ผู้สื่อข่าวพิเศษประชาชาติธุรกิจออนไลน์ น.ส.ชมพูนุท นำภา รายงานจากเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ว่า ภาพเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดง ที่แยกราชประสงค์ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2553 ได้รับเลือกเป็นภาพข่าวยอดเยี่ยมรางวัลที่ 2 จากนิทรรศการประกวดภาพถ่ายจากช่างภาพข่าวมืออาชีพทั่วโลกที่ร่วมส่งภาพเข้ามาแข่งขันที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ซึ่งจัดขึ้นทุกปี เป็นภาพถ่ายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก 10 ประเภท โดยครั้งนี้มีผู้ร่วมส่งประกวดมากมาย อาทิ จากช่างภาพข่าว เอเยนซี่ต่าง ๆ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารจากทั่วทุกมุมโลก
ในการแข่งครั้งนี้มีช่างภาพร่วมส่งภาพประกวดจำนวน 5,847 คน จาก 128 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 101,960 ภาพ แบ่งเป็น 10 ประเภท
งานนิทรรศการครั้งนี้เปิดเข้าชมฟรีที่บริเวณโถง Brookfield place โตรอนโต ประเทศแคนาดา เมื่อเดือนที่ผ่านมา
ปีนี้มีความพิเศษกว่าทุกครั้งเมื่อภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ได้ปรากฏที่งานนิทรรศการแสดงภาพถ่าย ที่ได้รับรางวัลที่ 2 ภาพข่าวโดดเด่นคือ ภาพเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงที่เกิดขึ้นใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยช่างภาพชาวฝรั่งเศสชื่อ Corentin Fohlen
ทั้งนี้มีคำบรรยายประกอบภาพถ่ายอธิบายว่า ผู้ประท้วงเสื้อแดงปะทะกับกองกำลังรัฐบาลไทยช่วงกลางเดือน พ.ค. ปี 2553 เหตุเกิดในย่านธุรกิจสีลมของกรุงเทพฯ การปะทะครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ยุคนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ถูกขจัดออกจากตำแหน่ง โดยทหารเข้าทำการปฏิวัติเมื่อเดือนกันยายน ปี 2549
จากนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในนามของพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าดำรงตำแหน่งแทนที่หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 แต่กลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดงซึ่งเป็นชาวบ้านที่มีฐานะยากจนที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายของทักษิณมารวมตัวกันมากขึ้นเพื่อต่อต้านนายอภิสิทธิ์
ผู้ประท้วงขว้างปาก้อนหิน จุดไฟสุมยางรถยนต์กลางถนน กองกำลังทหารและตำรวจใช้ลูกกระสุนยาง แก๊สน้ำตา รวมถึงระเบิดตอบโต้ผู้ประท้วง มีผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ที่ไม่สงบครั้งนี้มากกว่า 80 คน และได้รับบาดเจ็บราว 2,000 คน
นอกจากนี้ยังมีภาพอื่นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งแต่ละภาพมีความสวยงามและความหมายบอกเล่าเรื่องราวจากภาพได้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับภาพของ โจดี บีเบอร์ ภาพจากประเทศแอฟริกาใต้ ได้รางวัลเวิลด์ เพรส โฟโต้ ประจำปี 2553
เป็นภาพของ "บิ บิ ไอชา" อายุ 18 ปี ถูกทำร้ายจนรูปโฉมเธอยับเยิน เนื่องจากเธอพยายามจากหนีออกจากบ้านไปให้พ้นสามีของเธอที่อยู่ในจังหวัดโอรูกัน ใจกลางอัฟกานิสถาน เธอหนีมายังบ้านของพ่อแม่เธอและพร่ำบ่นเรื่องที่สามีทำร้ายร่างกาย สามีของเธอเดินทางมายังบ้านพ่อแม่เธอในคืนหนึ่ง และต้องการให้เธอได้รับการลงโทษจากการหนีออกจากบ้านของเธอในครั้งนี้ ไอชาถูกนำตัวไปยังหุบเขาแห่งหนึ่ง ที่ซึ่งเธอถูกเฉือดหูทิ้งเป็นอันดับแรก
จากนั้นก็ถูกเฉือนจมูก ด้วยคำสั่งของตาลีบัน ในวัฒนธรรมท้องถิ่น หากชายใดถูกทำให้เอือมระอาโดยหญิงผู้เป็นภรรยา ชายนั้นต้องถูกตัดจมูก แต่การที่ไอชาถูกกระทำในครั้งนี้ กลับมีผลออกมาตรงกันข้าม ไอชาถูกทอดทิ้ง โดยที่ต่อมาได้รับความช่วยเหลือจากสถานพักพิงในกรุงคาบูล ภายใต้ความดูแลขององค์กรวูแมน ฟอร์ อัฟกันวูแมน ซึ่งเธอได้รับการรักษาและเยียวยาทางจิตใจ หลังจากนั้นเธอถูกนำตัวไปยังอเมริกาเพื่อการผ่าตัดสตรีเพื่อเข้ารับการบำบัดและผ่าตัดตกแต่งศัลยกรรม
เว้นจากภาพหดหู่มาดูภาพที่ชวนให้อมยิ้มปนเห็นใจ ภาพของ อดัม พริตตี้ จากประเทศออสเตรเลีย ได้รางวัลชนะเลิศภาพกีฬา สามารถถ่ายภาพ
โอแรน เอตเชชูรี จากบราซิล ล้มหัวคะมำระหว่างการแข่งขันวิ่งชายประเภทข้ามสิ่งกีดขวาง ระยะทาง 200 เมตร ณ ไบชานสเตเดียม ระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกเยาวชน ในประเทศสิงคโปร์ เมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นการแข่งขันโอลิมปิกเยาวชนที่ดึงดูดเยาวชนที่มากถึง 3,351 คน
นี่คือภาพตัวอย่างที่สามารถเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน แต่ทุกอย่างก็ต้องดำเนินต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น