ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"

ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ร่วมลงนาม ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ มั่นคงภายใน - กฎอัยการศึก - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

"ชัยวัฒน์ สถาอานันท์" แนะมธ.อย่าหนีปัญหา จี้เปิด "พื้นที่ปลอดภัยสำหรับความเห็นต่าง" ให้สังคมไทย



"ชัยวัฒน์ สถาอานันท์" แนะมธ.อย่าหนีปัญหา จี้เปิด "พื้นที่ปลอดภัยสำหรับความเห็นต่าง" ให้สังคมไทย

วันที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555   เวลา  21:00:00
มติชนออนไลน์

สัมภาษณ์ : พันธวิศย์ เทพจันทร์

 

วันนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกตั้งคำถามเรื่อง เสรีภาพทุกตารางนิ้ว ?

 

ธรรมศาสตร์ หลีกเลี่ยงความรุนแรง จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ?

 

สังคมไทยจะก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้อย่างไร ?

 

หรือ เราจะต้องเกิด 6 ตุลาคม 2519 ซ้ำรอย อีกครั้ง?

 

"มติชนออนไลน์" สนทนากับ "นักสันติวิธี" รุ่นใหญ่

 

"ชัยวัฒน์ สถาอานันท์" หัวหน้าภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

 

................................

 

 

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควรมีบทบาทอย่างไรในสภาวะทางสังคมที่มีความขัดแย้งสูงขึ้นและชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ


เรื่องใหญ่ก็คือตอนนี้สังคมไทยต้องการอะไร ความขัดแย้งทั้งหลายรูปแบบตั้งแต่ในภาคเหนือถึงภาคใต้ ปัญหาน้ำท่วม แม้แต่เรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112  ทั้งหมดเนื้อหาจะต่างกันก็จริงแต่มีประเด็นที่คล้ายกันอยู่ก็คือ มันมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับพื้นที่ที่สังคมให้สำหรับความขัดแย้ง ถ้าพูดตามหลักทฤษฎีก็คือ เวลาความขัดแย้งกลายเป็นความรุนแรง นั่นก็เพราะพื้นที่ที่จะให้คนแสดงออกทางความคิดที่ต่างกันนั้นมีน้อยเกินไป เพราะฉะนั้นยิ่งเปิดพื้นที่ให้คนแสดงออกทางความคิดที่แตกต่างหลากหลายมากเท่าไรโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงจะลดลงมากเท่านั้น  
 

แต่เวลาที่คนรู้สึกถูกปิดกั้น ห้ามพูดถึงความรู้สึกในใจของตัวเอง ความรู้สึกคับข้องใจ ความโกรธ อาจถูกพัฒนาไปเป็นความรุนแรงได้  ด้วยเหตุนี้ในที่ต่าง ๆ  ทั่วโลกเวลาเกิดความรุนแรงมักจะจัดการกับปัญหานี้ด้วยหลักประชาธิปไตย เช่น เหตุการณ์วัยรุ่นคนหนึ่งยิงกราดเยาวชนในนอร์เวย์เพราะเรื่องความคิดเห็นต่างทางการเมือง  วิธีการต่อสู้ของเขาคือเอาหลักประชาธิปไตยใส่กลับเข้าไป  ใช้พื้นที่ประชาธิปไตยเพื่อเปิดกว้างสิ่งที่แต่ละคนเสนอความคิดเห็น ลดความเครียดและโอกาสที่จะเกิดความรุนแรง 
 

แต่การทำแค่นั้นในบริบทของสังคมไทยคงไม่พอแล้ว ผมคิดว่าสิ่งจำเป็นที่สังคมไทยต้องการในขณะนี้คือสิ่งที่ผมเรียกว่ามันต้องการพื้นที่ปลอดภัย

 

สำหรับความเห็นที่ต่างที่แท้จริง  ในสังคมการเมืองนั้นมีความเห็นที่หลากหลายและแตกต่างโดยปกติ แล้วความเห็นที่แตกต่างในระดับทั่วไปก็อยู่ในพื้นที่ปกติได้   แต่พอมีความเห็นที่ต่างในประเด็นที่แหลมคม อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่ชัดเจนขึ้น คำถามคือสังคมควรเปิดพื้นที่ให้กับตัวแทนของคนที่มีประเด็นแหลมขนาดนั้นไหม มันก็ต่อสู้กันทางความคิด บางคนก็บอกไม่ควร บางคนก็บอกว่าควรในนามของสิทธิเสรีภาพ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่อยู่ในใจของแต่ละคนอาจปะทุไปเป็นความรุนแรงได้นั้น วันนี้สังคมไทยมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับ

 

ความคิดเห็นที่แหลมคมออกไป แต่การเปิดพื้นที่เพื่อให้พูดคุยในประเด็นที่แหลมคมอาจจะยังต่างกับการเปิดพื้นที่เพื่อให้มีกิจกรรมทางการเมืองในประเด็นที่แหลมคม
 

เหล่านี้ มธ. ควรทำหน้าที่แรกแต่ไม่จำเป็นต้องทำในหน้าที่อย่างหลัง หน้าที่ของมธ. คือเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับความเห็นที่แปลกใหม่ แตกต่าง หลากหลายในสังคม การทำอย่างนี้จะป้องกันไม่ให้ความเห็นเหล่านี้ถูกลับจนคมกระทั่งกลายเป็นความรุนแรง เพราะมันต้องมาต่อสู้กันในบริบทของมหาวิทยาลัย

 


-ทำไมต้องเป็นมหาวิทยาลัยในการรับหน้าที่ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่สังคม
 

ผมคิดว่าเพราะมหาวิทยาลัยมีกฎเกณฑ์ในตัวเอง มีกฎเกณฑ์ในการแลกเปลี่ยน มีกรอบของมหาวิทยาลัย มีปฏิบัติการทางวิวาทะของมหาวิทยาลัยคอยกำหนดอยู่  ในมหาวิทยาลัยมีมรรยาทบางอย่างอยู่ หลักในการตัดสินเรื่องของการแลกเปลี่ยนกันภายในมหาวิทยาลัยนั้น นอกเหนือจากความเข้าใจว่าเราเป็นนักวิชาการด้วยกัน พูดกันด้วยภาษาวิชาการแล้ว มันต้องมีหลักฐาน หลักการ เหตุผล ซึ่งต้องใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการวิพากษ์วิจารณ์กัน ไม่ใช่ว่าคุณเข้ามาใน

มหาวิทยาลัยนั่งลงแล้วหยิบปืนหรือไม้หน้าสามขึ้นมาวาง หรือเข้ามาแล้วเผาหุ่นเผาฟาง ในมหาวิทยาลัยไม่ทำกันแบบนี้เพราะเป็นสถานที่ที่นั่งลงแล้วแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เขาจะไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงก็ได้ ไม่เป็นปัญหา ซึ่งมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันอาจจะต้องทำสิ่งเหล่านี้ และตัวมันเองก็จะควบคุมไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น

 

-อธิการบดี มธ. บอกว่า อาจจะควบคุมความขัดแย้งไม่นำไปสู่ความรุนแรงไม่ได้
 

ผู้บริหารก็ตัดสินใจบนความคิดที่เขามีแต่มหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบต่อสังคมในความหมายนี้ด้วย ไม่อยากให้คำนึงว่าควบคุมได้หรือไม่  แต่ควรอธิบายว่า ตราบเท่าที่เป็นการแลกเปลี่ยนกันทางวิชาการ ไม่ว่าประเด็นจะแรงแค่ไหน เป็นเรื่องอะไรก็สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ทางการเมือง สองเรื่องนี้ต้องแยกออกจากกัน เพราะมหาวิทยาลัยอาจมีเหตุผลที่จะไม่อนุญาตให้มีการรณรงค์ทางการเมืองได้ แต่ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็มีพันธกิจที่จะต้องรักษาพื้นที่สำหรับบทสนทนาอันแหลมคม ทั้งในฐานะของมหาวิทยาลัยเองและความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองประเทศชาติ

 

 

-ทำไมต้องเป็น มธ.

 

มธ.มีหลายสิ่งที่สำคัญกับมัน อย่างแรกคือ หลักการซึ่งเป็นฐานของมธ. คนที่เดินเข้ามาในมธ. คนที่สูดลมหายใจของมธ. มักจะถูกบอกว่าอยู่ในนามของเสรีภาพ ความดีงาม ความถูกต้อง ความยุติธรรม สัญลักษณ์มันเป็นแบบนั้น มธ.เป็นแบบนั้นมาตั้งแต่ท่านผู้ประศาสน์การ อธิการบดียุคต่างๆ ก็พยายามจะทำให้เสรีภาพมีทุกตารางนิ้ว หรือแม้แต่ประชาคมธรรมศาสตร์เองก็เป็นแบบนี้ ดังนั้นมธ. ก็ควรเป็นตัวแทนยืนอยู่บนฐานของความถูกต้อง แล้วในหน้าประวัติศาสตร์ทุกครั้งที่มธ. ยืนแบบนั้นจะเกิดปัญหามาตลอด แต่มันก็ยังยืนต้านลมต้านฝนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสัญลักษณ์ ที่สอน ๆ กันมา ซึ่งผมคิดว่ามันจริงมากกว่าที่จะเป็นสัญลักษณ์ ทุกคนก็พยายามที่จะทำสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นมธ. จึงมีพันธกิจนี้มาตั้งแต่ก่อตั้ง แล้วถูกถ่ายทอดสะสมมาจากรุ่นสู่รุ่น จากประสบการณ์ทางการเมืองที่มี

บางประสบการณ์น่าสลด อันตราย อย่าง 6 ตุลาคม 2519  ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เพราะมธ. มีประสบการณ์แบบนั้น มธ.จึงมีพันธกิจที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย 
 

สมมติว่า ถ้าสังคมไม่มีใครยืนขึ้นแล้วบอกว่ามีพื้นที่ปลอดภัยให้สำหรับคนที่เห็นต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคมนะ  มีพื้นที่สำหรับคนที่คิดต่างไปเลยจากกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างกรณีปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  ปัญหาเหล่านี้จะไม่มีวันหมดไปหากไม่ให้พื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้แสดงความคิดเห็นหรือพูดถึงปัญหาออกมา  สังคมจะแก้ปัญหาให้คนในสังคมได้อย่างไรหากคนในสังคมนั้นไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดถึงปัญหาของตัวเอง
 
-แล้ว มธ. เอง จะควบคุมความขัดแย้งไม่ให้นำสู่ความรุนแรงได้ไหม
 

ถ้าคิดจากพันธกิจของมธ. แล้ว คิดจากประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สังคมก็จะนึกว่า มธ. มีบทบาทที่จะนำความขัดแย้งระดับใหญ่ไปสู่ความรุนแรงเพียงอย่างเดียว  ถ้าหาก มธ. คิดว่า ประเด็นแหลมคมเหล่านั้นสำคัญแต่ไม่ควรให้คนกลุ่มหนึ่งมาใช้พื้นที่ของ มธ. ในการจัดเวทีเสวนา เหตุนี้ทำไม มธ. ไม่จัดเองเสียเลย ทำไมต้องให้นิติราษฎร์ 
 

ถ้ากลัวว่าจะคุมคนกลุ่มหนึ่งไม่ได้นั้น มธ. ก็ควรจะเป็นแม่งานเสียเอง  ประวัติศาสตร์ของเราก็เคยมี เช่น เมื่อ 6 พฤศจิกายน  2515 มีสัมมนาวิชาการครั้งใหญ่ที่ มธ.  ชื่อ "สังคมนิยมไทยในสังคมไทย" ความสำคัญของการสัมมนานั้น ข้อแรกสถาบันที่จัดสัมมนานี้คือสถาบันไทยคดีศึกษา มีท่านผู้หญิง พ.อ.หญิง ดร. นิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นผู้อำนวยการ สถาบันไทยคดีศึกษาก่อตั้งโดยม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช ตอนนั้น มี ศ.ดร. สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นอธิการบดีมธ. คนเหล่านี้คงเห็นชัดว่าท่านมาจากไหน ภูมิหลังเป็นใคร สิ่งที่ท่านเป็นยืนอยู่กับหลักการด้านไหน  แล้วสิ่งที่ท่านเหล่านี้ทำก็คือให้จัดงานสัมมนาใหญ่ขนาดนี้ คนที่มาพูดในงานนั้นคือ ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช,  ดร. อัมมาร สยามวาลา, เสน่ห์ จามริก, เกษม ศิริสัมพันธ์ ซึ่งตอนนั้นทุกท่านเป็นผู้ใหญ่ทางการเมือง ต่างก็มีประเด็นของตัวเองและมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน และพูดเรื่องสังคมนิยมในสังคมไทยตอนปลายปี 2515  แน่นอนบริบทสังคมไทยตอนนั้นคือการต่อต้านคอมมิวนิสต์และลัทธิสังคมนิยม
 

ประเด็นที่สองก็คือบริบทของการสัมมนาที่พูดคือ เรื่องสงครามเวียดนาม พูดถึงความเสี่ยงของสังคมไทยที่ทฤษฎีโดมิโนกำลังแพร่กระจาย ซึ่งขณะนั้นการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์รุนแรงมาก และที่สำคัญคือบริบททางกฎหมายเพราะว่าประเทศไทยขณะนั้นอยู่ภายใต้ของพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 2495  ซึ่งมาตรา 3 ได้นิยามคอมมิวนิสต์ไว้หลายข้อ ข้อหนึ่งคือให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยทำให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือปัจจัยในการผลิตของเอกชนตกเป็นของรัฐ โดยมิได้มีการทดแทนค่าชดเชยโดยเป็นธรรม เพราะฉะนั้นใครมาพูดเรื่องสังคมใด ๆ ก็ตกเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งนั้น ต่อมาก็มีคำอธิบายที่ใกล้ ๆ กันคือ สังคมนิยมทุกชนิดเป็นคอมมิวนิสต์ แต่มธ. โดยสถาบัน โดยชื่อของคนเหล่านั้น โดยผู้บริหารเหล่านั้นก็จัดให้มีสัมมนาใหญ่ขึ้นที่มธ. ได้ ที่สำคัญที่สุดคือวันนั้นในหลวงเสด็จพระราชดำเนินมาฟังด้วยพระองค์เองจนจบและประชาชนที่สนใจก็มาจนเต็มไปหมด นี้เป็นมรดกเป็นประวัติศาสตร์ของมธ.  อย่างหนึ่งและเป็นทางออกอย่างหนึ่งที่มธ. ทำได้ในแง่ของวิชาการครับ ไม่ใช่ผลักออกไป

 


-ช่วงเวลานั้น มธ. ถูกกล่าวหาว่าเป็นมหาวิทยาลัยคอมมิวนิสต์ 
 

คนที่ไม่ชอบมีทั้งนั้นในสิ่งต่าง ๆ  แต่ความสำคัญคือผู้บริหารมหาวิทยาลัย  ผู้บริหารสถาบัน นักวิชาการของมธ. ก็มีหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อสังคม  ถึงแม้มีคนไม่ชอบแต่มธ. ก็ตัดสินใจสร้างพื้นที่ปลอดภัย เป็นผลดีในหลายลักษณะ นี่คือเป็นประเพณีของ มธ. ที่เคยทำกันมา 
 

คำถามที่โยนกลับไปว่าวันนี้ มธ.ควรทำสิ่งเหล่านั้นหรือไม่  ตั้งแต่ 2515 จนถึงปัจจุบันมธ.เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ผมคิดว่าพันธกิจของมธ. ประวัติศาสตร์ของ มธ.เอง  ปัญหาของสังคมไทยที่เผชิญอยู่ มธ. จะลอยตัวอยู่เหนือปัญหาอย่างเดียวก็ไม่ได้ จะเอาตัวรอดอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันก็เข้าใจว่ามันมีความเสี่ยงและบางเรื่องที่ต้องระวัง คนวิพากษ์วิจารณ์กันทั่ว สังคมก็แตกแยก ในท่ามกลางกระแสเหล่านี้มธ. จะช่วยเหลือสังคมด้วยวิธีการใดบ้าง รักษาความเป็นธรรมศาสตร์ และสอดคล้องกับประเพณีของมธ. ซึ่งได้ยกตัวอย่างไปแล้ว และคิดว่าเราน่าจะทำได้

 

-ถ้าพื้นที่ปลอดภัยทับซ้อนกับพื้นที่ที่ใช้เคลื่อนไหวทางการเมืองล่ะ


อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวัง และเป็นเรื่องจะเป็นที่จะทำยังไงให้เข้าใจความขัดแย้งที่มีอยู่ ทำยังไงถึงจะป้องกันมหาวิทยาลัยได้ ใครๆ ก็ไม่อยากให้เกิด 6 ตุลาคม 2519 ซ้ำขึ้นอีก แต่ในทางกลับกันถ้าไม่มีพื้นที่ปลอดภัยเลย สถานการณ์แบบ 6 ตุลานั้น หรือสถานการณ์ที่คนฆ่ากันด้วยความเกลียดชังก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในที่อื่นๆ  ความรุนแรงที่เกิดในสังคมไทยไม่ว่าที่ไหนก็เสียใจทั้งนั้น เพราะฉะนั้น มธ.มีหน้าที่ไหมที่ต้องทำ มธ. สามารถทำได้ไหมนั้นเป็นคำถามที่มธ. ต้องถามตัวเอง ครับ


-ถ้าจะให้ออกแบบโมเดลการคุยเรื่องที่แหลมคมควรแบบไหนอย่างไร นอกจากให้มธ. เป็นแม่งาน

 

หนึ่งหลักการของการจัดงานประเภทแบบนี้ต้องอยู่บนฐานของต้องมีทุกฝ่าย การบอกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยไม่ใช่เอาคนที่คิดเหมือนกันมานั่งแล้วพูดซ้ำ ๆ ซ้อน ๆ กันหรือไปในทางเดียวกัน แต่ต้องให้พื้นที่กับคนที่คิดต่างกันจริง  ๆ มานั่งด้วยแล้วคุยกัน สนทนากันบนพื้นที่ของมธ. ดังนั้นหลักการคือรวบความคิดที่แตกต่างจริง ๆ เข้ามาด้วยกัน  ซึ่งนั่นจะกลายเป็นแนวทางว่า มธ. ควรจะเชิญใครมาเป็นผู้บรรยาย
 

สองคือจะต้องตระหนักว่าขณะนี้มีสภาพของความขัดแย้งสูงในสังคมไทย เพราะฉะนั้นก็อาจจะต้องมีพื้นที่ปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องใหญ่โตจุคนเป็นแสน แล้วกฎเกณฑ์ของการเข้ามาใน มธ. ก็ต้องพูดกันให้ชัดถึงกฎเกณฑ์ว่า ยังมีความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่รุนแรงอยู่  ในบางเรื่อง มธ.อาจจะไม่ต้องทำแบบนี้ แต่ในเรื่องที่แหลมคม บางคนเชื่อว่ามันสำคัญต่อชีวิตเขา มธ. ก็ต้องเคารพความรู้สึกถึงความสำคัญนั้น ในขณะเดียวกันเสรีภาพ ความเสมอภาค ก็สำคัญมากสำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่งเหมือนกัน แล้วสังคมไทยก็เดินมาถึงจุดนี้แล้ว ดังนั้นก็ต้องคิดเวลาจะจัดงานแบบนี้

 

-พาดหัวข่าวในสื่อหนังสือพิมพ์ยุคปัจจุบันไม่ได้นำไปสู่การคุยกันด้วยสันติวิธีจะสะท้อนอย่างไร
 

มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจต่อกระบวนการสื่อสารมวลชนคือ วันนี้ไม่เหมือนเหตุการณ์ก่อน 6 ตุลาคม 2519 เพราะในตอนนั้นสื่อแบ่งออกเป็นข้างครึ่ง คือข้างหนึ่งก็ชัดเจนว่าอยู่ในระบบเผด็จการ ขณะที่อีกหลายสื่อก็เลือกที่จะเงียบเสีย แต่ปัจจุบันสื่อมีสองข้างชัดเจน 
 

ประเด็นที่สองคือปัจจุบันแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นหลากหลายมากขึ้น แล้วคนในมหาวิทยาลัยก็รับข้อมูลเหล่านี้มาพอสมควร  ถ้ายังสนทนากันได้บนพื้นฐานของมิตรภาพได้นั้นก็เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยควรทำ อีกอย่างของพื้นที่นี้คือมหาวิทยาลัยคงไม่ได้คิดกันว่าใครเป็นศัตรู มันก็คิดว่าประตูเปิดสำหรับการสนทนากันแม้จะเห็นต่างกันโดยเด็ดขาดก็ไม่เป็นไรสามารถคุยกันได้

 

-ในแง่หนึ่งกลุ่มนิติราษฎร์ก็พูดชัดเจนว่า สิ่งที่นิติราษฎร์ทำอยู่ในกรอบของสิทธิ เสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์เองก็ชัดเจนว่า เป็นรัฐราชอาณาจักร แต่ทำไมทุกครั้งกลุ่มคนที่ต่อต้านแนวคิดของนิติราษฎร์ต้องกล่าวหาว่า นิติราษฎร์กำลังล้มเจ้า 
 

คณะนิติราษฎร์มีประเด็นที่ค่อนข้างชัดเจนในหลาย ๆ เรื่อง แต่ปัญหาประการหนึ่งของนิติราษฎร์คือ ข้อเสนอของนิติราษฎร์มีหลายเรื่องอยู่ในหัวข้อเดียวกัน เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่มันยังมีประเด็นอื่น ๆ ด้วย ด้วยเหตุนี้การที่นิติราษฎร์นำเสนอหัวข้อหลากประเด็นปนกันอยู่นั้น มันก็จะออกมาเป็นหีบห่อ ดังนั้นนิติราษฎร์จึงถูกจัดวางในที่ต่าง ๆ ได้ง่าย 
 

โจทย์ของผมตอนนี้คือ สังคมไทยต้องการอะไรและเข้าใจเรื่องอะไร เพื่อหาคำตอบก็ต้องมีกระบวนการคิดริเริ่มคิด เช่น สังคมต้องการพูดถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มหาวิทยาลัยก็ควรแสดงบทบาทเชิญคนที่มาจากมุมต่าง ๆ แน่นอนว่าการจัดงานเสวนาลักษณะนี้ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขหรือไม่แก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่เป้าหมายคือการสร้างความเข้าใจให้แก่สังคม แล้วคนในหลายส่วนที่ต้องการจะทำบางสิ่งแก่สังคมนั้นก็ใช้เวทีนี้อธิบายสิ่งที่ตัวเองต้องการจะทำเพื่อสังคมภายใต้การกำกับของมหาวิทยาลัย แต่หลักสำคัญก็คือ ต้องเชิญบุคคลมาจากหลาย ๆ ฝั่ง หลาย ๆ ความคิดให้มาพูดกัน
 

ประเด็นสำคัญก็คือ ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับความเห็นที่แตกต่างในการพูดประเด็นที่มีความแหลมคม  ไม่ใช่จัดงานแล้วเชิญคนมาเพียงฝั่งเดียว แบบนี้มหาวิทยาลัยก็ถูกกล่าวหาว่าเลือกข้างได้ง่าย วิธีเชิญคนฝ่ายเดียวมาแสดงความเห็นเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ควรทำ

 

-ถ้ามีคนต้องการให้พื้นที่ปลอดภัยไม่ปลอดภัยล่ะ เช่นมีม็อบจัดตั้งหรือมวลชนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเข้ามาในงานเสวนา

 

แน่นอนว่ามันก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยก็ต้องประเมินว่าจะจัดเป็นเวีทีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ แต่ทั้งนี้ถ้ามหาวิทยาลัยเริ่มต้นว่า มันมีปัจจัยความเสี่ยงเยอะในการพูดประเด็นที่แหลมคมมหาวิทยาลัยก็ไม่จัดงานเสวนาในเรื่องนั้น 
 

แต่ถ้าพิจารณาบทบาทของ มธ. ตอนนี้ไม่อยากให้คณะนิติราษฎร์ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยจัด ทางออกของมหาวิทยาลัยจะเป็นอย่างไร  ผมคิดว่า ถ้าเป็นแบบนี้มหาวิทยาลัยก็เป็นคนจัดเองไปเสียเลย โดยเฉพาะในประเด็นที่สำคัญ บนฐานของความเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปลอดภัยสามารถพูดได้ในเรื่องทางวิชาการ ไม่ใช่ไปปิดปากเขาเหมือนสิ่งที่มธ. กำลังทำอยู่

 

-บทบาทของมหาวิทยาลัยคือต้องตอบโจทย์ของสังคมให้ได้ว่าสังคมต้องการอะไร

 

ใช่ มหาวิทยาลัยต้องตอบคำถามนี้ แน่นอนว่าคนจำนวนหนึ่งมาถึงแล้วจะบอกว่า สังคมต้องการความปรองดอง สังคมต้องการความสงบ  แต่ความปรองดองที่ไปกดทับความขัดแย้งนั้นมันไม่เคยเป็นความปรองดองที่แท้จริง ความปรองดองมันอยู่บนฐานของการยอมรับความจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้นในสังคม แล้วนำความจริงเหล่านั้นมาวางอยู่บนเวทีซึ่งมีอารยะแล้วแลกเปลี่ยนกัน แล้วต้องพยายามทำความเข้าใจคนซึ่งคิดต่างจากเราโดนสิ้นเชิงว่าเขาคิดอย่างไรทั้งสองฝ่าย

 

-ความขัดแย้งในสังคมซ่อนอะไรไว้
 

ความขัดแย้งในสังคมตอนนี้ซ่อนอะไรอยู่หลายอย่าง ปัญหาของสังคมไทยตอนนี้มันยากและซับซ้อนเพราะความขัดแย้งมันฝังลึกมากกว่าหนึ่งชั้น เวลานี้คนในสังคมไทยขัดกันแล้ว ตั้งแต่เรื่องของรูปแบบของระบอบการปกครองที่พึงประสงค์ พวกหนึ่งก็ต้องการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องการรัฐบาลที่มีเสียงในสภาจำนวนมาก จะได้บริหารประเทศได้อย่างรวดเร็ว เด็ดขาด อีกพวกหนึ่งก็ต้องการองค์กรบางอย่างคอยทำหน้าที่ควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพราะการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม รูปแบบของรัฐบาลก็เถียงกัน

 

ยังไม่รวมถึงการถกเถียงกันระหว่างกลุ่มคนที่เชื่อว่าการเลือกตั้งคือคำตอบในระบอบประชาธิปไตย อีกพวกหนึ่งเชื่อว่า การเลือกตั้งเป็นปัญหา ไว้ใจการเลือกตั้งไม่ได้เพราะว่ามีการซื้อสิทธิขายเสียง ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า คนในสังคมหลายส่วนเชื่อว่า คำตอบใหญ่ของการเมืองไทยเรื่องผู้ครองอำนาจรัฐจำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบที่สังคมไทยต้องการเสียทีเดียว ยังมีคนไม่พอใจอีกเป็นจำนวนมาก ถึงแม้จะมีคนมาเลือกตั้งมากมาย แต่คนที่เลือกอาจจะพอใจระบอบนี้ บางพวกอาจจะมาเลือกโดยไม่ได้พอใจระบอบบนี้ก็ได้
 

กลุ่มแนวคิดทั้งสองอย่างนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ ตอนนี้พอเวลามีคนมาถกเถียงกันเรื่องนี้ก็จะมีการถามกันว่า คุณเป็นคนไทยรึเปล่า จุดนี้คือความขัดแย้งของจินตนาการความเป็นชาติไทย พอถึงจุดนี้มันเป็นปัญหาใหญ่มาก  สังคมต้องมาตั้งคำถามกันว่าจะนิยามความเป็นไทยอย่างไร แต่ปัญหาคือเราไปตัดสินคนที่คิดไม่เหมือนเราว่า ไม่ใช่คนไทย ปัญหานี้เองก็จะนำไปสู่อดีตที่เราเคยเผชิญมาเช่น การจับคนที่เห็นต่างเป็นกลุ่มคนชั่วร้าย เป็นปีศาจ เสร็จแล้วก็ใช้ความเกลียดชังมาตัดสิน
 

แต่ในบริบทของมหาวิทยาลัยเวลาที่ใครสักคนเข้ามาถกเถียงกัน ไม่มีใครเขามากล่าวหาว่า เราเป็นปีศาจชั่วร้าย อย่างมากก็บอกกันในแง่ว่า ฉลาดหรือโง่   แต่ไม่มีใครในมหาวิทยาลัยมาบอกว่า เราเป็นปิศาจร้ายต้องกำจัดออกไป มีแต่มาเถียงกันตามหลักการและเหตุผล นี่คือการทำงานของมหาวิทยาลัยต้องเป็นแบบนี้ต่างหาก

 

-ทำไมเวลามีการถกเถียงกัน คนในสังคมบางส่วนจะใช้จินตนาการในการฟาดฟันกันมากกว่าใช้เหตุผลในการถกเถียงกัน มันจะสายไปหรือไม่ถ้าสังคมไทยยังใช้

 

จินตนาการของความเป็นไทยมาถามกันว่า คุณเป็นคนไทยรึเปล่า   ความมั่นคงของสังคมไทยคล้ายกับความพยายามที่จะพ่อแม่จะสร้างบ้านให้ลูก ๆ อยู่ด้วยกันโดยที่รู้ว่าคนในบ้านมีความคิดมีอัตลักษณ์ต่างกัน มีลูกสาว ลูกชายซึ่งก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่งตัวก็ต่างกัน สิ่งที่สนใจก็ต่างกัน แต่จะอยู่ในบ้านนั้นได้ก็ต้องสร้างพื้นที่ให้พวกเขา มีห้องส่วนตัวสำหรับลูกชายและลูกสาวแยกจากกัน แต่ถ้าหัวหน้าครอบครัวไปบังคับพวกเขาต้องอยู่ห้องเดียวกัน ต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น เจ้าบ้านคงบังคับตัวเขาได้ แต่บังคับใจพวกเขาไม่ได้ แล้วใจมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่เขาจะรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านหลังนี้หรือไม่ 
 

นี่คือปัญหาตั้งแต่เมืองหลวงไปจนถึงปัตตานีก็เป็นปัญหาลักษณะนี้ทั้งสิ้น แต่ที่สังคมทำกันอยู่นั้นคือหัวหน้าครอบครัวลูก ๆ ของตัวเองว่า ถ้าไม่พอใจก็ออกไปสร้างบ้านอยู่เป็นของตัวเองสิ แล้วการพูดในลักษณะแบบนี้จะทำให้พวกเขาไม่อยากอยู่ในบ้านหลังอีกต่อไป พวกเขาก็จะทำลายบ้านเพื่อจะได้สร้างหลังใหม่

 

ประเด็นคือ เราจะทำอย่างไรให้คนไม่ทำลายบ้านตัวเอง เราก็ต้องมีพื้นที่ให้พวกเขา เราอยู่ในบ้านเดียวกันมันก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องทะเลาะกัน แต่พอทะเลาะกันแล้วแต่ละคนต้องมีพื้นที่เป็นของตัวเองเพื่อหลีกหนีไปนั่งอยู่คนเดียว ดูทีวีฟังวิทยุ พักใจระงับอารมณ์สักพักหนึ่ง เราต้องสร้างบ้านแบบนี้ บ้านใหญ่ที่มีหลาย ๆ ห้องสำหรับคนที่มีความหลากหลาย แต่ก็ต้องมีห้องรวมเช่น ห้องอาหารมากินข้าวพร้อมกันเป็นมรรยาทตามสมควร  ถ้ามีเวลาทะเลาะกันก็สามารถแยกย้ายไปอยู่ในห้องส่วนตัวของตัวเอง ไปนั่งระบายความในใจเขียนไดอารี่ จดบันทึก แสดงความคิดเห็นของตัวเอง

 

 

-แต่ในแง่หนึ่ง สังคมไทยก็เป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจมานาน การกระจายอำนาจ สร้างพื้นที่ส่วนตัวสำหรับความแตกต่างจะเป็นไปได้อย่างนั้นหรือ
 

รัฐไทยไม่ได้เป็นรัฐรวมศูนย์มานานอย่างที่ใคร ๆ คิด ระยะรวมศูนย์ของไทยมันสั้นมาก ในทางกลับกันรัฐไทยรวมศูนย์มา ร้อยกว่าปีเท่านั้น แล้วพอรวมได้ไม่นานก็เกิดปัญหาอย่างที่เห็นอยู่ในสังคม ตอนนี้การเมืองไทยก็กระจัดกระจายอำนาจกันเต็มไปหมด  ยกตัวอย่างง่าย ๆ มีข่าวว่า ในคุกบางแห่งถึงขนาดที่ผู้คุมนักโทษซึ่งมีอำนาจรวมศูนย์ก็ยังกลัวนักโทษบางคนที่มีฐานอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ  ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐไม่ได้มีอำนาจรวมศูนย์อย่างที่ใครคิด

 

-วิเคราะห์ได้ไหมว่า ถ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังไม่ยอมแสดงบทบาทความเป็น "พื้นที่ปลอดภัย" สังคมจะเผชิญกับอะไร
 

มหาวิทยาลัยมีบทบาทที่จะต้องทำบางสิ่งอยู่แล้ว แต่มหาวิทยาลัยจะเลือกทำบทบาทอะไรนั้นก็ต้องดูว่า การตัดสินใจของมหาวิทยาลัยอยู่บนฐานของอะไร  แต่ในแง่หนึ่งเราพอรู้ว่าปัจจัยอะไรที่จะนำความขัดแย้งไปสู่ความรุนแรง ตรงส่วนนี้มหาวิทยาลัยมีประสบการณ์เป็นอย่างดี สังคมไทยเองก็มีประสบการณ์ พอจะมีความรู้อยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น เวลาความขัดแย้งมันกลายเป็นความรุนแรง เหตุผลประการหนึ่งที่นำไปสู่จุดนั้นก็คือ เราลากความขัดแย้งยาวเกินไป สถาบันการเมืองที่เคยอุ้มชูสังคมมันจึงอ่อนกำลังลง พออ่อนกำลังไปถึงจุดหนึ่งก็ไม่มีอะไรไปคัดค้านความขัดแย้งไว้ได้ สุดท้ายก็นำไปสู่ความรุนแรง
 

สังคมรู้ว่าเมื่อสังคมมีความขัดแย้งทางการเมืองนั้นเวลาถกเถียงกันกับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ต่อสู้กับอำนาจรัฐ  อำนาจทุนหรืออำนาจอะไรก็แล้วแต่นั้น ในแต่ละกลุ่มก็จะมีโทนสามเสียง คือ โทนเสียงกลาง ๆ และโทนเสียงตกขอบรุนแรงทั้งสองฝั่ง เวลาที่ความขัดแย้งจะไปสู่ความรุนแรงในสังคมการเมืองนั้นก็คือ เมื่อเสียงข้างน้อยหรือเสียงรุนแรงตกขอบทั้งสองฝั่งกลายเป็นเสียงที่ดังกว่าเสียงโทนกลาง ๆ  ในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง พอเป็นแบบนั้นก็จะนำไปสู่ความรุนแรง

 

สังคมรู้ต่อไปว่า ในสังคมการเมืองถ้ามีการใส่ยาพิษให้สังคมเยอะ ๆ  สาดโคลนป้ายสีกัน ยาพิษที่เรียกว่า ความเกลียด สังคมก็เตรียมนับวันที่จะเกิดความรุนแรงได้เลยถ้าคนในสังคมยังช่วยกันใส่ยาพิษให้กับอีกฝ่าย สาปแช่ง เห็นว่าอีกฝ่ายไม่ใช่มนุษย์ เป็นปีศาจ ไม่สามารถจะอยู่ร่วมกันได้ เหล่านี้คือ ยาพิษทั้งนั้น 
 

สังคมมีความรู้ มีประสบการณ์ มีหลักวิชาการว่าอะไรที่เป็นปัจจัยจะนำไปสู่ความรุนแรง ด้วยเหตุนี้คนในสังคมถ้าต้องการให้ความขัดแย้งไม่นำไปสู่ความรุนแรง เราก็ต้องป้องกันปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาเกิดขึ้นในสังคม  ไม่มีใครคาดคะเนอนาคตได้แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีหลักการ มีประสบการณ์ มีวิชาความรู้ในตัวมันเองที่สะสมกันมาตามประวัติศาสตร์ทางการเมือง ประชาคมธรรมศาสตร์หลายคนก็พอรู้ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ความขัดแย้งนำไปความรุนแรง เพราะฉะนั้นทำไมมหาวิทยาลัยไม่อาศัยจุดแข็งในส่วนนี้เป็นฐานในการตัดสินว่า มหาวิทยาลัยควรจะทำอย่างไรกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ตัดสินใจเพื่อสังคมไทยเอง ทั้งต่อเพื่ออนาคตทางการเมืองและทั้งต่อการรักษาสถานะของมธ. เอง

ในฐานะสถาบันวิชาการที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมตลอดมา

 

-เมื่อดูบริบท ณ ตอนนี้ของสังคมไทย เหตุใดเสียงโทนกลางจึงเงียบหรือไม่เคยกลายเป็นเสียงกระแสหลักในสังคมไทยเลย
 

บางเรื่องเสียงที่เป็นโทนกลางก็ยังเยอะอยู่  แต่ว่าในเรื่องของความขัดแย้งที่สังคมเผชิญอยู่ ถ้ายิ่งไปปิดกั้น มันก็จะเหลือแต่เสียงสุดโต่งที่ร้องแรกออกมา แล้วก็จะกลายเป็นเสียงกระแสหลักไปในที่สุด

 

-ความขัดแย้งที่สังคมไทยกำลังเผชิญมันกำลังสะท้อนอะไรให้คนในสังคมไทยรู้
 

คำถามนี้ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของอ.ปรีดี พนมยงค์เกี่ยวกับความเป็นอนิจจังของสังคม แต่ผมจะพูดในบริบทว่า ความเป็นจริงก็คือความเปลี่ยนแปลง สังคมไทยกำลังเปลี่ยนด้วยพลังซึ่งต่อสู้ขัดแย้งกันอย่างแรงในหลาย ๆ ที่  ในความเปลี่ยนแปลงมันทำให้เกิดสองอย่างคือ ความกังวล สิ่งนี้ทำให้หลายส่วนในสังคมกังวลว่า สังคมไทยจะเปลี่ยนจริงหรือไม่ แล้วจะเปลี่ยนไปอย่างไร เกิดความไม่ไว้วางใจ แล้วส่วนที่สองที่ร้ายกว่านั้นก็คือ คนจำนวนหนึ่งซึ่งมีกำลังบางอย่างก็อาจจะมีความกลัวสูง แล้วความกลัวที่เป็นอันตรายที่สุดคือ ความกลัวที่นำตัวเองไปสู่จุดที่เชื่อว่า ตัวเองสามารถหยุดเวลาไว้ได้ 

 

 

-สุดท้ายทำอย่างไรให้คนมีกำลัง มีอำนาจทางการเมืองไว้ใจในคนที่เชื่อในความเปลี่ยนแปลง
 

ตอนนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ยาก ความไว้ใจไม่ใช่สิ่งที่อยู่ดี ๆ จะเกิดขึ้นได้ การสร้างความไว้ใจ การเรียกร้องให้คนไว้ใจเหมือนกับการเรียกร้องให้คนก้าวเท้าออกไปผจญภัย ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราไปเที่ยว เราไปในที่ ๆ เราไม่รู้จัก พอเราไปถึงเราต้องไว้ใจหลายสิ่งมากมาย ต้องไว้ใจคนขับแท็กซี่ว่า ไม่โกงมิเตอร์  ไว้ใจโรงแรมว่า ได้ห้องที่จองไว้ ต้องไว้ใจไกด์ว่าจะไม่พาหลงทาง ทั้งหมดนี้คือความไว้ใจ มันจำเป็นในเวลาที่เราจะออกเดินทางไปสู่การผจญภัยครั้งใหม่ ตัวอย่างนี้สะท้อนสังคมไทยขณะนี้อยู่ในช่วงเวลาของทางแพร่งแล้วจะเลือกว่า จะออกไปสู่การผจญภัยครั้งใหม่หรือจะอยู่ที่ห้องเดิม ๆ  แน่นอนการเดินออกไปผจญภัยต้องการความไว้ใจ แต่ต้องรู้ว่าคุณลักษณะอย่างหนึ่งของความไว้ใจคือ มันต้องมีความเสี่ยงก่อน

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น