศรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำวิจัยทั่วไป เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องของน้ำท่วม ทั้งในระยะปานกลางและในระยะยาว ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปหาคนมารับผิดชอบ แต่จะพยายามมองหาจุดบกพร่องต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุง
วิกฤตรอบนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 5 ด้าน คือ 1.ความไม่เข้าใจและขาดความรู้ในเรื่องน้ำ ทำให้การตัดสินใจในหลายๆกิจกรรมมีความล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น 2.การให้ข้อมูลข่าวสารไม่ครบถ้วน และข้อมูลบางส่วนอาจจะผิดพลาด 3.เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้อง ควรเป็นอย่างไร ขณะนี้เกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จึงเกิดคำถามว่าเรายังสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ต่อไปหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนมาเป็นบรรเทา หมายความว่าเราอาจจะต้องล้มเลิกแนวคิดที่จะต่อสู้กับน้ำ และควรปรับวิถีชีวิตให้มาอยู่กับน้ำท่วมได้ อย่างเช่น กรณีอยุธยา อ่างทอง นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง เกิดปัญหาน้ำท่วมสูงเกินกว่าที่ระบบป้องกันได้ออกแบบไว้ทั้งสิ้น
4.เสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของการบริหารจัดการน้ำ เริ่มตั้งแต่ระบบปิดล้อมที่ใช้กันมานานเกือบ 50 ปี ควรจะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ โดยเฉพาะระบบปิดของกทม. ควรจะเผยแพร่ข้อมูลให้สาธารณชนได้รับทราบว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร มีระบบการระบายน้ำและวางเครื่องสูบน้ำไว้ที่ไหนบ้าง จำนวนเท่าไหร่ เส้นทางการไหลของน้ำจะไปที่ไหน อย่างที่เขียนไว้บทความ "กรุงเทพมหานครรอด แต่บ้านใครฉิบหาย" ของนายประภาส ปิ่นตบแต่ง (ดูในล้อมกรอบ)
ถ้าเราเรียนรู้ประสบการณ์เหล่านี้ได้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะนำไปสู่วิธีการจัดการปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นสุดท้ายที่เราจะทำการศึกษา จากนี้ไปก็จะมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำทยอยออกมาเป็นระยะๆ
"ระบบปิดล้อมในตำราเขาเขียนไว้ว่าเป็นระบบที่เห็นแก่ตัว สิ่งที่เกิดขึ้น คือคนที่อยู่นอกคันกันน้ำเดือดร้อน ระบบปิดล้อมเขียนไว้ในตำราของม.ล.ชูชาติ กำภู อดีตอธิบดีกรมชลประทานมาตั้งแต่ปี 2506 กทม.ได้นำมาประยุกต์ใช้เกือบ 50 ปีแล้ว คนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำก็ไม่ได้ตั้งคำถาม คนที่อยูในคันกั้นน้ำ ยิ่งไม่ตั้งคำถามใหญ่ ซึ่งเป็นระบบที่เห็นแก่ตัว ขณะนี้ทุกจังหวัด ก็ทำระบบปิดล้อมทั้งสิ้น สังคมมันจะอยู่กันได้ไหม น้ำมันจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ และถ้าเราพยายามต่อสู้น้ำ น้ำมันก็จะสร้างพลังอย่างที่เห็น เราทำคันกั้นน้ำไม่ให้เข้านิคมอุตสาหกรรมสูง 4 เมตร ก็ยังเอาไม่อยู่"
หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่ากรมชลประทานมีการจัดเก็บข้อมูลสถิติปริมาณน้ำมาตั้งแต่ปี 2448 อย่างที่จ.นครสวรรค์มีการเก็บข้อมูลน้ำเอาไว้กว่า 100 ปี บางท่านบอกว่าจะมาเปรียบเทียบกับปัจจุบันไม่ได้ เพราะสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน ซึ่งก็มีส่วนถูก แต่ผมคิดว่ามันไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก
ปัญหาที่เกิดขึ้น จริงๆแล้วเกิดจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารไม่ครบถ้วนหรือเปล่า ยกตัวอย่าง น้ำท่วมรอบนี้มีบางท่านพูดว่ามันเป็นน้ำท่วม 100 ปี แต่ถ้าเราดูจากข้อมูลปริมาณน้ำของกรมชลประทานจะพบว่าปัญหาน้ำท่วมในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 50 ปี ดังนั้นสิ่งที่เราเผชิญเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ไม่ได้เป็นอะไรมหัศจรรย์เลยและมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้อีกประมาณ 1 ใน 50 หรือ ประมาณ 2% แต่ถ้าจะพูดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อย สัดส่วนควรจะอยู่ที่ 1 ใน 100 หรือ 1 ใน 200 แต่นี่มัน 1 ใน 50 ก็มีโอกาสเกิดขึ้นอีก สังคมควรจะรับรู้ว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมถึงแล้ว ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ
จากประสบการณ์ครั้งนี้ ทำให้สังคมไทยได้รับบทเรียนที่มีคุณค่าแก่การศึกษาในหลายๆด้าน ซึ่งการสัมมนาได้เชิญผู้นำชุมชนจำนวน 5 คน มาถ่ายถอดประสบการณ์ในการบริหารจัดการปัญหาภัยพิบัติในอดีตที่ผ่านมา
โมเดลบ้านน้ำเค็มรับมือภัยพิบัติ
เริ่มจากนายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้แทนเครือข่ายบ้านน้ำเค็ม จากผู้ที่เคยประสบภัยสึนามิ กลายมาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ได้เล่าถึงประสบการณ์ในอดีต ช่วงที่เกิดสึนามิว่า ตอนนั้นชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น คิดว่าน้ำท่วมโลก ชาวบ้านไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน จึงหนีขึ้นไปอยู่ตามป่าตามเขา แต่โชคดีมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) และมูลนิธิชุมชนไทเข้ามาช่วยเหลือ
ชาวบ้านจึงเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว สิ่งแรกที่ต้องทำคือเรื่องส้วม จากนั้นก็เป็นที่พัก ชาวบ้านก็เริ่มทยอยเข้ามาที่ศูนย์พักพิงฯทันที
"ผมไม่เคยเป็นผู้บริหารศูนย์ฯมาก่อน แต่ก็ต้องทำ เพราะในช่วง 3 วันแรกมีชาวบ้านเข้ามาอยู่ 1,500 ครอบครัว จึงต้องมีการแบ่งกลุ่มชาวบ้านออกเป็นกลุ่มๆกลุ่มละ 10 คนมีหัวหน้ากลุ่ม 1 คน นำประเด็นปัญหาต่างๆมาประชุมกันทุกวัน"
พอเริ่มเป็นศูนย์พักชั่วคราว ก็มีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เริ่มบริจาคเงินและสิ่งของเข้ามาช่วยเหลือ ช่วงแรกๆ ก็เกิดปัญหาให้ไม่ครบ เช่น เอาเงินมาให้ 500 ซอง แต่มี 1,500 ครอบครัว อีก 1,000 ครอบครัวไม่ได้รับเงิน ก็ทะเลาะกัน เอาข้าวสารมาแจกแต่ให้ไม่ทั่วถึง กลายเป็นประเด็นปัญหาสร้างความปั่นป่วน
เราจึงมาวางระบบกันใหม่ ใครนำสิ่งของมาบริจาคต้องเข้ากองกลางภายใน 15 วัน เราได้รับเงินบริจาค 1.54 ล้านบาท ก็เรียกประชุมหัวหน้ากลุ่มมาประชุม ขอความเห็นในการจัดการเงินบริจาคตามหลักประชาธิปไตย เสียงข้างมากบอกให้แบ่งกัน ก็ได้กันไปครอบครัวละ 900 บาท เอาไปใช้ประโยชน์อะไร แทบไม่ได้เลย ดังนั้นในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้จะใช้หลักประชาธิปไตยไม่ได้
จากนั้นเราจึงปิดรับบริจาคเงิน แล้วมาตั้งเป็นกลุ่มอาชีพหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มที่ต้องการสร้างเรือ ก็มีบริษัทมิชลินและปูนซิเมนต์ไทยบริจาคเงินช่วยเหลือ 3-4 ล้านบาทให้มาต่อเรือ ใครอยากสร้างบ้านทางรัฐบาลประเทศเดนมาร์ค สหภาพยุโรปและรัฐบาลไทย ร่วมบริจาคเงินเข้ามาสร้างบ้านถึง 50 ล้านบาท
กระบวนการคือต้องมีการรวมกลุ่มกันก่อน จากนั้นก็ตั้งตัวแทนกลุ่มนำมารวมกันเป็นคณะกรรมการบริหารจัดการทั้งหมด ทำครัวเอง ล้างห้องน้ำเอง วางระบบเตือนภัย เวลาเกิดภัยพิบัติจะหนีไปทางไหน กำหนดเส้นทางหมด ไม่ต้องวิ่งหนีบ่อยๆ อย่างไม่มีเหตุผล จึงจำเป็นต้องขอรับทราบข้อมูลแผ่นดินไหวพร้อมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะถ้าไม่รู้ข้อมูลพร้อมกัน กว่าผู้ว่าฯจะสั่งการลงมาใช้เวลา 1 ชั่วโมง พอดีชาวบ้านหนีไม่ทัน ตายกันพอดี ทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี กว่าจะทุกอย่างจะเข้าที่-เข้าทาง ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้เรา ก็นำมาสรุปเป็นบทเรียน เมื่อเกิดปัญหาภัยพิบัติต้องปฎิบัติอย่างไรบ้าง และหลังวิกฤตจะฟื้นฟูอย่างไร จนชุมชนของเรามีความเข้มแข็ง
จากนั้นก็จัดทีมอาสาสมัครออกไปช่วยเหลือ ในปี 2549 จ.อุตรดิต เกิดปัญหาน้ำท่วม ทางเครือข่ายบ้านน้ำเค็ม ก็ส่งอาสาสมัครไปช่วยเหลือ 50 คน เกิดดินโคลนถลมที่ลำปาง เราก็ส่งอาสาสมัครไปช่วย 100 คน น้ำท่วมโคราชก็ส่งอาสาสมัครไปช่วยเหลือ
สุดท้ายก็จัดอาสาสมัครมาช่วยที่เขตดอนเมือง หลังจากที่ทราบว่ามีชาวบ้านประมาณ 450 คน ไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปดูแล พวกเราจึงเข้าไปช่วยจัดระบบให้ที่ดอนเมือง ช่วยกันวางระบบเรื่องส้วม น้ำประปา ไฟฟ้า และก็มีกรมอนามัยเข้าไปดูแล เราคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ แต่คนกรุงเทพทำยากพอสมควร ไม่เหมือนชุมชนต่างจังหวัดที่เราเคยไป เพราะเขาไม่รู้จักกัน ไม่เคยพูดคุยกัน ตอนพม่าโดนนากีสถล่ม เราก็ไปช่วยเหลือ แต่ยังง่ายกว่าคนกรุงเทพฯ
ความล้มเหลวของบริหารจัดการภาครัฐ
ด้านนางปรีดา คงแป้น มูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นรอบนี้มีความขัดแย้งในพื้นที่รับน้ำเกิดขึ้นหลายจุด อย่างเช่น พื้นที่จ.ปทุมธานี กับจ.นนทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีประชาสังคมเปรียบเทียบกับนครปฐมกับสุมทรสาคร ไม่ค่อยมีความขัดแย้งกันสักเท่าไหร่ เพราะมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง เข้ามาร่วมบริหารจัดการด้วย
ดังนั้นระบบการบริหารจัดการภัยพิบัติของภาครัฐในรอบนี้ ถือว่าล้มเหลว เพราะเป็นระบบรวมศูนย์ ทั้งในเรื่องของการรับบริจาค การตัดสินใจ รวมศูนย์ฯอยู่ที่ดอนเมือง ซึ่งการจัดการปัญหาภัยพิบัติจะต้องทำทั้งในระบบควบคู่ไปกับนอกระบบ นี่เป็นประสบการณ์จากสึนามิ การจัดการความขัดแย้งในพื้นที่จุดรับน้ำยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปแก้ปัญหาได้เลย การจัดการศูนย์พักพิงก็ขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ในระยะหลังๆจะได้ยินข่าวคนที่อยู่ในศูนย์พักพิงมีปัญหาขัดแย้งกับผู้บริหารศูนย์พักพิง มีการเรียกร้องและบ่นว่าข้าวไม่อร่อยบ้าง เบิกของไม่ได้บ้าง หลายแห่งเกิดความโกลาหล
ศูนย์พักพิงใหญ่เกินไปก็บริหารจัดการยาก เพราะประเทศไทยขาดความรู้ในการบริหารจัดการศูนย์พักพิง ศูนย์พักพิงน้ำท่วมย้ายแล้วย้ายอีก เกิดการขาดแคลนอาหาร ถุงทรายกั้นน้ำ ชาวบ้านไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ เพราะไม่ทราบข้อมูลว่าน้ำจะท่วมสูงถึงขนาดนี้ แต่มาย้ายเอาตอนที่เกิดวิกฤตแล้ว แถมยังมีเกมการเมืองที่มากับน้ำท่วมอีกด้วย
"ในฐานะที่เป็นนักพัฒนา ภัยพิบัติเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการชุมชนได้เป็นอย่างดี ภัยพิบัติเป็นการรวมคนให้มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำได้เป็นอย่างดี ถ้าทำเป็น ถ้าทำถูก ขณะเดียวกันการให้ก็เป็นดาบ 2 คม คือจะให้อย่างไรให้ชุมชนเข้มแข็ง สร้างเป็นเครือข่ายของชุมชนได้ มีจิตอาสาเกิดขึ้นมามาย เป็นผลจากการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เกิดเครือข่ายสึนามิถึง 105 ชุมชน ผูกพันมาจนถึงทุกวันนี้ เกิดกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย ปัจจุบันกลายเป็นธนาคารหมู่บ้าน ดูแลสวัสดิการชาวบ้าน และยังเข้าไปแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ดูแลชาวเล คนไทยพลัดถิ่น ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ก็เริ่มมาจากสึนามิ" นางปรีดากล่าว
จากผู้ประสบภัยก็มาร่วมกันเป็นเครือข่าย และจากเงินบริจาค 1 ล้านบาท ก็มาชวนชาวบ้านออมเงินเพิ่ม ตอนนี้ธนาคารบ้านน้ำเค็มมีเงินทุนหมุน 10 ล้านบาท จากการให้กลายเป็นการพัฒนา ปัจจุบันเครือข่ายสึนามิ เข้าร่วมกิจกรรมปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อมเกือบทุกเรื่อง แม้แต่นายทุนจะมาดูดทรายไปขายสิงค์โปร์ก็ช่วยกันคัดค้านจนสำเร็จ และก็ยังไปช่วยชาวบ้านที่จ.ภูเก็ตถูกไล่ที่ดิน จนเป็นที่มาของโครงการโฉนดชุมชน เป็นต้น
โมเดลที่ถอดออกมา ก็เริ่มจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ร่วมกันจัดการของบริจาค ตั้งกองทุนขึ้นมาฟื้นฟูใน 30 ด้าน ทั้งในเรื่องของการสร้างที่อยู่อาศัย สร้างอาชีพ ฟื้นฟูวัฒนธรรมในอันดามัน จัดกิจกรรมกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่องและเข้าร่วมคณะกรรมการปฎิรูปประเทศไทย เป็นต้น
การจัดการภาวะวิกฤตต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ เพราะคนที่เข้าไปอยู่ในศูนย์พักพิงมีความหลากหลายทำให้การบริหารจัดการมีความยากลำบากมาก มีปัญหาสารพัด แต่ก็มีกระบวนการในการบริหารจัดการ อย่างที่บ้านน้ำเค็ม ก็จะวางเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มอาชีพ แผนกรักษาความปลอดภัย กลุ่มผลิตอาหาร แบ่งเป็นกลุ่มให้ผู้พักพิงมีส่วนร่วมตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาอยู่ อย่างที่คลองมหาสวัสดิ์ ก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติในลักษณะนี้ โดยความต้องการชาวบ้านเอง ในส่วนของภาครัฐเองก็ควรจะเข้าไปทำแผนที่ศูนย์พักพิงว่าเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง ในตอนนี้มีศูนย์ย่อยๆเกิดขึ้นกี่แห่ง เพื่อนำมาร่วมกันเป็นเครือข่ายต่อยอด
แรงงานแฝงไม่ได้รับการช่วยเหลือ
ด้านนายจำลอง ชะบำรุง ผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานผู้ประสบภัย บางปะอิน จ.อยุธยา กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมที่อยุธยา ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ทางสหภาพแรงงานที่อยุธยาทั้งหมด ก็ได้มีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นศูนย์ฯขึ้นมา ดูแลแรงงาน ส่วนใหญ่จะมีภูมิลำเนาอยู่ที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน แต่ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดอยุธยาเท่านั้น จึงถูกละเลย จึงจำเป็นต้องตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานขึ้นมา วันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้รับเงินช่วยเหลือเข้าไปช่วยเหลือแรงงานที่ติดอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 5-6 แห่งในอยุธยา จนถึงวันนี้กลุ่มได้จัดถุงยังชีพบรรทุกใส่เรือไปให้แรงงานที่ประสบภัยไปแล้วกว่า 8,000 ชุด ซึ่งแรงงานที่ติดอยู่ตามนิคมจะมีทั้งคนชรา เด็กทารกติดอยู่ด้วย จึงต้องพยายามหานมถุง ก็มีมูลนิธิเด็กต่างๆนำของมาบริจาค มีโรงพยาบาลเปาโล พญาไทเข้ามาตรวจสุขภาพให้
ล่าสุดในตอนนี้ก็มีมาตรการกู้นิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง ซึ่งทางศูนย์ฯก็เห็นด้วยจะได้กลับไปทำงานกัน แต่เมื่อลงไปดูพื้นที่จริง พบว่ามีสารเคมี หรือคราบน้ำมันลอยอยู่ตามผิวน้ำ ซึ่งภาครัฐได้ส่งนักวิชาการเข้าไปตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่าปลอดภัย แต่ถ้ามองด้วยตาเปล่าเห็นคราบน้ำมันลอยอยู่ ทางศูนย์ฯก็อดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะไม่มีใครทราบว่าจะมีผลต่อสุขภาพในระยะยาวหรือไม่ ภาครัฐควรจะเข้ามาช่วยบำบัดน้ำเสียก่อนที่จะปล่อยลงไปข้างล่าง ขณะนี้ชาวอยุธยาจะต้องเดินลุยน้ำไปอีก 1 เดือน เพราะกรุงเทพมีปัญหาน้ำท่วมขังอยู่จะปล่อยน้ำลงไปมากไม่ได้ แต่อย่างไรชาวบ้านก็ยืนยันว่าจะเข้าไปช่วยกู้นิคมอุตสาหกรรม เพราะอยากจะให้ลูกหลานกลับไปทำงาน
ส่วนระบบการบริหารจัดการของศูนย์ฯ ก็จะเปิดให้แรงงานเข้ามาลงทะเบียน ระบุความต้องการที่จะให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ตอนนี้น้ำเริ่มลด ก็มีปัญหาตามมา คือนายจ้างเลิกจ้าง ติดค้างค่าจ้าง ขาดการติดต่อ เป็นต้น ลูกจ้างเริ่มร้องเรียนมาทางศูนย์ฯเป็นจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลเหลานี้จะนำเสนอต่อกระทรวงแรงงานต่อไป
ฝากรัฐบาลครั้งต่อไปคิดถึงคนพิการด้วย
นายสุเมธ พลคะชา อาจารย์ประจำมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯได้จัดทำศูนย์พักพิงสำหรับคนพิการและครอบครัวที่พัทยา เดิมทีเราเป็นศูนย์ฝึกอาชีพและการศึกษาให้กับคนพิการ เรามีที่พักและอาหารให้สำหรับคนพิการทางกาย แต่หลังจากที่น้ำท่วมกรุงเทพฯทางเครือข่ายเด็กและผู้พิการได้ติดต่อมาที่มูลนิธิฯว่าน้ำจะเข้ามาที่บางแค จึงติดต่อขอนำผู้สูงอายุและคนพิการมาพักพิงที่มูลนิธิก่อน เนื่องจากคนพิการจะมีปัญหาในเรื่องของห้องน้ำ ถ้าจะให้ไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงทั่วไป คงจะไม่สะดวกนัก หลังจากประชาสัมพันธ์ออกไป มีคนพิการและครอบครัวติดต่อมาที่มูลนิธิกันมาก แต่ก็มีปัญหาคือคนพิการที่อยู่นนทบุรี ปทุมธานี ไม่มีรถมาส่ง เราก็ประสานไปที่ขสมก.เอารถไปรับมาส่งที่มูลนิธิ แต่คนพิการกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป จึงไปรับมาได้แค่ 2 เที่ยวประมาณ 30 คน รวมแล้วมีคนพิการอพพยมาอยู่ที่มูลนิธิประมาณ 200 คนเท่านั้น
ส่วนการบริหารจัดการคนพิการที่มาอยู่ในศูนย์พักพิง ก็มีความหลากหลาย บางคนขาขาดก็พอช่วยเหลือตัวเองได้ หนักหน่อยก็เป็นอัมพาต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็ให้ญาติดูแล แต่ถ้ากรณีไหนไม่มีญาติ ก็หาผู้ช่วยเหลือให้ เราให้ได้แค่วันละ 200 บาท ก็หาคนช่วยเหลือยาก คนตาบอดก็พยายามให้อยู่ใกล้ห้องน้ำ แต่บางกรณีเราก็ช่วยไม่ได้ บางคนพิการทางจิต เอามาอยู่รวมกันก็ร้องกรี๊ดๆ เราจะรับเฉพาะคนพิการทางด้านร่างกายเท่านั้น บางคนมาอยู่กับเราร่วม 1 เดือนแล้ว
ส่วนคนพิการ ผู้ป่วย คนชราที่ไม่สามารถจะเดินทางเข้ามาอยู่ที่มูลนิธิฯได้ คนเหล่านี้จะมีปัญหาในเรื่องของการเข้าถึงของบริจาคและบริการจากภาครัฐ ยกตัวอย่าง ป้าแก่ๆ อยู่กับลุง 2 คน มีเฮลิคอปเตอร์นำของมาโยนให้กลางน้ำ เป็นไปได้หรือไม่ที่เขาจะออกไปรับของบริจาค ไม่นับคนที่เป็นเบาหวาน หรือฟอกไต คงจะมีความลำบากในการไปหาหมอ ในสภาวะเช่นนี้ อย่าว่าแต่คนพิการเลย คนไม่พิการก็ใช้ชีวิตลำบากก็เป็นปัญหาหนึ่ง พอเข้าไปอยู่ศูนย์พักพิงก็มีปัญหาเข้าห้องน้ำลำบาก ขอฝากไว้เป็นบทเรียน คราวหน้าถ้าเกิดปัญหาภัยพิบัติอีก ก็อยากจะให้นึกถึงคนพิการด้วย เช่น จัดทำแผนที่ว่ามีคนพิการอยู่ตรงไหน แล้วจะย้ายไปอยู่ศูนย์พักพิงที่ไหนที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ เป็นต้น
"สมุทรสาคร" ตั้งเครือข่ายพาน้ำลงทะเล
นายชุมพล สายหยุด เครือช่ายพาน้ำลงทะเล กล่าวว่า เดิมทีผมมาอาชีพเป็นนัดจัดรายการวิทยุ เป็นประธานวิทยุชุมชน สมุทรสาคร เริ่มต้นเข้ามาทำเครือข่ายพาน้ำลงทะเล เมื่อมีข่าวว่าจะมีมวลน้ำจากกรุงเทพฯไหลเข้าท่วมสมุทรสาคร ทางประชาสัมพันธ์จังหวัดเชิญสื่อมวลชนไปฟังผู้ว่าราชการจังหวัดแถลงข่าว สรุปว่ามี 3 ขั้นตอน คือเฝ้าระวัง เก็บของและอพยพ เป็นขั้นตอนที่ผู้ว่าฯได้แจ้งไว้ แต่จะมีเขื่อนทางธรรมชาติกั้นไว้ เช่น ถนนพุทธมณฑล ทางรถไฟสายใต้ ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ถนนเพชรเกษม ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมสมุทรสาครช้ากว่าปกติ
หลังจากนั้นก็มีน้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ไหลเข้าท่วมทางรถไฟสายใต้ ท่วมปินเกล้า-นครชัยศรี อ้อมน้อย ก็มีการแถลงข่าวว่าน้ำจะท่วมบ้านแพ้วกี่เซ็นติเมตร เพราะมีมวลน้ำจำนวนมหาศาลกำลังจะผ่านสมุทรสาครเพื่อลงอ่าวไทย จึงเกิดเครือข่ายอาสาพาน้ำลงทะเลขึ้นมา ก็เริ่มเข้าไปสำรวจคลองส่งน้ำต่างๆ มีกี่คลอง อย่างเช่น คลองจินดาลงอ่าวไทย แนวขวางมีคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่กลองมีกี่คลอง มองพื้นที่เป็น 4 เหลี่ยม เราก็ลงไปนั่งคุยกับชาวบ้านและโรงเรียนจนเกิดเป็นเครือข่ายพาน้ำลงทะเลแล้วประสานงานกับผู้นำหมู่บ้าน อบต.ต่างๆ ถึงแม้ตอนนี้น้ำจะไม่ท่วม แต่ถ้ามีน้ำเสียไหลเข้ามาก็อาจจะทำให้พืชผลทางการเกษตร บ่อกุ้งบ่อปลาได้รับความเสียหายได้ เราจึงระดมชาวบ้านมาช่วยกันวางแนวป้องกัน ขณะเดียวกันก็ช่วยกันขุดลอกคูคลอง สวะต่างๆ เพือให้น้ำไหลได้สะดวก ตอนนี้ผู้ว่าฯก็ประกาศแล้วถ้าน้ำไหลลงมาไม่มาก สมุทรสาครก็พอจะรับมือกับน้ำท่วมได้ จึงไม่ห่วงน้ำท่วมแล้ว แต่มีงานใหม่คือขุดลอกคูคลอง
นครปฐมร่วมกลุ่มกู้สวนส้มโอ 5 พันไร่
นายเกษม พันธุ์สิน อาสาสมัครศูนย์อาสาฝ่าน้ำท่วม พื้นที่สมุทรสาคร กล่าวว่าตอนนี้ทางศูนย์อาสาฝ่าน้ำท่วม ก็ได้เข้าไปช่วยเหลือชาวสวนส้มโอที่ อ.นครชัยศรี ตอนนี้น้ำท่วมสวน 5,000 ไร่ น้ำท่วมสูง 80 เซนติเมตร น้ำท่วมมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน จึงประสานงานคนในพื้นที่และภาคราชการหาแนวทางแก้ไข โดยทำคันกั้นน้ำล้อมสวนส้มแล้วเร่งระบายน้ำออก หลังจากออกข่าวไปก็มีคนนำกระสอบทรายมาบริจาคน่าจะถึงแสนกระสอบภายใน 1-2 วันนี้ และก็มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ลงไปช่วยวัดเลยว่าตอนนี้ต้นส้มโอมีอายุอยู่ได้อีกกี่วัน และให้คำแนะนำเพื่อช่วยยืดชีวิตต้นไม้เหล่านี้ด้วยวิธีใดได้บ้าง
ตอนแรกก็มีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เขาเชื่อว่าอีกไม่กี่วันน้ำก็ลด แต่ชาวบ้านก็ยังไม่มั่นใจ เพราะลงทุนไปไร่ละหลายล้านบาท จึงรวมพลังงานแก้ไข ซึ่งแตกต่างจากสมุทรสาคร ชาวบ้านรวมพลังกันแก้ปัญหา ผมคิดว่าในพื้นที่ประสบปัญหา กำลังใจต้องมาก่อน ถ้ากำลังใจไม่มีชาวบ้านจะไม่ยอมทำความเข้าใจกับอะไรเลย อย่างตอนที่ลงไปครั้งแรก ทางศูนย์ฯล่องเรือไปดูสวนส้มโอ ชาวบ้านถามว่ามาทำไม ไม่ต้องมาดูหรอกมันตายแน่นอน หัวหน้าผมบอกว่ามันต้องรอด เรียกขึ้นเรือไปดูด้วยกัน หลังจากนั้นก็มีอาจารย์เข้ามาช่วยพูดคุย ชาวบ้านก็เปลี่ยนความคิด เกิดกำลังใจ และถามเรากลับว่าจะให้ช่วยทำอะไรได้บ้าง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น