กทม.ในฝัน สร้างเมืองใต้ดิน
updated: 28 พ.ค. 2555 เวลา 16:20:32 น.
งาน "ประชุมอุโมงค์โลก 2012" ที่เกิดจากความร่วมมือของคณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมอุโมงค์และพื้นที่ใต้ดินนานาชาติ (ITA-AITES) เพิ่งจบลงเมื่อวันที่ 18-23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ฟังแค่ชื่ออาจเป็นเรื่องไกลตัว
แต่ผู้จัดตั้งเป้าให้งานนี้ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงรัฐบาลตื่นตัวลงทุน "อุโมงค์" และ "งานก่อสร้างใต้ดิน" เพราะเห็นข้อดีหลายอย่าง เช่น ลดความแออัดของเมือง บรรเทาปัญหาจราจร ป้องกันน้ำท่วม ฯลฯ
3 คีย์แมนของงาน "รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" ประธานคณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ ภายใต้ วสท.และประธานจัดงานประชุมอุโมงค์โลก 2012 "โอลิเวียร์ วิออง" กรรมการบริหารสมาคมอุโมงค์และพื้นที่ใต้ดินนานาชาติ และ "ดร.ฮาราลด์ วากเนอร์" ผู้เชี่ยวชาญสมาคมอุโมงค์และพื้นที่ใต้ดินนานาชาติ ร่วมกันสะท้อนมุมมองว่า หลายประเทศตื่นตัวกับการใช้พื้นที่ใต้ดิน
เช่น ญี่ปุ่นได้สร้างพื้นที่ใต้ดินเพื่อใช้กักเก็บน้ำหรือขนส่งสินค้า, เมืองกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ได้เริ่มสร้างอุโมงค์ใต้ดินกว้างกว่า 10 เมตร เพื่อใช้เป็นถนนและอุโมงค์ระบายน้ำในช่วงฝนตกหนักหรือน้ำท่วม,
ยุโรปพัฒนาเมืองและวางผังเมืองใต้ดิน
ข้อเสนอถึงมหานครกรุงเทพ
บทสรุปประชุมอุโมงค์โลก 2012 หากจะให้ไทยเป็นเมืองยั่งยืนฟื้นตัวเร็วจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง มี 2 ข้อเสนอที่อยากให้รัฐบาลเริ่มทำก่อนคือ 1) อุโมงค์รวมสาธารณูปโภคในพื้นที่กรุงเทพฯ และ 2) ระบบอุโมงค์ป้องกันน้ำท่วม อุโมงค์รวมสาธารณูปโภค ช่วยจัดระเบียบสาธารณูปโภคใต้ดิน ลดความซ้ำซ้อนแบบต่างคนต่างทำ ยืดอายุการใช้งาน เช่น สายไฟ ท่อประปา สายไฟเบอร์ออปติก ฯลฯ จะถูกเก็บรวมไว้ในท่อภายในอุโมงค์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เมตร และยังช่วยให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น
อาจเริ่มจากถนนสำคัญ ๆ ก่อน เช่น ถนนรัชดาภิเษก วิภาวดี พระรามที่ 4 และขยายไปยังถนนสายอื่น ๆ รวมแล้วประเมินว่าในกรุงเทพฯต้องการระบบท่อรวมสาธารณูปโภคประมาณ 100 กิโลเมตร ใช้งบฯก่อสร้างไม่เกินกิโลเมตรละ 300-400 ล้านบาท หรือรวมแล้ว 30,000-40,000 ล้านบาท ส่วนเรื่องความเสียหายหากเกิดแผ่นดินไหวหรือน้ำท่วม ยืนยันว่าไม่มีปัญหา เพราะระบบอุโมงค์ที่อยู่ลึกลงไปในดิน 10 เมตร ค่อนข้างปลอดภัยจากแผ่นดินไหวกว่าอาคารที่ปลูกสร้างบนดิน
แนวคิด ป้องกันน้ำท่วมใต้ดิน
ขณะเดียวกัน เสนอให้รัฐบาลลงทุนระบบอุโมงค์ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร แนวอุโมงค์เริ่มต้นจากอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อระบายน้ำจากเจ้าพระยาลงทะเล
ประเมินว่าจะใช้งบฯลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท แต่สามารถใช้งานได้เป็น 100 ปี และสามารถออกแบบเป็นอุโมงค์ 2 ชั้น ชั้นบนให้รถวิ่ง ชั้นล่างเป็นทางระบายน้ำ
อุโมงค์ใต้ดินมีข้อดีคือไม่ต้องเวนคืนที่ดิน สามารถกำหนดความลาดชันควบคุมการไหลของน้ำได้ง่ายกว่าสร้างทางระบายน้ำบนดิน เรื่องนี้เคยสะท้อนความเห็นถึงรัฐบาลแล้วแต่ยังเงียบ ๆ อยู่
บทสรุปการประชุมอุโมงค์โลกยังได้นำเสนอไอเดียการสร้างระบบขนส่งสินค้าอัตโนมัติใต้ดิน ทดแทนการใช้รถขนขยะ ลดมลพิษและปัญหาจราจร ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงไอเดียล้ำสมัยการสร้างระบบลำเลียงขยะใต้ดิน สามารถหย่อนถุงขยะจากหน้าบ้านลงใต้ดินลำเลียงจากใต้ดินไปยังตู้คอนเทนเนอร์ และมีรถขนส่งไปยังโรงกำจัดขยะ
สิ่งเหล่านี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในทันที จำเป็นต้องสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน และปลูกฝังให้เห็นความสำคัญตั้งแต่เด็ก
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1338196507&grpid=&catid=07&subcatid=