ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"

ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

สวัสดีปีใหม่กับสื่อ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

สวัสดีปีใหม่กับสื่อ

วันที่ 02 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.




โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ 

(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 2 มกราคม 2554)


ในวาระขึ้นปีใหม่ สิ่งหนึ่งที่น่าทำคือย้อนดูตัวเอง

เมื่อต้นปี 2554 กลุ่มวิจัยภายใต้อาจารย์อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ได้เสนอผลวิจัยสรุปรวบรวมคะแนนจากดัชนีชี้วัดสื่อ 4 ข้อคือ เสรีภาพของสื่อได้รับความคุ้มครองและส่งเสริม, ความหลากหลายของสื่อ, การกำกับดูแลสื่ออิเล็กทรอนิกส์, มาตรฐานความเป็นมืออาชีพของคนทำสื่อ ปรากฏว่าสื่อไทยได้คะแนนรวมคาบเส้น สองในสี่ดัชนีชี้วัดสอบตก รวมทั้งความเป็นมืออาชีพด้วย

นั่นเป็นผลจากการสำรวจในปี 2553 ผมไม่ทราบว่าจะมีการเสนอผลสำรวจ-วิจัยในปี 2554 หรือไม่ แต่โดยความรู้สึกส่วนตัว ผมเห็นว่า ความบกพร่องหลักๆ ของสื่อไทยที่เป็นมาหลายสิบปีแล้ว ก็ยังดำรงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงในปีนี้

1.งานวิจัยของกลุ่ม อ.อุบลรัตน์ชี้ให้เห็นว่า จำนวนของสื่อประเภทต่างๆ ในประเทศไทยใน พ.ศ.2553 นั้นมีมากทีเดียว เรามีวิทยุกระแสหลักอยู่ 524 สถานี วิทยุชุมชนอีกเกือบ 8,000 สถานี เรามีฟรีทีวี 6 ช่อง โทรทัศน์ดาวเทียม 30 ช่อง (ปัจจุบันมีมากกว่านั้นขึ้นไปอีกเท่าตัว) เคเบิลทีวีอีก 800 ช่อง มีสื่อสิ่งพิมพ์ 80 ฉบับ แบ่งเป็นท้องถิ่น, ระดับชาติ และภาษามลายูกับจีน มีผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต 36 ราย ทั้งผ่านสายโทรศัพท์และไม่ผ่าน

ก็ไม่น้อยเลยนะครับ แต่งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าสื่อไทยละเลยความพยายามที่จะเข้าถึงกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น มีคนเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์ ประชากรเพียงร้อยละ 20-22 เท่านั้นที่เข้าถึงสื่ออินเตอร์เน็ต แม้แต่สื่อวิทยุ ก็มีประชากรไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงได้ (ด้วยสาเหตุต่างๆ ที่ไม่ใช่เพราะไม่มีเงินซื้อวิทยุ) สื่อที่ประชากรเกือบจะถ้วนหน้าสามารถเข้าถึงได้คือฟรีทีวี ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมอย่างรัดกุมของรัฐและทุน

ปัญหาที่คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง (และไม่เข้าถึง) สื่อนี้ คงมีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่ด้วย ซึ่งแก้ไม่ได้ง่ายนัก เท่าที่ผมมองเห็นมีสองอย่างคือ

 

ประการแรก การเมือง, การปกครอง และเศรษฐกิจไทย กระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง ข่าวคราวของท้องถิ่นจึงไม่มีความหมายแก่คนส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับข่าวส่วนกลางก็ไม่มีความหมายแก่คนอีกมากที่มองไม่เห็นว่าจะกระทบต่อชีวิตของตนอย่างไร ยิ่งการเสนอข่าวเป็นลักษณะเสนอปรากฏการณ์เพียงอย่างเดียว ก็ยิ่งยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจนัยยะประวัติของข่าวนั้นต่อชีวิตของตน

ประการที่สองก็คือ สื่อกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ไปแล้ว ภารกิจหลักคือการ "ขาย" ให้ได้ (ทั้งผู้ซื้อและโฆษณา) คุณค่าเชิงธุรกิจ (ขายสินค้าด้วยต้นทุนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้) จึงมาก่อน สื่อที่ราคาถูกและทุกคนเข้าถึงได้ง่ายคือสื่ออินเตอร์เน็ต แต่สื่อประเภทนี้เสียอีกที่ถูกกีดกันหวงห้ามค่อนข้างมากจากรัฐ กระทรวงไอซีทีนั้นตั้งขึ้นเพื่อกำกับควบคุมการสื่อสารระหว่างประชาชน มากเสียยิ่งกว่าป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ต หรือกำกับ (regulate) ให้เกิดระเบียบที่ไม่ทำลายเสรีภาพของใคร วิสัยทัศน์ของรัฐมนตรีคนใหม่ในรัฐบาลชุดปัจจุบันต่อเรื่องนี้ เลวร้ายไม่น้อยไปกว่ารัฐบาลอื่นๆ ที่ผ่านมา

 

ดังนั้นแทนที่สื่ออินเตอร์เน็ตซึ่งในหลายสังคมกำลังกลายเป็นสื่อกระแสหลักไปแล้ว จะสามารถพยุงให้มาตรฐานของสื่ออื่นดีขึ้น จึงมีผลน้อยมากในสังคมไทย

2.อำนาจรัฐไม่ได้จำกัดการฉ้อฉลอยู่แต่สื่อใหม่ทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น แต่รวมไปถึงสื่อกระแสหลักต่างๆ ด้วย สมัย?ก่อนรัฐคุกคามสื่อโดยตรง แต่จะทำเช่นนั้นอย่างเปิดเผยในปัจจุบันไม่ได้เสียแล้ว แต่นักการเมืองจะอาศัยหรือสร้างสายสัมพันธ์ "พิเศษ" กับนักข่าวหรือแม้แต่เจ้าของสื่อ เพื่อกำกับควบคุมข่าว และทำได้ในระดับหนึ่ง (ไม่ถึง 100%) ที่มีพลังมากกว่านั้นก็คือการใช้งบโฆษณาของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ (ซึ่งในปัจจุบันมีมูลค่ามหาศาล) ในการกำกับควบคุมสื่อ

ร้ายไปกว่านั้น เนื้อหาของการโฆษณากลายเป็นโฆษณานักการเมืองที่ควบคุมกระทรวงนั้นๆ หรือพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาล แทนที่จะเป็นการประชาสัมพันธ์ที่จะให้ประโยชน์แก่ประชาชน เช่นสิทธิที่พึงได้จากอุบัติภัยใหญ่ หรือการส่งลูกเข้าเรียน สิทธิการยกเว้นภาษี ฯลฯ เป็นต้น งบจำนวนนี้จะกระจายไปยังสื่อที่เป็นมิตร และใช้ลงโทษสื่อที่ถูกมองว่าไม่เป็นมิตร

 

ฉะนั้นโดยผ่านงบโฆษณา รัฐก็สามารถคุมแนวทางของสื่อได้ระดับหนึ่ง โดยไม่ต้องไปทุบแท่นพิมพ์, หรือสั่งปิดโรงพิมพ์

ที่อันตรายมากคือโฆษณาของรัฐวิสาหกิจ เพราะจะออกมาในรูปของโฆษณาแฝงในข่าว หรือรายการ-คอลัมน์ โดยผู้รับสื่ออาจไม่รู้ตัวเลย บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ซึ่งคุมเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ในประเทศไทย ควรถูกตรวจสอบอย่างละเอียดในทุกเรื่อง แต่สังคมกลับถูกมอมเมาด้วยโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติของบริษัท ซึ่งกระจายไปยังสื่อต่างๆ เสียจนไม่มีใครอยากเข้าไปตรวจสอบ เนื่องจากเป็นงบโฆษณาที่ใหญ่มากเกินกว่าจะชวดไปง่ายๆ

ในกรณีที่เป็นนโยบายสาธารณะซึ่งควรที่สังคมจะได้พิจารณาและอภิปรายกันอย่างรอบด้าน เช่นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องอาจเสนอรายการทีวี หรือคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ ที่สนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยไม่เปิดให้ผู้รับสื่อได้รับข้อมูลรอบด้าน

 

ทีวีทุกช่อง (รวมทั้งที่เรียกว่าทีวีสาธารณะด้วย) เสนอรายการแบบนี้ โดยไม่เตือนผู้ชมให้รู้ว่านี่เป็นการโฆษณา หรือนำเสนอมุมมองของฝ่ายตรงข้าม นโยบายสาธารณะที่ใหญ่ขนาดนี้ ถูกอำนาจของงบโฆษณาทำให้กลายเป็นทางเลือกที่สังคมไม่ต้องพิจารณาใคร่ครวญเลย

ผมอยากพูดเลยมาถึงการสร้างญัตติสาธารณะด้วย ฝ่ายที่มีกำลังทางเศรษฐกิจสูงจะอาศัยสื่อในการสร้างญัตติสาธารณะที่เอื้อต่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว โดยฝ่ายอื่นไม่มีพื้นที่ในสื่อสำหรับต่อรองอย่างเพียงพอ

 

ขอยกตัวอย่างเรื่องน้ำท่วมครั้งนี้ ฝ่ายที่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยได้เป็นกอบเป็นกำมหึมา โดยไม่ต้องขึ้นศาลหรือประท้วงปิดถนนที่ไหนสักแห่ง คือธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งมีทั้งสภา, มหาวิทยาลัย, นักวิชาการ, และฝ่ายโฆษณาที่มีประสิทธิภาพ ออกมาจับจองพื้นที่สื่อ เพื่อชี้ให้เห็นว่าความเสียหายของเขาคือความเสียหายของชาติ ฉะนั้นต้องชดเชยเขาในรูปยกเว้นภาษี, ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, สร้างโครงสร้างพื้นฐานป้องกันเขา (ไม่ได้ยินใครเรียกร้องให้สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ป้องกันหรือบรรเทาน้ำท่วมอย่างทั่วหน้า มีแต่จะเอาของกูให้รอดคนเดียวเสมอ) ฯลฯ จนดูเหมือนสื่อจะลืมแม่ค้าริมถนนไปแล้ว นอกจากเอามาเสนอในฉากข่าวเชิงละครให้สะเทือนใจกันเป็นกระสาย

คุณ "ใบตองแห้ง" เสนอทางแก้งบโฆษณาจากภาครัฐว่า ต้องกำหนดระเบียบให้เปิดเผยการจ้างทำสื่อของหน่วยราชการ (และรัฐวิสาหกิจ) ว่าใช้ไปเท่าไร กับใคร เรื่องอะไร เพื่อให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบและซักถามได้

ผมก็เห็นด้วยนะครับ ในขณะเดียวกันก็อยากเสนอเพิ่มเติมว่า การมีสำนักงานมอนิเตอร์สื่อของฝ่ายประชาชนบ้างก็จะดี แต่ทำให้มีประสิทธิภาพกว่าที่มีอยู่ในเวลานี้ คือสามารถล้วงลึกลงไปได้มากกว่านั่งนับประเภทข่าว แล้วก็สรุปเอาเองอย่างง่ายๆ โดยไม่สนใจเบื้องหลังเอาเลย จะเอาเงินมาจากไหน นอกจากองค์กรประเภท สสส.แล้ว ยังมี กสทช.ซึ่งสามารถให้เงินอุดหนุนเอกชนทำอย่างมีประสิทธิภาพก็ได้

ภัยคุกคามสื่อที่สังคมควรระวังในปัจจุบัน คือการกำกับควบคุมสื่อโดยรัฐและทุน ผ่านงบโฆษณานี่แหละครับ นี่เป็นเรื่องใหญ่เสียจนข้อเสนอทั้งของคุณ "ใบตองแห้ง" และผม คงไม่พอจะจัดการกับมันได้หรอกครับ ตราบเท่าที่สังคมไทยยังไม่ยี่หระต่อสิทธิในการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง และสิทธิในการไม่ถูกหลอก จะมีใครทำอะไรเพื่อกระตุ้นสำนึกต่อสิทธิเหล่านี้ไปด้วยก็ยิ่งดี

3.ความสัมพันธ์ระหว่างนักข่าวและเจ้าของสื่อก็มีปัญหาเหมือนกัน อำนาจของเจ้าของสื่อในการกำหนดเนื้อหามีอยู่สูง จนกระทั่งคนทำสื่อเองไม่ได้มีเสรีภาพจะเสนอความจริงที่ตัวค้นพบได้อย่างอิสระ ในภาพรวม ปัญหานี้อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเจ้าของสื่อจำเป็นต้องแข่งขันทางธุรกิจ หากจำกัดเสรีภาพของนักข่าวมากเกินไป ผลิตภัณฑ์ของตนอาจจืดชืดจนไม่มีผู้ซื้อได้ แต่ในระยะยาว เจ้าของสื่ออาจไปพัวพันกับนักการเมือง เสียจนกระทั่งสื่อขาดความเป็นกลาง ดังที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ

ทางออกน่าจะเพิ่มอำนาจต่อรอง (ที่บริสุทธิ์ยุติธรรม) ของคนทำสื่อกับเจ้าของ เช่นการตั้งสหภาพซึ่งไม่ใช่ดูแลแต่เพียงผลตอบแทนและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องดูแลไปถึงจุดยืนด้านเสรีภาพอีกด้วย เรื่องนี้ก็น่าประหลาดนะครับ เพราะสื่อหนังสือพิมพ์ที่มีสหภาพของตัวมีอยู่ฉบับเดียว เป็นภาษาอังกฤษที่เดิมเป็นของฝรั่ง ส่วนทีวีก็มีเฉพาะช่องเดียวที่เป็นทีวีซึ่งรัฐถือหุ้นใหญ่

4.ทางด้านเนื้อหา สื่อไทยยังสนใจเสนอข่าวระดับปรากฏการณ์เท่านั้น ไม่ยอมลงทุนเจาะข่าวให้ลึกไปถึงความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนของตัวละครในข่าว หรือระบบที่อยู่เบื้องหลังความไม่ชอบมาพากลต่างๆ จริงๆ แล้วเบื้องหลังการตีปิงปองนั้น มันมีเหตุมีผลที่เข้าใจได้ทั้งนั้น แต่เมื่อสื่อไม่เจาะไปถึง ผู้รับสื่อจึงมองเห็นแต่ความไม่เป็นโล้เป็นพายของนักการเมือง หรือบุคคลสาธารณะต่างๆ ในขณะเดียวกันก็สิ้นอำนาจที่จะไปจัดการแก้ไขปรับปรุงอะไรให้ดีขึ้น

 

ชีวิตสาธารณะของคนไทยจึงมีแต่เรื่องหมากัดกัน


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1325492814&grpid=no&catid=02&subcatid=0207

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น