ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"

ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กสทช.เตือนมือถือหาย-คนอื่นยืมใช้ เสี่ยงซ้ำรอยคดี " SMS อากง"

 

กสทช.เตือนมือถือหาย-คนอื่นยืมใช้ เสี่ยงซ้ำรอยคดี " SMS อากง"

"หมอประวิทย์" ระบุ ผลการตัดสินคดี "อากง เอสเอ็มเอส" สะท้อนว่า เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นตัวตนของผู้ใช้ไปแล้ว หากมีการกระทำผิดด้วยมือถือ เจ้าของต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น เตือนต้องระมัดระวัง หากส่งเครื่องซ่อมให้บันทึกและเก็บหลักฐานไว้ยืนยัน...    

จากกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาจำคุก 20 ปีคดีหมิ่นเบื้องสูงด้วยการส่งข้อความสั้นผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือกรณีที่มีการเรียกขานกันในสื่อใหม่ว่า "อากงส่งเอสเอ็มเอส" 

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา  กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า บรรทัดฐานจากคำพิพากษาของศาลในครั้งนี้จะส่งผลต่อผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยทั่วไป ให้ต้องระมัดระวังอย่างเคร่งครัดมิให้บุคคลอื่นเข้าถึงหรือมาใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ประจำตัวได้ เนื่องจากระบบกฎหมายเริ่มตีความว่าเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นเท่ากับตัวตนของผู้ใช้

"ในกระบวนการพิจารณาคดีนี้ไม่ได้มีหลักฐาน หรือการพิสูจน์ว่า จำเลยเป็นผู้ลงมือจริงหรือไม่ แต่มีหลักฐานว่า ข้อความสั้นถูกส่งจากเครื่องของจำเลย ในบริเวณย่านที่จำเลยอยู่อาศัย แม้ว่าในการส่งจะไม่ได้ทำผ่านซิมการ์ดที่จำเลยใช้เป็นประจำก็ตาม แต่จำเลยก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ในช่วงเกิดเหตุนั้นเครื่องอยู่นอกความดูแลของตน แนวทางเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า ระบบกฎหมายเริ่มให้ความหมายกับโทรศัพท์มือถือว่า คือ ตัวคุณเลย นี่จึงเป็นการเปลี่ยนหลักคิดอย่างสำคัญ ว่าหากมีการกระทำใดใดที่กระทำผ่านโทรศัพท์มือถือของเรา สันนิษฐานได้เลยว่าเป็นการกระทำโดยเรา ภายใต้หลักเช่นนี้ ต่อไปหากใครหยิบโทรศัพท์เราไปใช้ทำผิดกฎหมาย และเราไม่มีหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ก็ต้องเป็นผู้รับโทษ ดังนั้นผู้บริโภคจึงต้องเข้าใจหลักการที่เปลี่ยนไปนี้และต้องระมัดระวัง  เพราะไม่ได้แยกระหว่างการเป็นเจ้าของกับการนำไปใช้" กก.กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าว

นพ.ประวิทย์ กล่าวถึงคำเตือนและข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคว่า ต่อไปนี้ต้องรักษาดูแลโทรศัพท์มือถือประจำตัวอย่าให้คลาดสายตา ระมัดระวังเรื่องการถูกยืมไปใช้งาน กรณีส่งซ่อมหรือต้องทิ้งเครื่องไว้ห่างตัว แม้ถอดซิมการ์ดออกแล้วก็ใช่จะเพียงพอ ต้องมีพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ด้วยว่า ในเวลานั้นๆ เครื่องไม่ได้อยู่ในความดูแลของเราจริง กรณีเครื่องหายก็ควรต้องแจ้งความ เนื่องจากโทรศัพท์แต่ละเครื่องจะมีเลขอีมี่ประจำเครื่อง ขณะที่ซิมการ์ดมีเลขอิมซี่ ดังนั้นในกรณีมีผู้ไม่หวังดีนำเครื่องเราไปใช้ หลักฐานเลขอีมี่ที่ปรากฏจะมัดตัวผู้เป็นเจ้าของให้ต้องรับผิด

กก.กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ แทบจะพูดได้ว่า ต่อไปนี้ไม่อาจทิ้งมือถือไว้ห่างตัวเลย แม้เพียงช่วงเดินไปเข้าห้องน้ำก็ไม่ควรวางมือถือไว้ที่โต๊ะทำงาน เพราะหากถูกผู้อื่นนำไปใช้ในทางที่ผิด ก็จะกลายเป็นความรับผิดชอบของผู้เป็นเจ้าของ บรรทัดฐานเช่นนี้จะเป็นปัญหายุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น หากมีการปรับใช้ในกรณีอีเมล์ด้วย เพราะอีเมลนั้นถูกเข้าถึงได้ง่ายกว่า และกรณีมีผู้เจาะรหัสเข้าใช้อีเมล์ของใครก็ตาม ตำรวจอาจต้องเปิดให้แจ้งความ สรุปว่าผลจากคดีนี้หากถือเป็นบรรทัดฐานก็จะกระทบวิถีการสื่อสารของคนทั้งหมด

โดย: ทีมข่าวไอทีออนไลน์

1 ธันวาคม 2554, 05:30 น.

http://m.thairath.co.th/content/tech/220370

เตือนกำจัดเชื้อราเฟอร์นิเจอร์ไม้หลังน้ำลดก่อนทิ้ง

 

เตือนกำจัดเชื้อราเฟอร์นิเจอร์ไม้หลังน้ำลดก่อนทิ้ง

กรมควบคุมมลพิษเตือนให้ทำความสะอาด กำจัดเชื้อราเฟอร์นิเจอร์ไม้ก่อนทิ้ง เกรงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สั่งห้ามใช้ยากำจัดราคู่กับน้ำยาขัดห้องน้ำ เพราะจะทำปฏิกิริยาเป็นแก๊สพิษ...

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. นายสุเมธา วิเชียรเพชร หัวหน้าศูนย์ฏิบัติการฉุกเฉินสารเคมี กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้นำเจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีมีชาวบ้านร้องเรียนว่ามีการนำขยะจำพวกเฟอร์นิเจอร์ บริเวณหน้าหมู่บ้านพฤกษ์ภิรมย์ ราชพฤกษ์-รัตนาธิเบศวร์  ซึ่งพบว่ามีขยะ โดยเฉพาะพวกเฟอร์นิเจอร์ไม้ รวมทั้งขยะเปียกใส่ถุงดำมาทิ้งไว้ที่เกาะกลางถนน เป็นระยะทางกว่า 200 เมตร ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ขยะส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาทิ้งใส่ถุงดำ เป็นขยะอินทรีย์จากครัวเรือน ทำให้มีกลิ่นเหม็นค่อนข้างรุนแรง และมีแมลงวันขึ้น นอกจากนี้ ยังพบขยะจำพวกเฟอร์นิเจอร์ไม้ เช่น ตู้ เตียง เก้าอี้  ลำโพง เครื่องเสียงกระจัดกระจายเป็นจำนวนมาก และพบว่ามีเชื้อราขึ้นตามขยะไม้ค่อนข้างมาก  

นายสุเมธา เปิดเผยว่า ทาง คพ.ได้นำยากำจัดกลิ่นและน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และยากำจัดรา มาฉีดพ่น รวมทั้งยังนำน้ำจุลินทรีย์มาฉีดในแหล่งน้ำขังริมถนนที่เริ่มมีสีดำและมีกลิ่นด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงน้ำลดแล้ว แต่ละครัวเรือนก็เข้าไปจัดการขยะในบ้านเรือนที่เสียหายทิ้ง โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ไม้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นตู้ เตียง โต๊ะ ที่ถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานานจนเสียหาย โดยเบื้องต้นได้แนะนำให้ใช้น้ำยากำจัดราแบบน้ำที่เรียกว่า โซเดียมไฮโปรคลอไรด์ หรือคลอรีนน้ำ ที่ คพ.ได้นำมาแจกจ่ายให้กับประชาชนฟรี แต่เนื่องจากน้ำยาชนิดนี้มีกลิ่นค่อนข้างแรง จึงต้องระมัดะวังในการนำไปใช้เช็ดถู หรือฉีดพ่นบริเวณจุดต่างๆ และเฟอร์นิเจอร์ของบ้าน ที่ต้องปิดปากปิดจมูกเพื่อป้องกันทั้งน้ำยาที่อาจจะพ่นมาโดนตัวผู้ใช้ และฝุ่นเชื้อราที่สามารถปลิวทำให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพได้ง่าย                

"ขณะนี้อยู่ในช่วงเก็บขยะที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมทิ้ง โดยเฉพาะพวกเฟอร์นิเจอร์ไม้ อยากแนะนำให้กำจัดเชื้อราก่อนที่จะขนมากองทิ้งรวมกัน เพราะจะทำให้เชื้อราขยายการเจริญเติบโต ซึ่งสปอร์ของราสามารถจะปลิวออกมาตามลมและเป็นอันตรายได้ แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานที่ชัดเจน แต่อยากประสานให้ทางกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบราเฟอร์นิเจอร์ไม้เหล่านี้ด้วย เพราะเกรงว่าจะเป็นอัตรายต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ยังขอเตือนเกี่ยวกับการใช้ยากำจัดราในกลุ่มสารคลอรีนน้ำ ไม่แนะนำให้ใช้กับน้ำยาขัดห้องน้ำชนิดที่มีส่วนผสมของกรดเกลือ เพราะว่าทั้ง 2 จะทำปฏิกิริยากันกลายเป็นแก๊สพิษ หรือแก๊สคลอรีน ที่จะทำให้เกิดควัน และเป็นอันตรายหากสูดดม" นายสุเมธา กล่าว.

โดย: ทีมข่าวการศึกษา

30 พฤศจิกายน 2554, 21:10 น.

http://m.thairath.co.th/content/edu/220323

กลุ่มเพื่อน สวทช. ชู 'ถุงฟื้นฟูบ้าน' ขจัดคราบน้ำท่วม

 

กลุ่มเพื่อน สวทช. ชู 'ถุงฟื้นฟูบ้าน' ขจัดคราบน้ำท่วม

กลุ่มเพื่อน สวทช. (FRIENDS of NSTDA :FoN) เดินหน้าช่วยฟื้นฟูหลังน้ำท่วม แจกถุงฟื้นฟูบ้านพร้อมแพ็กเกจดูแลบ้านและธุรกิจหลังน้ำลด รับซ่อม ตรวจ สอบ แจกซอฟต์แวร์...

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า กลุ่มเพื่อน สวทช. (FRIENDS of NSTDA :FoN) คือ กลุ่มที่ช่วยในการฟื้นฟูบ้านและธุรกิจด้วยเทคโนโลยี โดยกลุ่มบ้านเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ในการเข้าบ้านอย่างปลอดภัย การทำความสะอาด รวมทั้งการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีในการฆ่าเชื้อ เทคนิคการซ่อมบ้านในช่วงฟื้นฟูไปจนถึงการจับคู่ผู้ประสบภัยกับช่างซ่อมบ้าน และผู้จำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มของภาคธุรกิจ เอสเอ็มอี โดยเน้นแผนฟื้นฟูตั้งแต่การทำความสะอาด การกู้ข้อมูล เครื่องจักรและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์



สำหรับถุงฟื้นฟูบ้าน (Home Recovery Kit) นั้น กลุ่มเพื่อน สวทช. จัดทำขึ้นมาเป็นถุงต้นแบบ และผลิตขึ้นมาในจำนวนหนึ่ง เพื่อให้กับผู้ที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบอุทกภัย โดยมีเป้าหมายให้การฟื้นฟูเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ในถุงฟื้นฟูบ้านจะประกอบด้วย 

1.คู่มือการทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด 

2.กางเกงแก้วกันน้ำ ผลิตจากพีวีซีแบบนิ่มที่มีความเหนียว บาง และมีเนื้อที่คล้ายผ้า สามารถกันน้ำได้ ช่วยลดโอกาสการสัมผัสกับเชื้อโรคที่มาจากน้ำท่วมขัง 

3.หน้ากากกันเชื้อรา 

4.ผงจุลินทรีย์สำหรับบำบัดกำจัดกลิ่น และฆ่าเชื้อโรค สามารถบำบัดน้ำเสีย หรือสิ่งปฏิกูลในสภาวะทั่วไป รวมไปถึงการกำจัดกลิ่น บำบัดขยะมูลฝอย และทำความสะอาดถังดักไขมัน 

5.น้ำยาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค 

6.แป้งกันยุง ผลิตจากแป้งข้าวเจ้า โดยใช้เทคโนโลยีนาโนผสมกับน้ำมันหอมระเหย สามารถไล่ยุงรำคาญได้ 2-4 ชั่วโมง 7.ผ้าขนหนูสำหรับทำความสะอาด สำหรับเช็ดทำความสะอาดผิวหนัง  สามารถฆ่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง ยับยั้งเชื้อราและแบคทีเรียที่มาจากการสัมผัสกับน้ำสกปรกในสถานการณ์ที่ขาดน้ำสะอาดในการชำระล้างร่างกาย 

ทั้งนี้ ผู้สนใจเฉพาะผู้ที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบอุทกภัย ติดต่อเข้ามาได้ที่เว็บไซต์ของกลุ่มเพื่อน สวทช. www.friends-nstda.com โทร.0-2564-8000 โดยการลงทะเบียนข้อมูล และแจ้งปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือ

นอกเหนือจากการช่วยเหลือเรื่องฟื้นฟูแล้ว ในส่วนของกลุ่มเพื่อน สวทช. ยังให้การช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เช่น 

1.NSTDA Academy (ฝ่ายสื่อวิทยาศาสตร์ สวทช. ร่วมกับ บริษัท ฟาร์อีสเพียร์เลส ไทยแลนด์ จำกัด และบริษัท บิลค์ เอเชีย จำกัด) ผลิตสื่อชุดความรู้ฟื้นฟูน้ำบ้านหลังน้ำลด ซึ่งประกอบด้วย การให้ความรู้ การสาธิต ตั้งแต่การเข้าพื้นที่ การทำความสะอาดอย่างถูกวิธี 

2.Builk Asia เปิดโครงการ ซ่อมๆ ไปก่อน ผ่านทางหน้าเฟซบุ๊ก www.facebook.com/homefirstaid โดยมีเครือข่ายผู้รับเหมา สถาปนิก ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบ้าน 

3.เว็บไซต์ Thai.com เปิดช่องทางให้กลุ่มคนที่ตกงานในช่วงอุทกภัย ฝากประวัติผ่านหน้าเว็บไซต์ 

4.เว็บไซต์ Digitdi.com ประชาสัมพันธ์ร้านค้าและอุตสาหกรรม ที่กลับมาให้บริการหลังเหตุการณ์น้ำท่วม 

5.บ.บิสซิเนส คอมเพ็ดทิทีฟ อินเทลลิเจนซ์ จำกัด (BCI) แจกโปรแกรมซอฟต์แวร์ใช้ฟรีเป็นเวลา 5 ปี 

6.NETKA System มอบซอฟต์แวร์บริหารการจัดการให้บริการทางด้านไอทีให้แก่ สวทช. 

7.T-NET ให้คำปรึกษาการวางระบบไอที 

8.การกู้คืนข้อมูลในฮาร์ดไดร์ฟ ในกรณีถูกน้ำท่วม 

9.TRUE IDC ช่วยเหลือธุรกิจ โดยบริการคราวด์เซิร์ฟเวอร์ พร้อมระบบสำรองข้อมูล 

10.TUV SUD ให้คำปรึกษาด้านการจัดการความปลอดภัยสำหรับที่ประสบภัย 

ทั้งนี้ ผู้สนใจ หรือกลุ่มธุรกิจที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพื่มเติมได้ที่ กลุ่มเพื่อน สวทช. 

www.friends-nstda.com หรือโทร 0-2564-8000

 

โดย: ทีมข่าวไอทีออนไลน์

30 พฤศจิกายน 2554, 21:55 น.

http://m.thairath.co.th/content/tech/220331

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ซิสโก้ช่วยไทยฝ่าภัยน้ำท่วม เปิดคลีนิกออนไลน์ผ่าน"เว็บเอ็กซ์"

 

ซิสโก้ช่วยไทยฝ่าภัยน้ำท่วม เปิดคลีนิกออนไลน์ผ่าน"เว็บเอ็กซ์"

ซิสโก้ร่วมพาคนไทยฝ่าวิกฤติน้ำท่วม จับมือทีโอทีและหมอรามาฯ เปิดให้บริการคลีนิคออนไลน์ เปิดให้องค์กรเอกชนใน กทม.ใช้บริการประชุมทางไกลผ่าน "เว็บเอ็กซ์"เพื่อทำงานระยะไกลฟรีนาน 3 เดือน และรับเทิร์นอุปกรณ์เครือข่ายที่เสียหายจากน้ำท่วม...

สืบเนื่องจากฝนตกหนักรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยกว่า 3 ล้านคน รวมถึงองค์กรธุรกิจ และสถานศึกษาหลายแห่ง ในกรุงเทพและภาคกลาง ซิสโก้มุ่งมั่นในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ ในประเทศที่ซิสโก้เข้าไปดำเนินงาน สำหรับในประเทศไทย ซิสโก้ได้มอบความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญของบุคลากรและเงินบริจาค เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามวิกฤตการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ โดยปฎิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตอุทกภัยครั้งนี้ ส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้างต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งในรูปแบบขององค์กร และตัวพนักงานในองค์กรเอง เป็นผลให้บางองค์กรที่ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า จำเป็นต้องหยุดการดำเนินกิจการ หรืออาจถึงขั้นปิดกิจการไป สาเหตุหลัก คือ อุปสรรคในการเดินทางเข้ามาที่สำนักงาน หรือการติดต่อสื่อสารกันระหว่างบริษัทและพนักงาน

ซิสโก้ตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่า "ระบบเครือข่ายและแทคโนโลยี" ถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ และเพื่อบรรเทาความลำบากของภาคธุรกิจที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ดังเดิม ซิสโก้จึงมอบส่วนลดและเงื่อนไขพิเศษสำหรับบริษัทที่อุปกรณ์ไอทีเสียหายจากภัยพิบัติโดยซิสโก้รับแลก-เปลี่ยนอุปกรณ์ Network เก่าทุกรุ่น ทุกยี่ห้อในทุกสภาพ บริษัทสามารถรับอุปกรณ์ไปใช้ก่อน จ่ายทีหลังพร้อมดอกเบี้ย 0% และลูกค้าเก่าของซิสโก้สามารถนำ MA เก่ามาบวกเพิ่มกับ MA ของอุปกรณ์ใหม่ได้ โดยลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ http://readyregister.com/form/w/display/227 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2555

ซิสโก้ยังให้องค์กรธุรกิจต่างๆสามารถยืมอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เราเตอร์ 3G WiFi, ระบบ Cisco Unified Computing System สำหรับการรองรับระบบคลาวด์ และอุปกรณ์ Cisco TelePresence แก่ศูนย์อพยพ 4 แห่ง รวมถึงศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเกี่ยวกับการแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์และการดำเนินการในด้านต่างๆ

นอกจากนี้ซิสโก้ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลรามาธิบดีและบริษัททีโอที เพื่อจัดตั้งคลินิกออนไลน์ที่เปิดให้บริการการแพทย์ระยะไกลแก่ผู้ป่วยในพื้นที่ประสบภัย ด้วยการใช้เครือข่ายเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการเชื่อมต่อ โดยแพทย์อาสาสมัครใช้ระบบ Cisco TelePresence เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยในศูนย์อพยพ หรือให้คำแนะนำแก่แพทย์ในพื้นที่ห่างไกล นับเป็นการให้บริการทางการแพทย์แบบไร้พรมแดนที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ

ขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้องค์กรธุรกิจในกรุงเทพฯ เข้าใช้ Cisco WebEx ผ่าน"โครงการซิสโก้ เว็บเอ็กซ์ เคียงข้างประชาชนและองค์กรธุรกิจ ก้าวข้ามวิกฤตน้ำท่วม"โดยให้บริการระบบประชุมทางไกลผ่านเว็บซิสโก้ เว็บเอ็กซ์ ให้แก่องค์กรของท่านโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายขยายเวลาเป็น 3 เดือน ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2555 สำหรับการประชุมออนไลน์ บริการสนับสนุน การสัมมนาผ่านเว็บ และกิจกรรมออนไลน์ เพื่อรองรับการทำงานผ่านการเชื่อมต่อระยะไกล และการเรียนรู้ทางไกลสำหรับสถานศึกษาต่างๆ  

Cisco WebEx ช่วยให้องค์กรธุรกิจและอาจารย์ผู้สอนสามารถประสานงานร่วมกันจากอุปกรณ์ใดๆ (พีซี, แทบเล็ต หรือสมาร์ทโฟน) และเชื่อมต่อกับสถานที่ประชุมผ่านทาง WiFi หรือ 3G และสนับสนุนการบันทึกภาพและเสียงจากการประชุม  การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อโฮสต์การประชุมออนไลน์จะช่วยให้พนักงานสามารถประสานการทำงานร่วมกันในโครงการต่างๆ ราวกับว่าอยู่ในห้องเดียวกัน  ด้วยการสนับสนุนพนักงานที่จำเป็นต้องทำงานจากสถานที่ห่างไกล องค์กรธุรกิจต่างๆ จะสามารถรักษาความต่อเนื่องในการดำเนินงาน คุ้มครองความปลอดภัยให้กับพนักงาน และลดความตึงเครียดของครอบครัวที่ประสบภัย

โดย: ทีมข่าวไอทีออนไลน์

30 พฤศจิกายน 2554, 10:30 น.

http://m.thairath.co.th/content/tech/220158

Mark Twain



 
 

ประโยชน์ของยาทาเล็บ (ที่คุณยังไม่เคยรู้)

นอกจากทาบนเล็บสวยๆ แล้วยาทาเล็บที่เราใช้ๆ กันเนี่ยยังทำอะไรได้อีกหลายอย่าง (อย่างไม่น่าเชื่อ)

 



1. ป้ายยาทาเล็บแบบใส ลงบนเกลียวอุปกรณ์ ต่างๆ เช่น ตะปูควง เกลียวขวด แล้วขันให้แน่นขณะที่ยังเปียก เมื่อมันแห้ง ยาทาเล็บจะทำให้อุปกรณ์เกียวนั้น แน่นขึ้น

 



2. อยากให้เครื่องประดับ เพชรแก้วของคุณดูสดใส ไม่ขุ่นหมอง ให้ทาน้ำยาเคลือบ Top Coat แบบใส

 

 



3. ปิดผนึกซองจดหมาย ด้วยการป้ายยาลาเล็บบริเวณทากาว จะสนิทแน่นกว่ากาวน้ำ และสะอาดกว่าใช้น้ำลายแน่นอน



4. อุดรูตามด ใช้ยาทาเล็บ หยดปิดรอยขีดข่วน บนโต๊ะไม้ ตารูรั่วเล็กๆ เพื่อไม่ให้ขนาดของรอย รูรั่วขยายวงกว้างได้ (ตามด=รอยขนาดเล็กกว่าหัวไม้ขีด)



5. ใช้ยาทาเล็บลูบ ลบความคม รอยฉีกของไม้ บริเวณหูจับ ด้ามอุปกรณ์ เพื่อลดการขีดข่วนของสันคม และสันเสี้ยน

 

6. กันปลายเชือกลุ่ย ใครที่ใช้วิธีเผาปลายเชือก หรือด้าย กันลุ่ย วิธีจุ่มปลายเชือกลงไปในขวดยาทาเล็บสีใสก็ใช้ได้ผลเหมือนกัน

 

 

7. กันสนิม ใช้ยาทาเล็บทาอุปกรณ์ที่ผลิตจากโลหะ  ที่อยู่ในห้องน้ำ เพื่อป้องกันสนิม


http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/299394.html

 

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

จากนภพัฒน์จักษ์ ถึงมัลลิกา: ถ้ายังสื่อสารแบบนี้ ก็รังแต่ทำให้พรรคแย่ลง

จากนภพัฒน์จักษ์ ถึงมัลลิกา: ถ้ายังสื่อสารแบบนี้ ก็รังแต่ทำให้พรรคแย่ลง

 

ถึงคุณมัลลิกา บุญมีตระกูล
รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 
 

ก่อนอื่น บอกอย่างหนึ่งว่า ผมไม่ได้อยากจะดราม่าอะไรกับใครนะครับ ยิ่งช่วงนี้ยังต้องทำข่าวน้ำท่วม ก็มีประเด็นเยอะแยะจนอยากจะเลี่ยงประเด็นดราม่าสารพัดสารเพ

แต่ต้องเขียนเพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะ เพราะคุณมัลลิกาเป็นรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเก่าพรรคแก่ พรรคใหญ่ของประเทศไทย ในฐานะรองโฆษกพรรคการสะท้อนอะไรออกมาย่อมสะท้อนท่าทีของพรรค และของสังคมไทยไม่มากก็น้อย

คือตั้งแต่มีข่าวคราวข้อเสนอของคุณมัลลิกา เรื่องให้ปิดเฟซบุ๊ก-ยูทูบว์ ผมก็ตามอ่านอยู่ห่างๆ ยังไม่เคยได้ไปตามทำข่าว ไม่เคยสัมภาษณ์ด้วยตัวเอง (สาเหตุหลักเพราะผมตามข่าวน้ำท่วมอยู่เป็นหลัก) ก็เลยยังไม่ได้พูดถึงเท่าไหร่ ที่เคยรายงานผ่านทวิตเตอร์ไปก็มีไม่กี่ครั้ง เป็นทวีตที่ผมตั้งใจชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างทางแนวความคิดของคนในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะตอนนั้นกระแสคนเริ่มวิจารณ์ตัวพรรคประชาธิปัตย์หนาหูขึ้น ว่าเป็นพรรคโบราณที่จะให้มีการปิด เฟซบุ๊ก-ยูทูบว์ ผมเลยทวีตไปให้เห็นว่าน่าจะเป็นความเห็นของคุณมัลลิกาคนเดียว เพราะอย่างความเห็นของคุณแทนคุณก็เป็นคนละแนวทางกัน

ต่อมาคุณมัลลิกาก็ชี้แจงว่าไม่ได้จะให้ปิดเฟซบุ๊ก-ยูทูบว์ แต่เป็นแค่คำขู่ และการปิดเฟซบุ๊ก-ยูทูบว์ จะเป็นเงื่อนไขสุดท้าย ผมก็รีทวีตให้คนที่ตามผมอยู่ได้อ่านกัน เพราะผมก็ยึดหลักว่าควรให้คนที่ตามผมอยู่ได้อ่านครบถ้วนรอบด้านของมุมข่าวที่นำเสนอ ขอย้ำว่า "ผมก็รีทวีตของคุณมัลลิกาให้ทุกคนได้อ่านกัน"

หลังจากนั้น ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งก็ยังตำหนิทั้งตัวคุณมัลลิกาและพรรคประชาธิปัตย์อยู่ ตามสิทธิในการแสดงความเห็นของแต่ละคน พร้อมเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าจุดยืนเรื่องนี้ของตัวพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร?

จะว่าผมขยันไม่เข้าเรื่องก็ได้ แต่พอมีข้อสงสัยผมก็อยากให้มันชัดเจน อยากรายงานให้คนที่ติดตามได้ทราบถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ผมก็ไปถามคนในพรรคประชาธิปัตย์สองคน(เบื้องต้นทั้งสองคนขอว่าอย่าเพิ่งเปิดเผยชื่อ แต่ถ้าคุณมัลลิกาจำเป็นต้องทราบ ผมก็พร้อมจะผิดมารยาทกับสองคนนั้นและเปิดเผยชื่อ เพราะผมต้องรักษาความน่าเชื่อถือของผมไว้) ได้ความว่า "ทางพรรคคงยังไม่มีการแถลงอะไรออกมาชัดเจนกรณีปิดเฟซบุ๊ก-ยูทูบว์ แต่ได้ยินมาว่ามีความเคลื่อนไหวในพรรค ว่าเป็นห่วงคุณมัลลิกา ว่าเวลาสื่อสารอะไร ก็ให้ชัดเจน" ผมก็เลยรายงานทางทวิตเตอร์สองอันตามนี้

ซึ่งถ้าจริงไม่จริงอย่างไร ผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์คิดเห็นเรื่องนี้แบบไหน ผมก็พร้อมรายงานหมด คือถ้าคนในประชาธิปัตย์สนับสนุนให้ปิดเฟซบุ๊ก-ยูทูบว์ ไม่ แล้วจะมีการแถลงหรืออกมาพูดอย่างเป็นทางการเพื่อความชัดเจนผมก็พร้อมรายงาน ถ้าอันไหนที่ไม่ตรงกับที่ผมรายงานไปก่อน ผมก็พร้อมขออภัยและแก้ไข ไม่มีปัญหา ที่ผ่านมาผมก็ฟังจากแหล่งข่าวของผมแล้วก็รายงาน คือผมก็มีหน้าที่รายงานข่าวทุกด้าน ไม่ว่าประชาธิปัตย์จะเคลื่อนไหวอย่างไร

หลังจากนั้น

คุณมัลลิกาก็ทวีตมาหาผม ว่า "ที่หลังมีอะไรมาถามพี่ก่อนทวิตนะน้อง" ซึ่งความจริง เจตนาของผมคือรายงานความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ ผมก็ไปถามความเห็นคนอื่น ไม่ได้อยากจะรายงานอะไรเกี่ยวกับความเห็นของตัวรองโฆษก เพราะผมตามอ่านมาตลอดอยู่แล้ว นี่คือสาเหตุที่ผมไม่ได้ถามคุณมัลลิกาก่อน เพราะมองว่ามันไม่จำเป็น

หลังจากนั้น
ผมก็ทวีตไปหาคุณมัลลิกา

แล้วคุณมัลลิกาก็ Direct Message มาหาผมในแนวทางต่อว่าผมในหลายประเด็น ซึ่งเอาหละ ผมมองว่าตามมารยาท อะไรที่ส่งมาทาง Direct Message ก็ไม่ควรมาเปิดเผยในที่แจ้ง (ยกเว้นคุณมัลลิกาพร้อมจะเปิดเผย ก็เปิดเผยได้เลย ทุกข้อความที่ผมส่งไป ผมพร้อมให้เปิดเผย)

แต่ผมอยากจะบอกว่า ผมทำหน้าที่นักข่าวของผม มีอะไรผมก็รายงานไป รายงานในเรื่องที่ส่งผลต่อสาธารณะ ต่อประเทศชาติ

คุณมัลลิกาเป็นรองโฆษกพรรคการเมือง ก็ทำหน้าที่ไป พรรคประชาธิปัตย์มีความคิดความเห็นอย่างไรก็เป็นหน้าที่ของคุณมัลลิกา

เราคนละบทบาทกัน ก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป

ถ้าผมรายงานอะไรที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง คุณมัลลิกาสามารถชี้แจงได้ผ่านช่องทางสาธารณะ ไม่ต้องมา Direct Message หาผม แล้วการที่ผมรายงานอะไรแล้วมีชื่อของคุณมัลลิกาเกี่ยวข้อง ก็เพราะคุณมัลลิกาเป็นรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้มีเจตนาพาดพิงอะไรเป็นการส่วนตัว ส่วนเรื่องที่มากล่าวหาว่าผมนั่งเทียน ผมก็ย้ำไปแล้ว ว่าข้อความไหน จุดไหนที่คุณมัลลิกามองว่าผมนั่งเทียน ผมพร้อมชี้แจงทั้งหมด อะไรที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงก็พร้อมแก้ไขให้หมด ขอแค่ให้ทางฝั่งประชาธิปัตย์ชัดเจนในการสื่อสาร เพราะผมไม่ได้ไม่เสียอะไรกับทางพรรคอยู่แล้ว ผมพร้อมรายงานความเคลื่อนไหวตามหน้าที่ แบบที่ไม่ต้อง Direct Message อะไรมาให้ผม เพราะการรายงานต่อเนื่องในเรื่องที่ผมเคยรายงานถึงไว้ มันเป็นหน้าที่ของผมอยู่แล้ว

ที่ต้องเขียนจดหมายนี้ ผมไม่ได้มีเจตนาว่าร้ายพรรคประชาธิปัตย์ใดใดทั้งสิ้นนะครับ

แค่อยากสะท้อนไปยังพรรคประชาธิปัตย์ ถึงบทบาทในการสื่อสารของรองโฆษกของพรรคด้วยความหวังดี เพราะในความคิดของผม ถ้าคุณมัลลิกายังดำเนินแนวทางนี้ในการสื่อสารกับประชาชน ทั้งที่เป็นฐานเสียงประชาธิปัตย์ และคนที่ไม่ได้ชื่นชอบพรรคประชาธิปัตย์ และทั้งกับผู้สื่อข่าว ผ่านทางโลกออนไลน์ในลักษณะเช่นนี้อยู่

ก็รังแต่จะทำให้พรรคดูแย่ลงครับ
 

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์
ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี

หมายเหตุ: จดหมายนี้ผมพูดถึงเรื่องท่าที่ของคุณมัลลิกาต่อสื่อมวลชนเท่านั้นนะครับ ไม่ได้พูดถึงการต่อสู้เวบหมิ่นของคุณมัลลิกา คือเรื่องนั้นก็มีความเห็นอยู่ แต่ขอมาแสดงความเห็นในภายภาคหน้า คราวนี้ขอเรื่องท่าทีต่อนักข่าวก่อนครับ

 

ที่มา: http://blog.noppatjak.com/2011/11/mallikaboon.html

http://www.prachatai3.info/journal/2011/11/38063

ถอดโมเดลสึนามิถึงวิกฤตน้ำท่วม’54 จากจิตอาสาสู่เครือข่ายถาวร – จากการ “ให้” เป็น “พัฒนา”

 

ถอดโถอดโมเดลสึนามิถึงวิกฤตน้ำท่วม'54 จากจิตอาสาสู่เครือข่ายถาวร – จากการ "ให้" เป็น "พัฒนา"มเดลสึนามิถึงวิกฤตน้ำท่วม'54 จากจิตอาสาสู่เครือข่ายถาวร – จากการ "ให้" เป็น "พัฒนา"

24 พฤศจิกายน 2011

ร.ศ.ดร.ชัยยุทธ สุขศรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร.ศ.ดร.ชัยยุทธ สุขศรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงเกินกว่าใครหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะรับมือได้ กลุ่มพลังสังคมที่รวมตัวขึ้นในหลากหลายรูปแบบทั้งภาคเอกชน ภาคชุมชนและกลุ่มจิตอาสา กลายมาเป็นกลุ่มพลังหลัก ในการให้ความช่วยเหลือ สร้างเครือข่ายและลุกขึ้นมาดูแลชุมชนของตนเอง

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม จัดสัมมนาในหัวข้อ "ภัยพิบัติน้ำท่วมกับมิติใหม่ของสังคม" โดยเชิญกลุ่มพลังทางสังคมรูปแบบใหม่ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้เพื่อถอดเป็นบทเรียนเตรียมรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งการฟื้นฟูเยียวยาภายหลังภัยพิบัติ นายชัยยุทธ สุขศรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำวิจัยทั่วไป เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องของน้ำท่วม ทั้งในระยะปานกลางและในระยะยาว ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปหาคนมารับผิดชอบ แต่จะพยายามมองหาจุดบกพร่องต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุง

วิกฤตรอบนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 5 ด้าน คือ 1.ความไม่เข้าใจและขาดความรู้ในเรื่องน้ำ ทำให้การตัดสินใจในหลายๆกิจกรรมมีความล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น 2.การให้ข้อมูลข่าวสารไม่ครบถ้วน และข้อมูลบางส่วนอาจจะผิดพลาด 3.เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้อง ควรเป็นอย่างไร ขณะนี้เกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จึงเกิดคำถามว่าเรายังสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ต่อไปหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนมาเป็นบรรเทา หมายความว่าเราอาจจะต้องล้มเลิกแนวคิดที่จะต่อสู้กับน้ำ และควรปรับวิถีชีวิตให้มาอยู่กับน้ำท่วมได้ อย่างเช่น กรณีอยุธยา อ่างทอง นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง เกิดปัญหาน้ำท่วมสูงเกินกว่าที่ระบบป้องกันได้ออกแบบไว้ทั้งสิ้น

4.เสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของการบริหารจัดการน้ำ เริ่มตั้งแต่ระบบปิดล้อมที่ใช้กันมานานเกือบ 50 ปี ควรจะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ โดยเฉพาะระบบปิดของกทม. ควรจะเผยแพร่ข้อมูลให้สาธารณชนได้รับทราบว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร มีระบบการระบายน้ำและวางเครื่องสูบน้ำไว้ที่ไหนบ้าง จำนวนเท่าไหร่ เส้นทางการไหลของน้ำจะไปที่ไหน อย่างที่เขียนไว้บทความ "กรุงเทพมหานครรอด แต่บ้านใครฉิบหาย" ของนายประภาส ปิ่นตบแต่ง (ดูในล้อมกรอบ)

ถ้าเราเรียนรู้ประสบการณ์เหล่านี้ได้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะนำไปสู่วิธีการจัดการปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นสุดท้ายที่เราจะทำการศึกษา จากนี้ไปก็จะมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำทยอยออกมาเป็นระยะๆ

"ระบบปิดล้อมในตำราเขาเขียนไว้ว่าเป็นระบบที่เห็นแก่ตัว สิ่งที่เกิดขึ้น คือคนที่อยู่นอกคันกันน้ำเดือดร้อน ระบบปิดล้อมเขียนไว้ในตำราของม.ล.ชูชาติ กำภู อดีตอธิบดีกรมชลประทานมาตั้งแต่ปี 2506 กทม.ได้นำมาประยุกต์ใช้เกือบ 50 ปีแล้ว คนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำก็ไม่ได้ตั้งคำถาม คนที่อยูในคันกั้นน้ำ ยิ่งไม่ตั้งคำถามใหญ่ ซึ่งเป็นระบบที่เห็นแก่ตัว ขณะนี้ทุกจังหวัด ก็ทำระบบปิดล้อมทั้งสิ้น สังคมมันจะอยู่กันได้ไหม น้ำมันจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ และถ้าเราพยายามต่อสู้น้ำ น้ำมันก็จะสร้างพลังอย่างที่เห็น เราทำคันกั้นน้ำไม่ให้เข้านิคมอุตสาหกรรมสูง 4 เมตร ก็ยังเอาไม่อยู่"

หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่ากรมชลประทานมีการจัดเก็บข้อมูลสถิติปริมาณน้ำมาตั้งแต่ปี 2448 อย่างที่จ.นครสวรรค์มีการเก็บข้อมูลน้ำเอาไว้กว่า 100 ปี บางท่านบอกว่าจะมาเปรียบเทียบกับปัจจุบันไม่ได้ เพราะสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน ซึ่งก็มีส่วนถูก แต่ผมคิดว่ามันไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก

ปัญหาที่เกิดขึ้น จริงๆแล้วเกิดจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารไม่ครบถ้วนหรือเปล่า ยกตัวอย่าง น้ำท่วมรอบนี้มีบางท่านพูดว่ามันเป็นน้ำท่วม 100 ปี แต่ถ้าเราดูจากข้อมูลปริมาณน้ำของกรมชลประทานจะพบว่าปัญหาน้ำท่วมในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 50 ปี ดังนั้นสิ่งที่เราเผชิญเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ไม่ได้เป็นอะไรมหัศจรรย์เลยและมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้อีกประมาณ 1 ใน 50 หรือ ประมาณ 2% แต่ถ้าจะพูดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อย สัดส่วนควรจะอยู่ที่ 1 ใน 100 หรือ 1 ใน 200 แต่นี่มัน 1 ใน 50 ก็มีโอกาสเกิดขึ้นอีก สังคมควรจะรับรู้ว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมถึงแล้ว ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ

จากประสบการณ์ครั้งนี้ ทำให้สังคมไทยได้รับบทเรียนที่มีคุณค่าแก่การศึกษาในหลายๆด้าน ซึ่งการสัมมนาได้เชิญผู้นำชุมชนจำนวน 5 คน มาถ่ายถอดประสบการณ์ในการบริหารจัดการปัญหาภัยพิบัติในอดีตที่ผ่านมา

โมเดลบ้านน้ำเค็มรับมือภัยพิบัติ

เริ่มจากนายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้แทนเครือข่ายบ้านน้ำเค็ม จากผู้ที่เคยประสบภัยสึนามิ กลายมาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ได้เล่าถึงประสบการณ์ในอดีต ช่วงที่เกิดสึนามิว่า ตอนนั้นชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น คิดว่าน้ำท่วมโลก ชาวบ้านไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน จึงหนีขึ้นไปอยู่ตามป่าตามเขา แต่โชคดีมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) และมูลนิธิชุมชนไทเข้ามาช่วยเหลือ

ชาวบ้านจึงเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว สิ่งแรกที่ต้องทำคือเรื่องส้วม จากนั้นก็เป็นที่พัก ชาวบ้านก็เริ่มทยอยเข้ามาที่ศูนย์พักพิงฯทันที

"ผมไม่เคยเป็นผู้บริหารศูนย์ฯมาก่อน แต่ก็ต้องทำ เพราะในช่วง 3 วันแรกมีชาวบ้านเข้ามาอยู่ 1,500 ครอบครัว จึงต้องมีการแบ่งกลุ่มชาวบ้านออกเป็นกลุ่มๆกลุ่มละ 10 คนมีหัวหน้ากลุ่ม 1 คน นำประเด็นปัญหาต่างๆมาประชุมกันทุกวัน"

นายไมตรี จงไกรจักร์  เครือข่ายบ้านน้ำเค็ม

นายไมตรี จงไกรจักร์ เครือข่ายบ้านน้ำเค็ม

พอเริ่มเป็นศูนย์พักชั่วคราว ก็มีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เริ่มบริจาคเงินและสิ่งของเข้ามาช่วยเหลือ ช่วงแรกๆ ก็เกิดปัญหาให้ไม่ครบ เช่น เอาเงินมาให้ 500 ซอง แต่มี 1,500 ครอบครัว อีก 1,000 ครอบครัวไม่ได้รับเงิน ก็ทะเลาะกัน เอาข้าวสารมาแจกแต่ให้ไม่ทั่วถึง กลายเป็นประเด็นปัญหาสร้างความปั่นป่วน

เราจึงมาวางระบบกันใหม่ ใครนำสิ่งของมาบริจาคต้องเข้ากองกลางภายใน 15 วัน เราได้รับเงินบริจาค 1.54 ล้านบาท ก็เรียกประชุมหัวหน้ากลุ่มมาประชุม ขอความเห็นในการจัดการเงินบริจาคตามหลักประชาธิปไตย เสียงข้างมากบอกให้แบ่งกัน ก็ได้กันไปครอบครัวละ 900 บาท เอาไปใช้ประโยชน์อะไร แทบไม่ได้เลย ดังนั้นในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้จะใช้หลักประชาธิปไตยไม่ได้

จากนั้นเราจึงปิดรับบริจาคเงิน แล้วมาตั้งเป็นกลุ่มอาชีพหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มที่ต้องการสร้างเรือ ก็มีบริษัทมิชลินและปูนซิเมนต์ไทยบริจาคเงินช่วยเหลือ 3-4 ล้านบาทให้มาต่อเรือ ใครอยากสร้างบ้านทางรัฐบาลประเทศเดนมาร์ค สหภาพยุโรปและรัฐบาลไทย ร่วมบริจาคเงินเข้ามาสร้างบ้านถึง 50 ล้านบาท

กระบวนการคือต้องมีการรวมกลุ่มกันก่อน จากนั้นก็ตั้งตัวแทนกลุ่มนำมารวมกันเป็นคณะกรรมการบริหารจัดการทั้งหมด ทำครัวเอง ล้างห้องน้ำเอง วางระบบเตือนภัย เวลาเกิดภัยพิบัติจะหนีไปทางไหน กำหนดเส้นทางหมด ไม่ต้องวิ่งหนีบ่อยๆ อย่างไม่มีเหตุผล จึงจำเป็นต้องขอรับทราบข้อมูลแผ่นดินไหวพร้อมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะถ้าไม่รู้ข้อมูลพร้อมกัน กว่าผู้ว่าฯจะสั่งการลงมาใช้เวลา 1 ชั่วโมง พอดีชาวบ้านหนีไม่ทัน ตายกันพอดี ทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี กว่าจะทุกอย่างจะเข้าที่-เข้าทาง ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้เรา ก็นำมาสรุปเป็นบทเรียน เมื่อเกิดปัญหาภัยพิบัติต้องปฎิบัติอย่างไรบ้าง และหลังวิกฤตจะฟื้นฟูอย่างไร จนชุมชนของเรามีความเข้มแข็ง

จากนั้นก็จัดทีมอาสาสมัครออกไปช่วยเหลือ ในปี 2549 จ.อุตรดิต เกิดปัญหาน้ำท่วม ทางเครือข่ายบ้านน้ำเค็ม ก็ส่งอาสาสมัครไปช่วยเหลือ 50 คน เกิดดินโคลนถลมที่ลำปาง เราก็ส่งอาสาสมัครไปช่วย 100 คน น้ำท่วมโคราชก็ส่งอาสาสมัครไปช่วยเหลือ

สุดท้ายก็จัดอาสาสมัครมาช่วยที่เขตดอนเมือง หลังจากที่ทราบว่ามีชาวบ้านประมาณ 450 คน ไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปดูแล พวกเราจึงเข้าไปช่วยจัดระบบให้ที่ดอนเมือง ช่วยกันวางระบบเรื่องส้วม น้ำประปา ไฟฟ้า และก็มีกรมอนามัยเข้าไปดูแล เราคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ แต่คนกรุงเทพทำยากพอสมควร ไม่เหมือนชุมชนต่างจังหวัดที่เราเคยไป เพราะเขาไม่รู้จักกัน ไม่เคยพูดคุยกัน ตอนพม่าโดนนากีสถล่ม เราก็ไปช่วยเหลือ แต่ยังง่ายกว่าคนกรุงเทพฯ

ความล้มเหลวของบริหารจัดการภาครัฐ

ด้านนางปรีดา คงแป้น มูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นรอบนี้มีความขัดแย้งในพื้นที่รับน้ำเกิดขึ้นหลายจุด อย่างเช่น พื้นที่จ.ปทุมธานี กับจ.นนทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีประชาสังคมเปรียบเทียบกับนครปฐมกับสุมทรสาคร ไม่ค่อยมีความขัดแย้งกันสักเท่าไหร่ เพราะมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง เข้ามาร่วมบริหารจัดการด้วย

ดังนั้นระบบการบริหารจัดการภัยพิบัติของภาครัฐในรอบนี้ ถือว่าล้มเหลว เพราะเป็นระบบรวมศูนย์ ทั้งในเรื่องของการรับบริจาค การตัดสินใจ รวมศูนย์ฯอยู่ที่ดอนเมือง ซึ่งการจัดการปัญหาภัยพิบัติจะต้องทำทั้งในระบบควบคู่ไปกับนอกระบบ นี่เป็นประสบการณ์จากสึนามิ การจัดการความขัดแย้งในพื้นที่จุดรับน้ำยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปแก้ปัญหาได้เลย การจัดการศูนย์พักพิงก็ขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ในระยะหลังๆจะได้ยินข่าวคนที่อยู่ในศูนย์พักพิงมีปัญหาขัดแย้งกับผู้บริหารศูนย์พักพิง มีการเรียกร้องและบ่นว่าข้าวไม่อร่อยบ้าง เบิกของไม่ได้บ้าง หลายแห่งเกิดความโกลาหล

นางปรีดา คงแป้น มูลนิธิชุมชนไทย

นางปรีดา คงแป้น มูลนิธิชุมชนไทย

ศูนย์พักพิงใหญ่เกินไปก็บริหารจัดการยาก เพราะประเทศไทยขาดความรู้ในการบริหารจัดการศูนย์พักพิง ศูนย์พักพิงน้ำท่วมย้ายแล้วย้ายอีก เกิดการขาดแคลนอาหาร ถุงทรายกั้นน้ำ ชาวบ้านไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ เพราะไม่ทราบข้อมูลว่าน้ำจะท่วมสูงถึงขนาดนี้ แต่มาย้ายเอาตอนที่เกิดวิกฤตแล้ว แถมยังมีเกมการเมืองที่มากับน้ำท่วมอีกด้วย

"ในฐานะที่เป็นนักพัฒนา ภัยพิบัติเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการชุมชนได้เป็นอย่างดี ภัยพิบัติเป็นการรวมคนให้มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำได้เป็นอย่างดี ถ้าทำเป็น ถ้าทำถูก ขณะเดียวกันการให้ก็เป็นดาบ 2 คม คือจะให้อย่างไรให้ชุมชนเข้มแข็ง สร้างเป็นเครือข่ายของชุมชนได้ มีจิตอาสาเกิดขึ้นมามาย เป็นผลจากการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เกิดเครือข่ายสึนามิถึง 105 ชุมชน ผูกพันมาจนถึงทุกวันนี้ เกิดกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย ปัจจุบันกลายเป็นธนาคารหมู่บ้าน ดูแลสวัสดิการชาวบ้าน และยังเข้าไปแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ดูแลชาวเล คนไทยพลัดถิ่น ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ก็เริ่มมาจากสึนามิ" นางปรีดากล่าว

จากผู้ประสบภัยก็มาร่วมกันเป็นเครือข่าย และจากเงินบริจาค 1 ล้านบาท ก็มาชวนชาวบ้านออมเงินเพิ่ม ตอนนี้ธนาคารบ้านน้ำเค็มมีเงินทุนหมุน 10 ล้านบาท จากการให้กลายเป็นการพัฒนา ปัจจุบันเครือข่ายสึนามิ เข้าร่วมกิจกรรมปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อมเกือบทุกเรื่อง แม้แต่นายทุนจะมาดูดทรายไปขายสิงค์โปร์ก็ช่วยกันคัดค้านจนสำเร็จ และก็ยังไปช่วยชาวบ้านที่จ.ภูเก็ตถูกไล่ที่ดิน จนเป็นที่มาของโครงการโฉนดชุมชน เป็นต้น

โมเดลที่ถอดออกมา ก็เริ่มจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ร่วมกันจัดการของบริจาค ตั้งกองทุนขึ้นมาฟื้นฟูใน 30 ด้าน ทั้งในเรื่องของการสร้างที่อยู่อาศัย สร้างอาชีพ ฟื้นฟูวัฒนธรรมในอันดามัน จัดกิจกรรมกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่องและเข้าร่วมคณะกรรมการปฎิรูปประเทศไทย เป็นต้น

การจัดการภาวะวิกฤตต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ เพราะคนที่เข้าไปอยู่ในศูนย์พักพิงมีความหลากหลายทำให้การบริหารจัดการมีความยากลำบากมาก มีปัญหาสารพัด แต่ก็มีกระบวนการในการบริหารจัดการ อย่างที่บ้านน้ำเค็ม ก็จะวางเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มอาชีพ แผนกรักษาความปลอดภัย กลุ่มผลิตอาหาร แบ่งเป็นกลุ่มให้ผู้พักพิงมีส่วนร่วมตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาอยู่ อย่างที่คลองมหาสวัสดิ์ ก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติในลักษณะนี้ โดยความต้องการชาวบ้านเอง ในส่วนของภาครัฐเองก็ควรจะเข้าไปทำแผนที่ศูนย์พักพิงว่าเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง ในตอนนี้มีศูนย์ย่อยๆเกิดขึ้นกี่แห่ง เพื่อนำมาร่วมกันเป็นเครือข่ายต่อยอด

แรงงานแฝงไม่ได้รับการช่วยเหลือ

ด้านนายจำลอง ชะบำรุง ผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานผู้ประสบภัย บางปะอิน จ.อยุธยา กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมที่อยุธยา ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ทางสหภาพแรงงานที่อยุธยาทั้งหมด ก็ได้มีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นศูนย์ฯขึ้นมา ดูแลแรงงาน ส่วนใหญ่จะมีภูมิลำเนาอยู่ที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน แต่ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดอยุธยาเท่านั้น จึงถูกละเลย จึงจำเป็นต้องตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานขึ้นมา วันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้รับเงินช่วยเหลือเข้าไปช่วยเหลือแรงงานที่ติดอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 5-6 แห่งในอยุธยา จนถึงวันนี้กลุ่มได้จัดถุงยังชีพบรรทุกใส่เรือไปให้แรงงานที่ประสบภัยไปแล้วกว่า 8,000 ชุด ซึ่งแรงงานที่ติดอยู่ตามนิคมจะมีทั้งคนชรา เด็กทารกติดอยู่ด้วย จึงต้องพยายามหานมถุง ก็มีมูลนิธิเด็กต่างๆนำของมาบริจาค มีโรงพยาบาลเปาโล พญาไทเข้ามาตรวจสุขภาพให้

ล่าสุดในตอนนี้ก็มีมาตรการกู้นิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง ซึ่งทางศูนย์ฯก็เห็นด้วยจะได้กลับไปทำงานกัน แต่เมื่อลงไปดูพื้นที่จริง พบว่ามีสารเคมี หรือคราบน้ำมันลอยอยู่ตามผิวน้ำ ซึ่งภาครัฐได้ส่งนักวิชาการเข้าไปตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่าปลอดภัย แต่ถ้ามองด้วยตาเปล่าเห็นคราบน้ำมันลอยอยู่ ทางศูนย์ฯก็อดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะไม่มีใครทราบว่าจะมีผลต่อสุขภาพในระยะยาวหรือไม่ ภาครัฐควรจะเข้ามาช่วยบำบัดน้ำเสียก่อนที่จะปล่อยลงไปข้างล่าง ขณะนี้ชาวอยุธยาจะต้องเดินลุยน้ำไปอีก 1 เดือน เพราะกรุงเทพมีปัญหาน้ำท่วมขังอยู่จะปล่อยน้ำลงไปมากไม่ได้ แต่อย่างไรชาวบ้านก็ยืนยันว่าจะเข้าไปช่วยกู้นิคมอุตสาหกรรม เพราะอยากจะให้ลูกหลานกลับไปทำงาน

ส่วนระบบการบริหารจัดการของศูนย์ฯ ก็จะเปิดให้แรงงานเข้ามาลงทะเบียน ระบุความต้องการที่จะให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ตอนนี้น้ำเริ่มลด ก็มีปัญหาตามมา คือนายจ้างเลิกจ้าง ติดค้างค่าจ้าง ขาดการติดต่อ เป็นต้น ลูกจ้างเริ่มร้องเรียนมาทางศูนย์ฯเป็นจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลเหลานี้จะนำเสนอต่อกระทรวงแรงงานต่อไป

ฝากรัฐบาลครั้งต่อไปคิดถึงคนพิการด้วย

นายสุเมธ พลคะชา อาจารย์ประจำมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯได้จัดทำศูนย์พักพิงสำหรับคนพิการและครอบครัวที่พัทยา เดิมทีเราเป็นศูนย์ฝึกอาชีพและการศึกษาให้กับคนพิการ เรามีที่พักและอาหารให้สำหรับคนพิการทางกาย แต่หลังจากที่น้ำท่วมกรุงเทพฯทางเครือข่ายเด็กและผู้พิการได้ติดต่อมาที่มูลนิธิฯว่าน้ำจะเข้ามาที่บางแค จึงติดต่อขอนำผู้สูงอายุและคนพิการมาพักพิงที่มูลนิธิก่อน เนื่องจากคนพิการจะมีปัญหาในเรื่องของห้องน้ำ ถ้าจะให้ไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงทั่วไป คงจะไม่สะดวกนัก หลังจากประชาสัมพันธ์ออกไป มีคนพิการและครอบครัวติดต่อมาที่มูลนิธิกันมาก แต่ก็มีปัญหาคือคนพิการที่อยู่นนทบุรี ปทุมธานี ไม่มีรถมาส่ง เราก็ประสานไปที่ขสมก.เอารถไปรับมาส่งที่มูลนิธิ แต่คนพิการกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป จึงไปรับมาได้แค่ 2 เที่ยวประมาณ 30 คน รวมแล้วมีคนพิการอพพยมาอยู่ที่มูลนิธิประมาณ 200 คนเท่านั้น

นายสุเมธ พลคะชา อาจารย์ประจำ มูลนิธิพระมหาไถ่ เพื่อการพัฒนาคนพิการ

นายสุเมธ พลคะชา อาจารย์ประจำ มูลนิธิพระมหาไถ่ เพื่อการพัฒนาคนพิการ

ส่วนการบริหารจัดการคนพิการที่มาอยู่ในศูนย์พักพิง ก็มีความหลากหลาย บางคนขาขาดก็พอช่วยเหลือตัวเองได้ หนักหน่อยก็เป็นอัมพาต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็ให้ญาติดูแล แต่ถ้ากรณีไหนไม่มีญาติ ก็หาผู้ช่วยเหลือให้ เราให้ได้แค่วันละ 200 บาท ก็หาคนช่วยเหลือยาก คนตาบอดก็พยายามให้อยู่ใกล้ห้องน้ำ แต่บางกรณีเราก็ช่วยไม่ได้ บางคนพิการทางจิต เอามาอยู่รวมกันก็ร้องกรี๊ดๆ เราจะรับเฉพาะคนพิการทางด้านร่างกายเท่านั้น บางคนมาอยู่กับเราร่วม 1 เดือนแล้ว

ส่วนคนพิการ ผู้ป่วย คนชราที่ไม่สามารถจะเดินทางเข้ามาอยู่ที่มูลนิธิฯได้ คนเหล่านี้จะมีปัญหาในเรื่องของการเข้าถึงของบริจาคและบริการจากภาครัฐ ยกตัวอย่าง ป้าแก่ๆ อยู่กับลุง 2 คน มีเฮลิคอปเตอร์นำของมาโยนให้กลางน้ำ เป็นไปได้หรือไม่ที่เขาจะออกไปรับของบริจาค ไม่นับคนที่เป็นเบาหวาน หรือฟอกไต คงจะมีความลำบากในการไปหาหมอ ในสภาวะเช่นนี้ อย่าว่าแต่คนพิการเลย คนไม่พิการก็ใช้ชีวิตลำบากก็เป็นปัญหาหนึ่ง พอเข้าไปอยู่ศูนย์พักพิงก็มีปัญหาเข้าห้องน้ำลำบาก ขอฝากไว้เป็นบทเรียน คราวหน้าถ้าเกิดปัญหาภัยพิบัติอีก ก็อยากจะให้นึกถึงคนพิการด้วย เช่น จัดทำแผนที่ว่ามีคนพิการอยู่ตรงไหน แล้วจะย้ายไปอยู่ศูนย์พักพิงที่ไหนที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ เป็นต้น

"สมุทรสาคร" ตั้งเครือข่ายพาน้ำลงทะเล

นายชุมพล สายหยุด เครือช่ายพาน้ำลงทะเล กล่าวว่า เดิมทีผมมาอาชีพเป็นนัดจัดรายการวิทยุ เป็นประธานวิทยุชุมชน สมุทรสาคร เริ่มต้นเข้ามาทำเครือข่ายพาน้ำลงทะเล เมื่อมีข่าวว่าจะมีมวลน้ำจากกรุงเทพฯไหลเข้าท่วมสมุทรสาคร ทางประชาสัมพันธ์จังหวัดเชิญสื่อมวลชนไปฟังผู้ว่าราชการจังหวัดแถลงข่าว สรุปว่ามี 3 ขั้นตอน คือเฝ้าระวัง เก็บของและอพยพ เป็นขั้นตอนที่ผู้ว่าฯได้แจ้งไว้ แต่จะมีเขื่อนทางธรรมชาติกั้นไว้ เช่น ถนนพุทธมณฑล ทางรถไฟสายใต้ ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ถนนเพชรเกษม ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมสมุทรสาครช้ากว่าปกติ

หลังจากนั้นก็มีน้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ไหลเข้าท่วมทางรถไฟสายใต้ ท่วมปินเกล้า-นครชัยศรี อ้อมน้อย ก็มีการแถลงข่าวว่าน้ำจะท่วมบ้านแพ้วกี่เซ็นติเมตร เพราะมีมวลน้ำจำนวนมหาศาลกำลังจะผ่านสมุทรสาครเพื่อลงอ่าวไทย จึงเกิดเครือข่ายอาสาพาน้ำลงทะเลขึ้นมา ก็เริ่มเข้าไปสำรวจคลองส่งน้ำต่างๆ มีกี่คลอง อย่างเช่น คลองจินดาลงอ่าวไทย แนวขวางมีคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่กลองมีกี่คลอง มองพื้นที่เป็น 4 เหลี่ยม เราก็ลงไปนั่งคุยกับชาวบ้านและโรงเรียนจนเกิดเป็นเครือข่ายพาน้ำลงทะเลแล้วประสานงานกับผู้นำหมู่บ้าน อบต.ต่างๆ ถึงแม้ตอนนี้น้ำจะไม่ท่วม แต่ถ้ามีน้ำเสียไหลเข้ามาก็อาจจะทำให้พืชผลทางการเกษตร บ่อกุ้งบ่อปลาได้รับความเสียหายได้ เราจึงระดมชาวบ้านมาช่วยกันวางแนวป้องกัน ขณะเดียวกันก็ช่วยกันขุดลอกคูคลอง สวะต่างๆ เพือให้น้ำไหลได้สะดวก ตอนนี้ผู้ว่าฯก็ประกาศแล้วถ้าน้ำไหลลงมาไม่มาก สมุทรสาครก็พอจะรับมือกับน้ำท่วมได้ จึงไม่ห่วงน้ำท่วมแล้ว แต่มีงานใหม่คือขุดลอกคูคลอง

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม จัดสัมมนาในหัวข้อ

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม จัดสัมมนาในหัวข้อ "ภัยพิบัติน้ำท่วมกับมิติใหม่ของสังคม"

นครปฐมร่วมกลุ่มกู้สวนส้มโอ 5 พันไร่

นายเกษม พันธุ์สิน อาสาสมัครศูนย์อาสาฝ่าน้ำท่วม พื้นที่สมุทรสาคร กล่าวว่าตอนนี้ทางศูนย์อาสาฝ่าน้ำท่วม ก็ได้เข้าไปช่วยเหลือชาวสวนส้มโอที่ อ.นครชัยศรี ตอนนี้น้ำท่วมสวน 5,000 ไร่ น้ำท่วมสูง 80 เซนติเมตร น้ำท่วมมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน จึงประสานงานคนในพื้นที่และภาคราชการหาแนวทางแก้ไข โดยทำคันกั้นน้ำล้อมสวนส้มแล้วเร่งระบายน้ำออก หลังจากออกข่าวไปก็มีคนนำกระสอบทรายมาบริจาคน่าจะถึงแสนกระสอบภายใน 1-2 วันนี้ และก็มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ลงไปช่วยวัดเลยว่าตอนนี้ต้นส้มโอมีอายุอยู่ได้อีกกี่วัน และให้คำแนะนำเพื่อช่วยยืดชีวิตต้นไม้เหล่านี้ด้วยวิธีใดได้บ้าง

ตอนแรกก็มีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เขาเชื่อว่าอีกไม่กี่วันน้ำก็ลด แต่ชาวบ้านก็ยังไม่มั่นใจ เพราะลงทุนไปไร่ละหลายล้านบาท จึงรวมพลังงานแก้ไข ซึ่งแตกต่างจากสมุทรสาคร ชาวบ้านรวมพลังกันแก้ปัญหา ผมคิดว่าในพื้นที่ประสบปัญหา กำลังใจต้องมาก่อน ถ้ากำลังใจไม่มีชาวบ้านจะไม่ยอมทำความเข้าใจกับอะไรเลย อย่างตอนที่ลงไปครั้งแรก ทางศูนย์ฯล่องเรือไปดูสวนส้มโอ ชาวบ้านถามว่ามาทำไม ไม่ต้องมาดูหรอกมันตายแน่นอน หัวหน้าผมบอกว่ามันต้องรอด เรียกขึ้นเรือไปดูด้วยกัน หลังจากนั้นก็มีอาจารย์เข้ามาช่วยพูดคุย ชาวบ้านก็เปลี่ยนความคิด เกิดกำลังใจ และถามเรากลับว่าจะให้ช่วยทำอะไรได้บ้าง

กรุงเทพมหานครรอด แต่บ้านใครฉิบหาย

ประภาส ปิ่นตบแต่ง

ชัยชนะของคนกทม.

แม้ในระยะหลังจะลดความมั่นใจลงไปบ้าง แต่ตอนนี้บรรดาท่านผู้นำที่เกี่ยวข้องทั้งหลายต่างมีความมั่นใจว่าการปกป้องคนกทม.จากน้ำท่วมครั้งนี้ น่าจะประสบความสำเร็จได้ค่อนข้างแน่แล้ว โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเขตพื้นที่ชั้นใน ชัยชนะที่เกิดขึ้นนี้ก็เพราะ 1) การปิดประตูระบายน้ำตามคูคลองต่าง ๆที่เคยเป็นทางไหลของน้ำมายาวนาน

2) การสร้างคันกั้นทั้งถาวรและชั่วคราว ซึ่งส่งผลทำให้น้ำยกระดับขึ้น เสมือนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ขวางมันเอาไว้ กทม.จึงเหมือนพื้นที่ในอ่างนั่นเอง ผลพวงดังกล่าวนี้ได้ทำให้น้ำค้างอยู่ในทุ่งไหลอาละวาดไปตามพื้นที่รอบอ่าง ทำให้นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งพังพินาศลงไป ก็คงจะกล่าวได้ว่าเป็นผลกระทบมาจากการสร้างเขื่อนป้องกันกทม.ไม่มากก็น้อย

3) การผลักดันและผันน้ำให้เปลี่ยนทิศทาง ออกไปฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของกทม. ความหายนะจึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ตัวอย่างสำคัญคือ สภาพที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้านจัดสรรแถบบางบัวทอง ,ชาวสวน,ชาวไร่แถวนนทบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงที่มักจะไม่ค่อยเป็นข่าวมากนัก แตกต่างไปจากเหตุการณ์ที่นิคมอุตสาหกรรมและหมู่บ้านจัดสรรของคนรวย การวางระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่กทม.ได้มีการพัฒนามาตั้งแต่เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2538 ทำให้พื้นที่กทม.อยู่รอด เพราะมีเขื่อนสูงล้อมรอบ

ยุทธการผลักทุกข์ เอาแต่สุขฝ่ายเดียว

ในเร็วๆนี้ทั้งผู้ว่ากทม.และรัฐบาลได้ประกาศชัยชนะอย่างเด็ดขาด ในการป้องกันน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมกทม. ถือว่าเป็นความชาญฉลาดในการบริหารจัดการน้ำ ขณะที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกลับมีอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป เพราะนี่ "มันไม่ใช่เรื่องอะไรของพวกกูเลย"

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า คนกทม.ก็ควรจะเฉลี่ยสุข เฉลี่ยทุกข์กับเขาบ้าง ไม่ใช่ผลักภาระให้คนอื่น โดยตั้งป้อมปราการขึ้นมาเสวยสุขอยู่แต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น ทั้งๆที่สามารถทำได้ แต่ไม่ทำ แถมยังโกหกอีก

สภาพของพื้นที่รับน้ำตามที่กล่าวมานี้ ระดับน้ำใกล้เคียงกับเมื่อปี 2538 แล้ว เพราะเป็นเส้นทางผ่านของน้ำจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านมาทางคลองมหาสวัสดิ์ เพื่อผลักดันโดยการสูบออกไปลงแม่น้ำนครชัยศรี นอกจากนี้รัฐบาลและกทม.ได้แถลงว่า น้ำดังกล่าวจะถูกผันไปทางคลองภาษีเจริญ คลองทวีวัฒนา คลองควาย ฯลฯ

คลองเหล่านี้สามารถผลักดันน้ำไปลงทะเลได้อย่างรวดเร็วที่สุด เพราะมีระยะทางสั้น ผมได้คุยกับลุงช่วย สิทธิสุนทร แกบอกว่า สมัยหนุ่มๆ ใช้คลองทวีวัฒนา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าคลองขวางทะเลอยู่บ่อยๆ พายเรือแค่ครึ่งวัน ก็ทะลุอ่าวไทยแล้ว แกยังสงสัยว่าทำไมเขาถึงมาปิดคลองขวาง "ปิดแบบนี้ ก็ท่วมบ้านเราตายห่าละสิ"

พวกเราได้เดินทางไปดูคลองเหล่านี้กันบ่อยๆ คุยกับผู้นำในพื้นที่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว คลองทวีวัฒนาจะปิดสนิท มีชาวบ้านราว 1,000 คนไปเจรจาต่อรอง จึงมีการยกประตูระบายน้ำขึ้นไประดับหนึ่ง

จากนั้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2554 เวลา 11.30น. ตามไปดูกันอีกครั้ง พบว่าประตูน้ำปิดสนิท ลงไปแล้ว เพื่อคนหนึ่งเปรยขึ้นมาว่า "เฮ้ย! พวกเราจะมีน้ำรดต้นไม้กันไหมเนี่ย"

ตลอดริมคลองมหาสวัสดิ์ ฝั่งทางทิศใต้ หรือทางรถไฟ พื้นที่ตั้งแต่เขตตลิ่งชัน และเขตทวีวัฒนาได้ถูกอุดตันไปหมดแล้ว ทั้งคันกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ และยังมีการอัดกระสอบทรายลงไปจนยากที่น้ำจะรอดเข้าไปได้ และยังพบว่ามีกองทหารเรือที่อ้างว่ามาช่วยเหลือชาวบ้าน แต่หน้าที่ที่เห็นก็คือ ขนกระสอบทรายมาสร้างคันกั้นน้ำ ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่เขตทวีวัฒนาเท่านั้น

ดังนั้นที่บอกว่าจะผันน้ำไปทางทิศตะวันตก เพื่อไปลงคลองเหล่านี้ เพราะใกล้ทะเลมากที่สุด น่าจะเป็นเรื่องโกหกคำโตทั้งสิ้น การป้องกันพื้นที่เหล่านี้ เพียงเพราะเป็นพื้นที่กทม.จะมีความหมายอะไร เมื่อเทียบกับความพินาศของหมู่บ้านจัดสรรแถบบางบัวทอง และอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการผันน้ำผ่านคลองพระพิมลราชา ฯลฯ

การเลือกพื้นที่ผันน้ำที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่ควรทำอย่างยิ่งก็คือ คลองที่เชื่อมต่อกับคลองมหาสวัสดิ์ ผ่านเขตทวีวัฒนา แต่ไม่ใช่เลือกเส้นทางหลักในการผันน้ำผ่านคลองพระพิมลราชา และคลองอื่นๆบริเวณนั้น เพราะการนำน้ำไปลงที่นั่น ก็น่าจะรู้ได้ไม่ยากว่า แม่น้ำท่าจีนคดเคี้ยว และปกติน้ำที่มาจากสุพรรณบุรี ก็มากมายอยู่แล้ว

ภาพการขุดคลองลัดเล็กๆ กระจอกงอกง่อย อย่าง เส้นทางลัดงิ้วราย ลัดอีแท่น ฯลฯ ซึ่งเป็นคลองเดิม โดยหวังว่าจะพาน้ำไปลงทะเลให้เร็ว รวมทั้งการใช้เรือผลักดันน้ำให้ไหลเร็วขึ้นเป็นสิ่งที่ช่วยได้เล็กน้อยเท่านั้น แต่กทม.ดันไปถมคลองทวีวัฒนาซะเกือบครึ่งคลอง เพื่อสร้างถนนและสวนสุขภาพริมคลอง เมื่อมองจากภาพของการผันน้ำ จึงเป็นเรื่องเศร้า

ผู้ที่รับผิดชอบได้แถลงว่า เมื่อคลองลัดเหล่านี้เสร็จ ก็จะเร่งระบายน้ำออกไปทางคลองมหาสวัสดิ์ แม้เป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่คำถามคือจะทำได้มากน้อยยแค่ไหน เพราะระดับน้ำของแม่น้ำนครชัยศรี ขณะนี้สูงประมาณ 2.4 เมตร ส่วนน้ำในคลองมหาสวัสดิ์ 1.99 เมตร (ระดับน้ำวันที่ 19 ตุลาคม 2554 เวลา 6.00 น.)

น้ำแปลกหน้า : ท่วมสูง ขังนาน เดือดร้อนยาว

ข้อมูลที่ได้รับทราบจากผู้ที่เกี่ยวข้องบอกว่า การระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาสู่คลองมหาสวัสดิ์ ยังไม่ได้ทำเต็มที่ ต้องรอการขุดคลองกระจอกงอกง่อยให้เสร็จเสียก่อน และคาดการณ์ได้ไม่ยากว่า ในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงสุดปายเดือนนี้จะดำเนินการเต็มสูบแน่ เนื่องจากมีการคำนวณว่ารระดับน้ำริมเจ้าพระยาจะสูงราว 2.45 เมตร เพราะน้ำทะเลหนุนสูง แต่อย่างไรก็ต้องผันน้ำเพื่อให้คนกทม.รอดไว้ก่อน

แต่มองจากฝั่งคนในพื้นที่ระดับน้ำที่สูงมากๆอยู่แล้ว จมกันแทบหมดอยู่แล้วกำลังจะวิกฤติหนัก ด้วยเหตุจากการผันน้ำดังกล่าว และอีกด้านหนึ่งคือน้ำที่เอ่อล้นข้ามแยกนพวงศ์ น้ำได้ข้ามถนนมาแล้ว น่าจะส่งผลต่อพื้นที่แถบนี้ด้วย เนื่องจากมีคลองเชื่อมต่อกัน

ดูสถานการณ์โดยรอบพื้นที่แถบนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ไร่นาและสวนจะได้รับผลกระทบมากแน่ๆ น่าเห็นใจเพื่อนๆหลายคนที่กำลังสู้กับระดับน้ำที่ขยับขึ้นทุกวัน โดยยกคันกั้น ส่วนใครโยนเงินเข้าไปจนหมดตัว และหมดแรง ก็ล่มลงไปก่อน

ส่วนที่เหลือก็สู้กันไป แม้จะรู้ว่ากำลังต่อสู้กับสิ่งลี้ลับ เพราะไม่รู้ว่าระดับน้ำจะไปสิ้นสุดตรงไหน ค่าชดเชยแค่ไหน อย่างไรก็ไม่มีทางคุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้น คนที่สวนล่มกว่าจะฟื้นตัว ในช่วงหลังน้ำลดต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2-3 ปี จึงจะเก็บดอกออกผลได้

ส่วนชาวนาแม้จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเก็บเกี่ยวกันไปก่อน แต่สถานการณ์เช่นนี้มีน้ำท่วมอยู่ในทุ่งเป็นจำนวนมาก ทำให้การทำมาหากินเริ่มได้ช้ามาก เป็นไปได้ว่าจนถึงเดือนมกราคม ยังไม่รู้ว่าจะได้ทำนากันหรือเปล่า ในแง่นี้จึงไม่มีทางทันระยะเวลารับจำนำข้าวที่กำหนดเอาไว้สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 เท่านั้น ก็หวังว่ารัฐบาลจะขยายเวลาออกไป

ข้อมูลข่าวสารในความมืด

บทเรียนสำคัญเรื่องหนึ่ง ก็คือ ในเรื่องข้อมูลข่าวสาร และสถานการณ์ที่เป็นจริง มองจากพื้นที่พบว่า แทบไม่มีการแจ้งข้อมูลข่าวสารกันเลย ผู้คนที่เกี่ยวข้องชาวบ้านก็คือ นักการเมืองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้จะทำงานแข็งขัน แต่ก็หนักไปในทิศทางการแจกกระสอบทราย ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็เอาไปโยนน้ำเล่นกัน ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวว่า "ไม่เห็นหัวพวกเกษตรอำเภอและพวกอำเภอเลย สงสัยจะไปหากินอยู่กับโรงสี เพื่อเตรียมรับจำนำข้าว"

การชี้แจงเรื่องสถานการณ์น้ำกลับไม่มี ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะได้ไม่ต้องเอาเงินไปโยนน้ำ หรือเหนื่อยฟรีๆ โดยไมได้อะไรจากการลงทุนป้องกันสวน

ด้านข่าวสารจากส่วนกลาง เมื่อฟังการให้ข่าวของบรรดาสส.สอบตกฝึกงานใหม่ และการแถลงข่าวว่าน้ำ ซึ่งไหลบ่าท่วมพื้นที่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นผลจากน้ำทะเลหนุน ก็รู้สึกว่าไม่ได้ให้ประโยชน์อะไร และเหมือนออกมาจากคนที่ไม่มีสมอง ถ้ามีข้อมูลและคิดได้แค่นี้ ก็ควรอยู่เฉยๆเสียดีกว่า

พลังชุมชน : ความดีงามและข้อจำกัด

ทีวีไทยได้พยายามหยิบประเด็นเรื่องพลังชุมชน ในการรับมือกับสถานการณ์น้ำ ซึ่งเป็นเรื่องดีแน่ๆ ดังตัวอย่างของชุมชนพิมลราชาที่มีการเตรียมตัวเป็นอย่างดี มีศูนย์ป้องกันภัยน้ำท่วม ฯลฯ จนทำให้ยังรอดพ้นจากระดับน้ำในขณะนี้ได้ พื้นที่สถานการณ์ที่ดินคลองโยง ก็ยังรักษาพื้นที่บางส่วนไว้ได้ โดยได้รับความร่วมมือจากเทศบาลเป็นอย่างดี

แต่หากพิจารณาบริบทโดยรอบ คำถามก็คือ พื้นที่เหล่านี้จะอยู่รอดในระยะยาวได้อย่างไร เราจะอยู่รอดอย่างไรบนความเห็นแก่ตัวของคนกทม.ที่คาดเดาได้ไม่ยากว่า บทเรียนน้ำท่วมครั้งนี้ คงจะสร้างป้อมปราการให้แข็งแรง แข็งแกร่งขึ้นให้รอบด้านมากขึ้นไปอีก นั่นหมายความว่า ผลกระทบต่อพื้นที่เหล่านี้ ก็จะยิ่งเกิดอย่างถาวรและรุนแรงมากเข้าไปอีก

สุดท้ายนี้ อยากจะบอกว่า พวกเราขอขอบคุณถุงยังชีพ ความช่วยเหลือรูปแบบต่างๆ รวมทั้งจิตอาสาของคนกทม. แต่เราต้องการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขกันบ้าง โดยเฉพาะคูคลองที่กล่าวมา และอย่านำน้ำแปลกหน้า ขังสูง ขังนาน เข้ามาในพื้นที่ และทิ้งให้พวกเราต้องรับกรรมแต่เพียงผู้เดียวจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า

http://thaipublica.org/2011/11/model-tsunami-crisis-54-flood/